วัคซีน HPV คืออะไร?
วัคซีน HPV คือ วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ทำหน้าที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) ตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก และยังลดโอกาสการติดเชื้อไวรัสจากโรคอื่น ๆ ปัจจุบันโรงพยาบาลและสถานคลินิกชั้นนำ มีบริการฉีดวัคซีน HPV เพื่อป้องกันเชื้อไวรัส HPV หลายสายพันธุ์ และมีราคาให้บริการที่แตกต่างกันไป
ทำความรู้จัก เชื้อไวรัส HPV
เชื้อไวรัส HPV มีชื่อเรียกเต็มว่า Human Papillomavirus Virus ปัจจุบันมีมากกว่า 100 สายพันธุ์ และแพร่กระจายได้ง่ายผ่านการสัมผัสเชื้อโดยตรง อย่างการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งเป็นต้นเหตุทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้ นอกจากนี้ ไวรัส HPV บางสายพันธ์ุ ยังก่อให้เกิดโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ ได้อีกด้วย
เชื้อ HPV พบได้ที่ไหนบ้าง ?
โดยปกติแล้วเชื้อ HPV มักพบได้ในบริเวณอับชื้น เช่น ชักโครก ฝารองนั่ง ก๊อกน้ำจากห้องน้ำสาธารณะ ซึ่งเป็นแหล่งที่เชื้อไวรัสเติบโตได้ง่าย และการสัมผัสเชื้อโดยตรงจากบริเวณเหล่านี้ ก็มีสิทธิ์ติดเชื้อได้ แต่ไม่สูงเท่ากับการมีเพศสัมพันธ์ และสาเหตุที่พบมักเกิดจาก
- เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
- มีแผลตามผิวหนังและไปสัมผัสเชื้อโดยตรง
- มีประวัติติดบุหรี่ หรือดมควันบุหรี่บ่อย ๆ
- ใช้ยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน
วัคซีน HPV มีกี่สายพันธุ์ ป้องกันโรคอะไรบ้าง
สำหรับวัคซีนป้องกันไวรัส HPV ปัจจุบันมีให้เลือกฉีดทั้งหมด 3 ชนิด โดยแบ่งโปรแกรมฉีดได้ดังนี้
- วัคซีน HPV ชนิด 2 สายพันธุ์ (Cervarix)
สามารถป้องกันเชื้อไวรัส HPV สายพันธุ์ 16,18 เพื่อป้องกันโรคหูดหงอนไก่ มะเร็งในช่องปากและคอ และมะเร็งทวารหนัก
- วัคซีน HPV ชนิด 4 สายพันธุ์ (Gardasil)
สามารถป้องกันเชื้อไวรัส HPV สายพันธุ์ 6,11,16,18 ช่วยสร้างภูมิป้องกันมะเร็งปากมดลูก และโรคหูดหงอนไก่
- วัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ (Gardasil 9 )
สามารถป้องกันเชื้อไวรัส HPV สายพันธุ์ 6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52, 58 เพื่อสร้างภูมิต้านทานป้องกัน มะเร็งปากมดลูก หูดหงอนไก่ ครอบคลุมไปถึงมะเร็งที่เจาะจงในพื้นที่ใกล้เคียงอีกหลายชนิด เช่น มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งช่องคลอด มะเร็งองคชาต มะเร็งทวารหนัก และมะเร็งช่องปากและลำคอ
วัคซีน HPV เหมาะกับใคร
จริงๆ แล้ว เหมาะกับทั้งผู้ชายและผู้หญิง แต่กลุ่มคนที่สามารถรับวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV จะแบ่งเป็นช่วงอายุดังนี้
- เด็ก-วัยรุ่น อายุ 9 – 14 ปี
จะเป็นการฉีดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันไวรัสก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก
- ผู้หญิง-ผู้ชาย อายุ 9-26 ปี
สามารถฉีดเพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูก มะเร็งองคชาต หูด และมะเร็งทวารหนัก
- กลุ่มคนที่เข้าข่ายเสี่ยงติดเชื้อ
ได้แก่ มีคู่นอนหลายคน มีประวัติเคยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองใน เริม (Herpes simplex) หูดหงอนไก่ และซิฟิลิส หรือกลุ่มผู้หญิง ที่เคยมีประวัติเข้ารับการรักษาความผิดปกติของปากมดลูก เป็นต้น
กลุ่มคนไม่ควรฉีดวัคซีน HPV
สำหรับกลุ่มคนที่ควรหลีกเลี่ยงการเข้ารับวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV ได้แก่
- ผู้ที่มีประวัติแพ้วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส หรือเคยมีอาการแพ้หลังฉีดวัคซีน HPV เข็มแรกไปแล้ว
- คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ และได้รับการอนุญาตจากแพทย์แบบ Case by Case
- กลุ่มคนที่อยู่ในช่วงภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือกำลังรักษาโรคบางชนิด
วิธีการเตรียมตัวให้พร้อม ก่อนฉีดวัคซีน HPV
- ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบถึงอาการป่วย และโรคที่กำลังรักษา ประวัติการแพ้ยา ตลอดจนยาที่กำลังกินอยู่
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หรืออย่างน้อย 8 ชั่วโมง
- ลางานล่วงหน้า หรือจัดแจงเวลาพักอย่างน้อย 1-2 วัน หลังฉีดวัคซีน HPV
- หากมีอาการป่วย หรือมีไข้ แนะนำให้เลื่อนการฉีดวัคซีนไปก่อน
ขั้นตอนการรับวัคซีน HPV
สำหรับ HPV vaccine จะฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular Injection or IM) บริเวณต้นแขน หรือ สะโพก ส่วนระยะเวลาในการรับวัคซีน HPV จำเป็นต้องรับตามระยะเวลาอย่างต่อเนื่อง หรือตามคำแนะนำของแพทย์ดังนี้
- ฉีดเข็มที่ 1 ในวันที่กำหนดไว้
- เข็มที่ 2 ฉีดห่างจากเข็มแรก 1 – 2 เดือน
- เข็มที่ 3 ฉีดหลังเข็มแรก 6 เดือน
ข้อปฏิบัติหลังฉีดวัคซีน HPV
- ควรนั่งสังเกตอาการหลังฉีด อย่างน้อย 30 นาที
- หากมีอาการข้างเคียงที่พบได้ปกติ เช่น อาการปวด รอยแดงจากเข็ม สามารถเดินทางออกจากโรงพยาบาล หรือคลินิก เพราะเป็นอาการไม่รุนแรง และสามารถหายได้เอง
- แนะนำให้ป้องกันก่อนมีเพศสัมพันธ์ด้วยการสวมใส่ถุงยาง เพราะแม้ว่าจะฉีดวัคซีนไปแล้ว แต่ก็ควรป้องกันโรคอื่น ๆ หรือการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมร่วมด้วย
- จัดตารางเวลา และไปตามกำหนดการฉีดวัคซีนเข็มถัดไปตามที่คุณหมอนัดหมาย
วัคซีน HPV ฉีดที่ไหนดี
แนะนำการเลือกสถานพยาบาล หรือคลินิกที่ฉีดวัคซีน HPV ได้อย่างปลอดภัย จำเป็นต้องดูจากสิ่งเหล่านี้
- สถานพยาบาล หรือคลินิก ต้องเปิดอย่างถูกต้องและมีมาตรฐานด้านสุขอนามัยตามกฎหมายทุกอย่าง
- มีคุณหมอ และผู้เชี่ยวชาญด้านการฉีดวัคซีน คอยให้คำปรึกษา และลงมือฉีดอย่างถูกต้อง
- มีการดูแล และติดตามอาการคนไข้หลังฉีดพร้อมทำหน้าที่นัดหมายกำหนดการฉีดวัคซีนครั้งต่อไปให้ครบ ไม่มีการทิ้งงานกลางคัน
- เลือกสถานพยาบาล หรือคลินิกที่มีรีวิวเป็นไปในทิศทางที่ดีกว่าแย่
ฉีดวัคซีน HPV ราคาเท่าไหร่
ค่าบริการฉีดวัคซีน HPV แต่ละสถานพยาบาล มีราคาไม่เท่ากัน ซึ่งขึ้นอยู่กับงานเซอร์วิสของที่นั้นๆ ด้วย แต่โดยปกติ จะมีราคาประมาณนี้
- ฉีดวัคซีน HPV 2 เข็ม สำหรับเด็กอายุ 9-14 ปี
ราคาประมาณ 6,000 – 10,000 บาท
- ฉีดวัคซีน HPV 3 เข็ม สำหรับอายุ 15 ปีขึ้นไป
- ราคาประมาณ 7,000 – 20,000 บาท
ซึ่งปัจจุบันการชำระค่าบริการมีทั้งแบบสด และแบบผ่อน เพื่อความสะดวกสบาย คนไข้สามารถเลือกโปรแกรมการฉีดและวิธีชำระได้อย่างเหมาะสม
คำถามที่พบบ่อย เกี่ยวกับ ฉีดวัคซีน HPV
ต้องตรวจหาเชื้อ HPV ก่อนฉีดวัคซีนไหม?
ตอบ : ไม่จำเป็น เนื่องจากแพทย์จะใช้วิธีซักประวัติคนไข้ ถึงอายุ โรคที่เคยเป็น ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต ไปจนถึงรสนิยมของการมีเพศสัมพันธ์
เคยมีเพศสัมพันธ์ หรือแต่งงานแล้ว ฉีดวัคซีนได้ไหม?
ตอบ : สามารถฉีดได้ แต่ประโยชน์จะไม่มากเท่ากับผู้ที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน เพราะวัคซีนจะป้องกันการติดเชื้อใหม่ มากกว่าผู้ที่มีการติดเชื้อไปแล้ว แต่ถึงอย่างนั้นยังคงมีประโยชน์ เนื่องจากวัคซีน HPV สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อจากสายพันธุ์อื่นๆ ที่คนไข้ยังไม่เคยติดเชื้อมาก่อนด้วย
วัยทอง สามารถฉีดวัคซีน HPV ได้ไหม?
ตอบ : กลุ่มวัยทองหรืออายุราว ๆ 50 ปีเป็นต้นไป สามารถฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ แต่จะมีประสิทธิผลไม่เท่ากับคนวัยเด็ก และกลุ่มวัยรุ่น
ผู้ชาย ฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งอะไรได้บ้าง?
ตอบ : วัคซีน HPV ในผู้ชาย สามารถป้องกันมะเร็งองคชาต มะเร็งทวารหนัก และหูดที่อวัยวะเพศ
ผลลัพธ์หลังฉีดวัคซีน HPV อยู่กับเราได้นานแค่ไหน?
ตอบ : เมื่อฉีดครบโปรแกรม สามารถป้องกันโรคได้นานถึง 10 ปี โดยไม่จำเป็นต้องมีการกระตุ้นซ้ำ