ตร.น้อมรับปฏิรูปองค์กร โอนไปอยู่”ยธ.” ทีมโฆษกตร.ยันตำรวจน้อมรับ ขอให้เอาประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็ทำหน้าที่ตำรวจตามกฎหมาย ไม่หวั่นงานทับซ้อน ดีเอสไอ เหตุอำนาจสอบสวนต่างกัน มั่นใจไม่มีกระแสต่อต้านแน่นอน โต้เป็นแนวทางล็อกสเป๊กผบ.ตร.ที่ต้องผ่านงานสอบสวน 2 ปี 70 สำนวน

เมื่อวันที่ 19 พ.ค. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ต.ทรงพล วัธนะชัย รองโฆษกตร. กล่าวถึงกรณีคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ เพื่อศึกษาแผนการปฏิรูปกิจการตำรวจ ในคณะกรรมการประสานงานระหว่างสนช. และสปท. เสนอรายงานการปฏิรูปตำรวจ โดยให้ตำรวจไปอยู่สังกัดกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) พร้อมกำหนดสเป๊กผบ.ตร.ต้องผ่านงานสอบสวนไม่น้อยกว่า 2 ปี และร่วมรับผิดชอบสอบสวนไม่น้อยกว่า 70 คดี อีกทั้งเสนอปรับค่าตอบแทนให้สูงขึ้น เพราะถือเป็นตำแหน่งเสี่ยงว่า เรื่องนี้เป็นแนวคิดที่ผ่านการศึกษามาแล้วว่าตำรวจในอนาคตควรเป็นแบบใด ทั้งนี้เราในฐานะผู้พิทักษ์สันติราษฎร์และตำรวจก็พร้อมเสมอ เมื่อคณะรัฐบาลเห็นว่าจะให้เราปฏิบัติหน้าที่ในรูปแบบใด เราก็ยังคงเป็นผู้รักษากฎหมายเช่นเดิม รูปแบบไหนก็ยินดีน้อมรับหมด ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว เพราะอำนาจหน้าที่ตำรวจก็ยังเป็นเช่นเดิมตามที่กฎหมายกำหนด แม้ยธ.จะมีกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไออยู่ แต่อำนาจการสอบสวนแตกต่างกัน

เมื่อถามว่าการไปสังกัดยธ. ข้อดีหรือข้อเสียมากกว่ากัน พล.ต.ต.ทรงพลกล่าวว่า เอาประชาชนเป็นตัวตั้งดีกว่า ส่วนจะระบุว่า เป็นแนวคิดที่ดีหรือไม่ต้องขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชา เราทำอยู่แบบทุกวันนี้ก็ว่าดี แต่ในเมื่อผู้บังคับบัญชาเห็นว่าควรปรับ ตำรวจก็รับได้หมด มั่นใจว่าไม่มีแรงต้าน ก็ไม่เห็นมีใครออก มาต้าน

พล.ต.ต.ทรงพลกล่าวอีกว่า ที่ตนมาพูดก็ในฐานะรองโฆษกตร. ไม่ใช่ความเห็นส่วนตัว แต่ในฐานะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อผู้บริหารเห็นควรอย่างไรเราก็ต้องดำเนินการ โดยเชื่อว่าไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนประชาชนก็ได้ประโยชน์อยู่แล้ว แต่เมื่อมีการพิจารณาแล้วว่า วันนี้ตำรวจควรขึ้นกับยธ.ก็ถือเป็นนโยบายที่ต้องปฏิบัติตาม และตนไม่ขอออกความเห็นในประเด็นแนวคิดที่ให้กลับไปสังกัดกระทรวงอีกครั้ง หลังจากเคยอยู่สังกัดกระทรวงมหาดไทย ออกมาเป็นหน่วยขึ้นตรงสำนักนายกรัฐมนตรี แล้วจะกลับไปสังกัดยธ.อีก

เมื่อถามว่าเป็นเรื่องศักดิ์ศรีองค์กรหรือไม่ เหตุใดตำรวจจึงเป็นหน่วยที่ถูกซัดไปซัดมา พล.ต.ต.ทรงพลกล่าวว่า ไม่คิดอย่างนั้น เพราะเอาประชาชนเป็นที่ตั้งและแนวคิดนี้มาจากไหน กลุ่มอดีตข้าราชการตำรวจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่ หรือเป็นรูปแบบของประเทศใดหรือไม่ ตนไม่ทราบ ต้องไปถามผู้เสนอแนวคิด ซึ่งแนวคิดนี้ก็มาจากแนวคิดที่คณะปฏิรูปของตร.เสนอไปด้วย แต่ไม่แน่ใจว่าประเด็นการไปสังกัดยธ.เป็นแนวคิดที่ชุด ปฏิรูปของตร.เสนอไปหรือไม่ ย้ำว่าเมื่อนโยบายเป็นอย่างไรเราต้องทำอย่างนั้น ตำรวจอยู่ที่ไหนก็ยังเป็นตำรวจ และไม่ขอย้อนถึงแนวคิดในอดีต ขอให้พูดตรงนี้ว่า ผู้บริหารเห็นควร เหมาะสมให้ตำรวจอยู่ตรงไหนก็ต้องรับตามนั้น

พล.ต.ต.ทรงพลกล่าวด้วยว่า ส่วนการ กำหนดให้ผบ.ตร.ต้องผ่านการทำสำนวนคดีมาก่อน 2 ปี 70 สำนวน ก็เป็นหลักการ ต้องถามว่าถ้ามีประสบการณ์รอบรู้ก็ดีหรือไม่ ถ้าดีก็ดี อย่าไปคิดว่ามาจากสมมติฐานว่าผบ.ตร.ที่ผ่านมาไม่มีประสบการณ์การสอบสวน และเชื่อว่านี่ไม่ใช่การล็อกสเป๊กผบ.ตร.ในอนาคต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน