บันทึกโบราณ ชาวกรุงศรีฯ พบชาว เซนติเนล ตำนานมนุษย์เปลือยกินคน-ระดมธนูยิงใส่

จากกรณี นายจอห์น อัลเลน เชา มิชชันนารี ชาวอเมริกันอายุ 27 ปี ถูกชนเผ่าเซนติเนลยิงธนูสังหารเสียชีวิตตั้งแต่ 17 พ.ย. หลังนายเชาลักลอบพายเรือเข้าไปยังเกาะนอร์ทเซนติเนล ในหมู่เกาะอันดามัน ซึ่งเป็นพื้นที่หวงห้ามของทางการอินเดีย ทำให้ชื่อของชนเผ่าเซนติเนล และเกาะนอร์ทเซนติเนล อยู่ในความสนใจของผู้คนทั่วโลกอีกครั้ง

สำหรับ ชาวเซนติเนล ชนพื้นเมืองบนเกาะนอร์ทเซนติเนลที่ยึดมั่นกับจุดยืนเรื่องสังคมปิด ไม่ติดต่อกับโลกภายนอกถือเป็นอีกหนึ่งชนพื้นเมืองไม่กี่แห่งในโลกที่ยังคงปิดตัวเองจากโลกภายนอกมาจนถึงปัจจุบันในยุคที่โลกไร้พรมแดนจากเทคโนโลยีและวิทยาการต่างๆ ในศตวรรษที่ 21 เชื่อว่าพวกเขารักษาวิถีชีวิตแบบนี้มายาวนานกว่า 30,000 ปี บางแหล่งเชื่อว่าอาจมากกว่า 50,000 ปี

ข้อมูลทางประชากรบนเกาะยังไม่แน่ชัด แต่แหล่งข้อมูลส่วนใหญ่คาดคะเนว่าจำนวนชนพื้นเมืองที่อาศัยบนเกาะน่าจะมีอยู่ระหว่าง 50-150 ราย ข้อมูลจากการสำรวจ (จากระยะปลอดภัย) เมื่อปี 2011 พบชนพื้นเมืองที่อยู่ในวิสัยทัศน์ 15 ราย คาดว่าจำนวนประชากรน่าจะเริ่มลดลง

สำหรับการใช้ชีวิต เชื่อว่าประทังชีวิตด้วยการล่าหมูป่า และบริโภคอาหารทะเลอย่างหอยลาย ผลไม้ และน้ำผึ้ง รายงานข่าวจากเดลิเมล์ อ้างว่า ชนพื้นเมืองกลุ่มนี้มีกิจกรรมทางเพศบนชายหาดอย่างเปิดเผย และแน่นอนว่าพวกเขาปฏิเสธการต้อนรับแขกส่วนใหญ่ และมักขับไล่อะไรก็ตามที่มีท่าที “รุกราน” ด้วยลูกศรอาบยาพิษ หรืออาวุธอย่างมีดขนาดใหญ่

เป็นที่รู้กันดีว่าชนพื้นเมืองกลุ่มนี้ใช้วิธีรุนแรงตอบโต้กับสิ่งต่างๆ จากภายนอก ผู้ที่พยายามเข้าไปถ่ายทำสารคดีเมื่อปี 2517 ถูกยิงธนูใส่ขา และครั้งก่อนหน้าเหตุการณ์ของจอห์น คือเมื่อทางการอินเดียใช้เฮลิคอปเตอร์บินรอบหมู่เกาะเพื่อสำรวจผลกระทบหลังสึนามิเมื่อปี 2547 ก็สามารถบันทึกภาพชนพื้นเมืองเล็งธนูมาที่เฮลิคอปเตอร์

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ชาวเน็ตยังพูดถึงเกาะนอร์ทเซนติเนล ว่าคนไทยได้บันทึกถึงการมีอยู่ของเกาะแถบนี้มานานแล้ว ในชื่อ เกาะนาควารี

ข้อมูลจากมติชนออนไลน์ ระบุว่า ในสมุดภาพไตรภูมิทำขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา, กรุงธนบุรี, และยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เขียนแผนที่โบราณระบุเมืองท่าชายฝั่งจนถึงลังกา ต้องมีชื่อและภาพ “นาควารี เกาะคนเปลือย” ทุกฉบับ แสดงว่าเป็นสถานที่สำคัญระหว่างทางไปอินเดีย-ลังกา และเป็นที่รู้จักกว้างขวางในหมู่นักเดินเรือครั้งนั้น

สมัยปลายกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ มีคณะสงฆ์จากราชอาณาจักรสยามเดินทางไปประดิษฐานสยามวงศ์ในลังกา เมื่อ พ.ศ. 2298 ต้องไปทางเรืออ้อมแหลมมลายูผ่านเมืองมะละกา มีบันทึกอยู่ในหนังสือ “เรื่องประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีป” (พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ว่าต้องผ่านเกาะอันดามันกับเกาะนาควารีหรือนิโคบาร์ แล้วเล่าเรื่องเกาะนาควารีไว้ด้วยว่า

“ครั้นถึงตรงปากถ้ำมะริดแล้วบ่ายหน้าสำเภาไปข้างตะวันออก แล่นหลีกเกาะอันทมันไป วัน 1 กับคืน 1 ถึงเกาะนาควารี…” “ในเกาะนั้นมีคนอยู่เป็นอันมาก แต่ว่าหามีข้าวกิน หามีผ้านุ่งห่มไม่ ผู้หญิงนั้นนุ่งเปลือกไม้แต่พอปิดที่อายหน่อยหนึ่ง ผู้ชายนั้นเอาเชือกคาดเอวแล้วเอาผ้าเตี่ยวเท่าฝ่ามือห่อที่ความอายไว้”

จากเกาะนาควารี สำเภากำปั่นแล่นไป 7 วัน 7 คืนก็มาถึง “ถนนพระราม” ซึ่งเป็นแนวหินเชื่อมระหว่างอินเดียใต้ (ทมิฬ) กับลังกา (สิงหล)

ครั้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์แผ่นดิน ร.2 ก็ส่งพระสงฆ์ไปลังกาอีกเมื่อ 2357 ให้พระสงฆ์อาศัยเรือค้าช้างของพ่อค้าลงเรือที่ควนธานี เมืองตรัง ผ่านเกาะยาวหน้าเกาะถลาง แล้วไปเกาะนาควารี ใช้เวลา 6 วัน มีบันทึกดังนี้

“แลเกาะนาควารีย์นั้น ผู้คนอยู่เป็นอันมาก คนเหล่านั้นไม่กินข้าว กินแต่เผือกมันแลหมากพร้าว ครั้นเห็นเรือเข้าไปใกล้เกาะแล้ว ก็เอาเผือกมันหมากพร้าวกล้วยอ้อยลงมาแลกยา”

บันทึกของพระสงฆ์ไปลังกายังบอกอีกว่า “แลเกาะเล็กน้อยมีอยู่ใกล้เคียงเกาะนาควารีย์ที่แลไปเห็นนั้น จะนับประมาณมิได้” และนับเวลาตั้งแต่ออกจากเมืองตรัง 18 วัน ก็ถึงเมืองลังกา แล้วบันทึกถึงคำบอกเล่าเกี่ยวกับคนบนหมู่เกาะอันดามันว่า

“คนในเกาะนั้นกินคน ถ้าแลเรือซัดเข้าไปเถิงที่นั้นแล้ว มันช่วยกันไล่ยิงด้วยหน้าไม้ จับตัวได้เชือดเนื้อกินเป็นอาหาร อันนี้เป็นคำบอกเล่าหลายปากแล้ว ก็เห็นจะมีจริง แต่มิได้เห็นด้วยจักษุ”

ที่มา ศิลปวัฒนธรรม และ มติชนออนไลน์

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน