คลัง แจงตัดสิทธิ์ เยียวยา 5,000 บาท แล้ว 12 ล้านคน อีก 6 ล้านคนลุ้นอุทธรณ์ ส่งกำนันผู้ใหญ่บ้านเข้าตรวจสอบข้อมูล หากถูกต้องจริงอนุมัติเงินให้โดยเร็วที่สุด

วันที่ 15 เม.ย. นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความคืบหน้ามาตรการจ่ายเงิน เยียวยา 5,000 บาทว่า มีประชาชนที่ลงทะเบียนผ่าน www.เราไม่ทิ้งกัน.com แล้ว กว่า 27 ล้านคน โดยขณะนี้ทยอยจ่ายเงินให้ประชาชนที่ผ่านเกณฑ์แล้ว 3 ล้านคนเศษ หลังจากนี้กระทรวงการคลังจะทยอยจ่ายเงินให้ผู้ที่ผ่านเกณฑ์อย่างต่อเนื่องทุกวัน

นอกจากนี้มีประชาชนประมาณ 12 ล้านคนที่ถูกตัดสิทธิ์ เพราะไม่เข้าข่ายมาตรการ ขณะที่มีประชาชนที่อยู่ระหว่างขอข้อมูลเพิ่มเติมอีกประมาณ 6 ล้านคนเศษ โดยส่วนนี้มีการส่งข้อมูลเพิ่มเติมเข้ามาแล้วประมาณ 1.9 ล้านคน ยังเหลืออีกประมาณ 4 ล้านคนเศษที่ยังไม่แจ้งข้อมูลเพิ่มเติมเข้ามา ก็จะเร่งประสานเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมผ่านระบบออนไลน์ต่อไป

ส่วนประชาชนที่อยู่ในต่างจังหวัด จะมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พนักงานธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่เข้าไปสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม และส่งข้อมูลผ่านระบบออนไลน์เข้ามาที่กระทรวงการคลังให้เร่งพิจารณา หากการตรวจสอบข้อมูลถูกต้อง ชัดเจน จะเร่งอนุมัติเงินเยียวยา 5,000 บาทให้ประชาชนที่ผ่านเกณฑ์โดยเร็วที่สุด

“6 ล้านคนที่อยู่ระหว่างการขอข้อมูลเพิ่มเติมนั้น บางส่วนมีคุณสมบัติไม่เข้าเกณฑ์ เช่น อายุไม่ถึง 15 ปีก็ถูกตัดสิทธิ์ทันที ส่วนคนที่อายุเข้าเกณฑ์ 18 ปีขึ้นไป บางส่วนมีการกรอกเลขประจำตัวประชาชนผิด กรอกคำนำหน้า เช่น นาย นาง นางสาวติดกับชื่อ ทำให้ไม่ตรงกับข้อมูลของกรมการปกครอง ทำให้ได้รับเอสเอ็มเอสแจ้งว่าข้อมูลไม่ตรง ในส่วนนี้สามารถเข้าไปใน www.เราไม่ทิ้งกัน.com เพื่อขอทบทวนสิทธิ์ได้ โดยจะเปิดให้มีการทบทวนสิทธิ์ตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย.นี้” นายประสงค์ กล่าว

ส่วนกรณีประชาชนที่ได้รับเอสเอ็มเอสแจ้งว่าไม่ได้รับสิทธิ์ เนื่องจากเป็นเกษตรกรนั้น เพราะระบบนำเลขประจำตัวประชาชนไปเทียบกับข้อมูลของกระทรวงเกษตร ดังนั้นหากเลขประจำตัวประชาชนดังกล่าวตรงกันก็จะขึ้นว่าเป็นเกษตรกร แต่หากประชาชนสามารถชี้แจงและมีหลักฐานยืนยันว่าไม่ได้เป็นเกษตรกร และประกอบอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เมื่อตรวจสอบแล้วว่าเป็นความจริงก็สามารถได้รับเงินเยียวยาในส่วนนี้ทันที แต่จะไม่ได้รับการช่วยเหลือกรณีมาตรการเยียวยาเกษตรกรที่รัฐบาลเตรียมจะดำเนินการในเร็วๆ นี้

สำหรับงบประมาณที่จะใช้ในการดำเนินมาตรการจ่ายเงินเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 วงเงิน 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือนนั้น ส่วนแรกจะมาจากการใช้งบกลางปี 2563 และการปรับปรุงงบประมาณรายจ่ายปี 2564 ในการใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่จำเป็น อีกส่วนจะมาจากการกู้เงินตามพ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน วงเงิน 1 ล้านล้านบาท เบื้องต้นคาดว่าจะใช้ในส่วนเยียวยา 5,000 บาทและมาตรการเยียวยาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ประมาณ 5.55 แสนล้านบาท

นายประสงค์ กล่าวอีกว่า ยืนยันกระทรวงการคลังยังไม่มีแนวคิดจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาทตามบัญชีครัวเรือน เนื่องจากบางครัวเรือนไม่ได้รับผลกระทบจริง ตรงนี้ยอมรับว่าเป็นประเด็นและเป็นข้อมูลที่ละเอียดอ่อน และตาม พ.ร.ก. กู้เงินฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท ระบุไว้ชัดเจนว่า จะต้องจ่ายเงินเยียวยาให้ตรงตัวผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างแท้จิรง ถ้าจ่ายไม่ตรงตัว ไม่ตรงจุด ผู้ที่จ่ายเงินต้องรับผิดชอบ ดังนั้นจึงต้องมีการตรวจสอบตามหลังเสมอ

“บางครัวเรือนเป็นเจ้าสัว บางครัวเรือนเป็นข้าราชการ ตรงนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน การดำเนินการต้องทำตามกฎหมายกำหนดอย่างชัดเจน เพราะเป็นการกู้เงิน ต้องจ่ายให้ตรงตัวผู้ที่ประสบความเดือดร้อน ถ้าจ่ายไม่ตรงตัวไม่ตรงจุดผู้จ่ายต้องรับผิดชอบ ทำให้ต้องมีการตรวจสอบตามหลังเสมอ เพราะไม่ใช่เงินของคลัง เป็นเงินของประเทศชาติ เงินประชาชน เงินกู้ที่กู้มาประชาชนทุกคนต้องร่วมกันใช้หนี้” นายประสงค์ กล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน