วันนี้ (6 ธันวาคม 2565) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จัดเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ The High Level Policy Dialogues ภายใต้โครงการเมืองอาเซียนสีเขียวอัจฉริยะ (Smart Green ASEAN Cities) โดยมีนายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม Mr. Daniel HACHEZ Minister Counsellor, Head of Cooperation, Delegation of the European Union to Thailand.ผู้แทนจากสหภาพยุโรป Mr. David Jackson Director Local Transformative Finance UNCDF ผู้แทนจาก UN Capital Development Fund (UNCDF) ร่วมกล่าวเปิดการประชุมงานดังกล่าว เพื่อเป็นเวทีเสริมสร้างขีดความสามารถของเมืองในภูมิภาคอาเซียน ในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และถ่ายทอดองค์ความรู้ นวัตกรรมด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมเมืองยั่งยืน พร้อมสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกัน เป็นพลังและกลไกที่สำคัญให้ภูมิภาคอาเซียนเติบโตได้อย่างมีคุณภาพและยั่งยืน

นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้ความสำคัญกับพันธกิจในการบูรณาการและสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน ทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศ พร้อมทั้งการพัฒนาเครื่องมือ กลไก และเทคโนโลยีดิจิทัลในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ซึ่งประเทศไทยได้ดำเนินงานความร่วมมือทั้งทวิภาคีและพหุภาคีทั้งในระดับอนุภูมิภาค ภูมิภาคอาเซียนและระดับโลกในด้านสิ่งแวดล้อมเมือง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการสารเคมีและของเสีย ความหลากหลายทางชีวภาพ ป่าไม้ ทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สิ่งแวดล้อมศึกษา การผลิตและการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมมุ่งมั่นผลักดันให้การพัฒนาบรรลุเป้าหมาย

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้รับมอบหมายจากอาเซียน ให้ทำหน้าที่หน่วยงานประสานงานกลาง (National Focal Point) คณะทำงานอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมเมืองที่ยั่งยืน (ASEAN Working Group on Environmentally Sustainable City) ประเทศไทยมุ่งเป้ายกระดับการจัดการสิ่งแวดล้อมเมืองตามมาตรฐาน และความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2050 โดยส่งเสริมศักยภาพการจัดการสิ่งแวดล้อมเมืองยั่งยืนในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศไทย 1 จังหวัด 1 เมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio – Circular Green Economy: BCG) ส่งเสริมความร่วมมือหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องด้านวิถีสีเขียว ด้วยการสนับสนุนทั้งทางด้านวิชาการ เทคโนโลยีดิจิทัลและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในประเทศ และระดับนานาชาติ

นายสมศักดิ์ สรรพโกศลกุล อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สำหรับโครงการเมืองสีเขียวอาเซียน (Smart Green ASEAN Cities: SGAC) เป็นโครงการที่สนับสนุนการดำเนินการและความสำเร็จของเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสนับสนุนประเทศสมาชิกอาเซียน (AMS) ในระดับเมือง ระดับชาติ และระดับภูมิภาค เพื่อจัดการกับสภาพแวดล้อมในเมืองและประเด็นธรรมาภิบาลที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มุ่งเน้นแนวทางการแก้ไขที่เป็นแบบอัจฉริยะที่ใช้งานด้วยระบบดิจิทัลและการใช้เทคโนโลยี ตลอดจนความร่วมมือระหว่างเมืองต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน ระหว่างเมืองในอาเซียนและยุโรป และการแบ่งปันประสบการณ์ในยุโรป

สำหรับเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ The High Level Policy Dialogue ภายใต้โครงการเมืองอาเซียน สีเขียวอัจฉริยะ (Smart Green ASEAN Cities) ที่กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมจัดขึ้นในครั้งนี้ เป็นการประชุมในรูปแบบผสมผสานระหว่างการประชุมทางไกล (Video Conference) และการประชุม ณ โรงแรมพลาซ่า แอทธินี (The Athenee Hotel) กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ประมาณ 50 คน ประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานประสานงานกลาง (National Focal Point) คณะทำงานอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมเมืองที่ยั่งยืน (AWGESC) จากประเทศสมาชิกอาเซียน สำนักเลขาธิการอาเซียน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจากประเทศสมาชิกอาเซียนที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 8 ประเทศสมาชิกอาเซียน กล่าวคือ ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สหพันธรัฐมาเลเซีย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สหภาพยุโรป หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย สถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัย รวมทั้งหน่วยงานแหล่งทุน/ผู้ลงทุน โดยหวังว่าเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้จะเสริมสร้างขีดความสามารถของเมือง ในภูมิภาคอาเซียน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และถ่ายทอดองค์ความรู้ นวัตกรรมด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมเมืองยั่งยืน สร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกัน รวมทั้งการชี้แนะเชื่อมโยงสู่การสนับสนุนของภาคการเงินและเอกชน ซึ่งเป็นพลังและกลไกที่สำคัญอย่างยิ่งในการสนับสนุนให้ภูมิภาคอาเซียนเติบโตได้อย่างมีคุณภาพและยั่งยืน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย พร้อมช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชากร รวมทั้งมีแบบอย่างที่ดีในการพัฒนาเมืองอาเซียนสีเขียวอัจฉริยะ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเมือง มีความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเพื่อการขยายผลในอนาคตต่อไป นายสมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน