องค์กรโรคหลอดเลือดสมองโลก (World Stroke Organization: WSO) ได้กำหนดให้ วันที่ 29 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันหลอดเลือดสมองโลก (World Stroke Day) โดยรณรงค์ให้สังเกตอาการโรคหลอดเลือดสมองโดยใช้หลักการ F.A.S.T หากพบว่าใบหน้าอ่อนแรงหรือหน้าเบี้ยว (FACE) แขนอ่อนแรง (ARM) พูดผิดปกติ (SPEECH) ให้นึกถึงเวลา (TIME) ควรนำส่งโรงพยาบาลโดยทันทีจะสามารถช่วยลดโอกาสเสี่ยงในการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้

โรคหลอดเลือดสมองแบ่งเป็น 2 ประเภทตามลักษณะการเกิดคือ โรคหลอดเลือดสมองตีบตันและโรคหลอดเลือดสมองแตก

จากการสำรวจประชากรขององค์กรโรคหลอดเลือดสมองโลกพบว่าในปี 2563 มีผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองกว่า 80 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตประมาณ 5.5 ล้านคน และยังพบผู้ป่วยใหม่ถึง 14.5 ล้านคนต่อปี โดย 1 ใน 4 เป็นผู้ป่วยที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป และร้อยละ 60 เสียชีวิตก่อนวัยอันควร

นอกจากนี้ ยังได้ประมาณการความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในประชากรโลกพบว่า ทุกๆ 4 คน จะป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง 1 คน โดยร้อยละ 80 ของประชากรโลกที่มีความเสี่ยงสามารถป้องกันได้ สำหรับในประเทศไทยโรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคทางระบบประสาทที่พบได้บ่อยและเป็นสาเหตุของความพิการและเสียชีวิตอันดับ 1 ในผู้สูงอายุ

สำหรับประเทศไทย จากรายงานข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี ของกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข พบว่า จำนวนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ตั้งแต่ปี 2556-2560 มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยในปี 2559 พบผู้ป่วย 293,463 รายในปี 2560 พบผู้ป่วย 304,807 ราย และจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองปีละประมาณ 30,000 ราย

ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในการเกิดโรคได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ภาวะโรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น

ศ.พญ.นิจศรี ชาญณรงค์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า สำหรับการรักษาโรคหลอดเลือดสมองในปัจจุบันมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพขึ้น เช่น การรักษาโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน แพทย์จะทำหัตถการสอดใส่สายสวนเข้าไปทางหลอดเลือดแดงผ่านบริเวณขาหนีบจนไปถึงตำแหน่งที่อุดตัน และนำเอาลิ่มเลือดที่ไปอุดตันตามหลอดเลือดออกมา พบว่าผู้ป่วยใช้เวลานอนโรงพยาบาลเพียงไม่กี่วันก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญในการรักษาโรคหลอดเลือดสมองคือ “เวลา” ดังนั้นหากผู้ป่วยหรือคนรอบตัวสามารถนำหลักการที่จะจำได้ง่ายๆ คืออาการที่พบบ่อย ได้แก่ “พูดลำบาก ปากตก ยกไม่ขึ้น” ไปสังเกตอาการของคนรอบตัว ถ้ามีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นทันทีทันใด ให้นึกถึงสโตรค หรือโรคหลอดเลือดสมอง การรีบไปโรงพยาบาลอย่างรวดเร็วก็จะทำให้การรักษาโรคหลอดเลือดสมองมีประสิทธิภาพสูงสุด

“พูดลำบาก ปากตก ยกไม่ขึ้น” ประกอบด้วย 3 อาการที่สำคัญ
พูดลำบาก หมายถึงการพูดไปผิดปกติไป ไม่ว่าจะเป็นลิ้นแข็ง พูดไม่ชัด พูดไม่ออก หรือพูดไม่รู้เรื่อง
ปากตก หมายถึงมุมปากข้างใดข้างหนึ่งตกลง เมื่อให้ยิ้มยิงฟันแล้วพบว่าปากเบี้ยว มุมปากสองข้างไม่เท่ากัน ยกไม่ขึ้น หมายถึงแขนขาข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง ยกไม่ขึ้น

อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นเฉียบพลัน ดังนั้นหากผู้ป่วยหรือคนรอบข้างสามารถสังเกตุอาการเหล่านี้ได้เร็วเท่าไร จะสามารถช่วยลดการเสียชีวิตและความพิการได้

“สำหรับแนวทางป้องกัน สามารถเริ่มทำได้เองที่บ้าน ได้แก่ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม หวานจัด อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง ควบคุมระดับความดันโลหิต ระดับไขมันและระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดเหล้าบุหรี่ ลดน้ำหนัก ตรวจสุขภาพประจำปี สำหรับผู้ป่วยควรรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด”ศ.พญ. นิจศรี กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน