ศาลอาญาตัดสินจำคุก 4,355 ปี ซินแสโชกุน กับพวก อ่วมหนักคดีตุ๋นเที่ยวญี่ปุ่นแล้วลอยแพเหยื่อ 871 คน กลางสนามบินดื้อๆ สั่งชดใช้เหยื่อทุกรายรวมกว่า 51 ล้าน ทั้งปรับบริษัท 435 ล้าน ตามพ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนและร่วมกันจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ควบคุมฉลากโดยแสดงฉลากไม่ถูกต้อง

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 12 ก.ย. ที่ห้องพิจารณาคดี 906 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.2176/2560 ที่พนักงานอัยการคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัท เวลท์เอเวอร์ จำกัด, น.ส.พสิษฐ์ อริญชย์ลาภิศ หรือ ซินแสโชกุน อายุ 31 ปี กรรมการผู้จัดการบริษัท, นางมณฑญาณ์ นิรันดร หรือ จันทร์ฉาย นาคฤทธิ์ อายุ 56 ปี มารดาของซินแสโชกุน, นายก้องศรัณย์ แสงประภา อายุ 23 ปี ลูกพี่ลูกน้องของซินแสโชกุน, น.ส.ทัศย์ดาว สมัครกสิกรรณ์ อายุ 36 ปี เลขานุการและคนรักของซินแสโชกุน, นางประนอม พลานุสนธิ์ อายุ 41 ปี รองประธานบริษัท, นางณิชมน แสงประภา อายุ 65 ปี ป้าของซินแสโชกุน และเป็นมารดาของนายก้องศรัณย์, นางพารินธรญ์ หงส์หิรัญ ดัคกอร์ อายุ 36 ปี ผู้ดูแลการเงินและผู้ช่วยการโฆษณาของบริษัท, น.ส.สุดารัตน์ อเนกนวล อายุ 26 ปี ผู้ดูแลการขาย และ นายโกวิท ช่วยสัตว์ อายุ 31 ปี คนรักของน.ส.สุดารัตน์ เป็นจำเลยที่ 1-10 ในความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ที่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343 พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 3, 4, 12

และฟ้องจำเลยที่ 2-10 ในความผิดฐานร่วมกันนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลนั้นเป็นเท็จน่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการ กระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3, 14 (1) และเป็นซ่องโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210

ขณะที่ บจก.เวลท์เอเวอร์ และน.ส.พสิษฐ์ จำเลยที่ 1-2 ยังถูกฟ้องอีกในข้อหาร่วมกันจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ควบคุมฉลากโดยแสดงฉลากไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 4, 6 (10), 51 และยังฟ้องน.ส.พสิษฐ์ จำเลยที่ 2 ในความผิดฐานซื้อหรือรับไว้ของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงอากรฯ ที่เป็นความผิดตามพ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ ด้วย

โดยท้ายฟ้องอัยการยังขอให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 51 ล้านบาทเศษ คืนให้กับผู้เสียหาย 871 คน พร้อมดอกเบี้ยที่ผิดนัดชำระร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องคดีวันที่ 6 ก.ค.2560 หลังจากที่จำเลยชักชวนให้ผู้เสียหาย เข้าเป็นสมาชิกของบริษัทผลิตภัณฑ์อาหารเสริมระหว่างเดือนม.ค.-เม.ย.2560 โดยอ้างว่าจะมีสิทธิได้เดินทางไปท่องเที่ยวประเทศแถบเอเชีย อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง แต่มีผู้เสียหายหลายร้อยรายไม่ได้เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นตามที่จำเลยโฆษณา เนื่องจากไม่มีสายการบินเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นตามวันเวลาที่จำเลยกล่าวอ้าง จึงติดค้างอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ

ศาลพิพากษาว่า การกระทำของ บจก.เวลท์เอเวอร์ จำเลยที่ 1, น.ส.พสิษฐ์ จำเลยที่ 2, น.ส.ทัศย์ดาว จำเลยที่ 5 และนางพารินธรญ์ จำเลยที่ 8 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตาม พ.ร.ก.กู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 5, 12 ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) และพ.ร.บ.อาหาร มาตรา 6 เฉพาะจำเลยที่ 1-2 ให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นความผิดไป ซึ่งการกระทำฐานฉ้อโกงและการนำเข้าข้อมูลเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์นั้น ให้ลงโทษบทหนักสุดตามพ.ร.ก.กู้ยืมฯ จำคุกจำเลยที่ 2, 5, 8 คนละ 871 กระทง กระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 4,355 ปี

ให้ปรับบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 435,500,000 บาท และให้ปรับจำเลยที่ 1-2 รายละ 20,000 บาท ตามความผิดพ.ร.บ.อาหาร จึงรวมโทษปรับบริษัทจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น 435,520,000 บาท ส่วนโทษจำคุกจำเลยที่ 2, 5, 8 เมื่อรวมโทษทุกกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 (2) แล้ว ให้จำคุกจำเลยได้สูงสุดคนละ 20 ปี

ทั้งนี้ ศาลยังพิพากษาให้จำเลยที่ 1, 2, 5, 8 ร่วมกันชดใช้เงินแก่ผู้เสียหาย 871 ราย มูลค่ากว่า 51 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้อง 6 ก.ค. 2560 เป็นต้นไป ริบผลิตภัณฑ์อาหารเสริมของกลางจากรถยนต์ของจำเลยที่ 2 และจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับกุมจำเลยที่ 2, 5, 8 ร้อยละ 25 ของค่าปรับจำเลยที่ 1 เมื่อคดีถึงที่สุด ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3, 4, 6, 7, 9, 10

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน