สมคิด ชี้ทั่วโลกก็กู้ รอพ.ร.ก.ล้านล้าน-ใช้แจก 5,000 บาทต่อ ยืนยันไปรอด ปัดข้อเสนอนักวิชาการให้แจกทุกคน ระบุถ้าแจกหมดก็ต้องกู้ยันตาย

วันที่ 16 เม.ย. นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ไม่มีประเทศใดในโลก ที่จะมีงบประมาณโดยตัวของมันเองในการดูแลประชาชนที่เดือดร้อน ดังนั้น ทุกประเทศไม่มีใครคาดว่าจะเกิดโควิด-19 การทำงบประมาณจึงเป็นไปตามปกติ แต่พอมีโรคระบาดขึ้นมา ทุกประเทศจึงต้องหันมาใช้การกู้ยืมเงิน ไม่ว่าสหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ก็ต้องใช้วิธีการออกพันธบัตรกู้ยืม เพื่อเอาเงินเหล่านี้มาดูแลประชาชนที่เดือดร้อน ประเทศไทยก็เช่นกันต้องออกพ.ร.ก.กู้ฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ออกรายงานล่าสุดคาดการณ์ว่าการก่อหนี้ของโลกจะสูงมากในปีนี้และปีหน้า แต่ก็ยังสนับสนุนให้แต่ละประเทศต้องยอมกู้ เพื่อเอามาดูแลประชาชน ดังนั้น คลังได้คาดคะเนมาแล้วจึงได้รีบออกพ.ร.ก.กู้เงิน ณ เวลาที่พอดีๆ เพราะเงินที่ดูแลประชาชนขณะนี้มาจากงบกลาง ซึ่งเป็นงบปกติของปี 2563 และรัฐบาลวางแผนว่าต้นเดือนพ.ค.ถึงกลางพ.ค. จะสามารถกู้ยืมได้เพราะพ.ร.ก.ผ่านครม.แล้ว

“เมื่อกู้ได้จะเอาเงินนี้มาสานต่องบปกติ การดูแลทุกมาตรการ รวมถึงแจกเงิน 5,000 บาทจะไม่ขาดตอน เป็นไปตามแผนการก่อหนี้ที่จะก่อเป็นช่วงๆ ตามแต่ละช่วงจะใช้จ่ายอย่างไร ไม่ใช่กู้มาทั้งหมด ดังนั้น การขาดแคลนเงินจะไม่เกิดเพราะมีแผนงานรองรับอยู่แล้ว”นายสมคิด กล่าว

นายสมคิด กล่าวว่า ขอให้ฟังแล้วจะเข้าใจว่าในการก่อหนี้จะแยกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.การเยียวยา 2.ใช้ดูแลเศรษฐกิจท้องถิ่น และ 3.การดูแลภาคการเงิน ซึ่งสำคัญมาก เพราะถ้าภาคการเงินมีปัญหาทุกอย่างจะล่มสลายหมด

การก่อหนี้ 1 ล้านล้านบาทจะดูแล 3 กลุ่มได้อย่างเหมาะสม ก่อนหน้านี้ตลาดตราสารหนี้ที่รู้สึกมีปัญหา แต่หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกพ.ร.ก.ซื้อหุ้นกู้เอกชน 4 แสนล้านบาท ทุกอย่างนิ่ง ฉะนั้นนี่คือจังหวะเวลาของการทำงาน ที่บอกว่าเราจะไม่มีเงิน งบประมาณไม่มีใครมี แต่จะมีเงินกู้เข้ามาเสริมพอดี ดังนั้นไม่มีอะไรที่ต้องกังวล

สำหรับประเด็นปัญหาที่ถกกันในสังคมเรื่องการแจกเงินเยียวยา 5,000 บาท ในมาตรการเราไม่ทิ้งกัน ล่าสุดครม.มีมติแล้วว่าเงินกองทุนประกันสังคม ใครอยู่ในระบบประกันสังคมจะได้จากประกันแน่นอน ส่วนกลุ่มนอกระบบประกันที่ถูกกระทบ ตามนโยบายนายกรัฐมนตรี กระทรวงการคลัง จะดูแลทุกกลุ่มแน่นอน

“แม่ค้าขายลูกชิ้นปิ้งลำบาก ก็มีสิทธิ์ที่จะขอ 5,000 บาท เมื่อขอแล้วเค้าบอกว่าไม่ได้ ก็มีสิทธิ์อุทธรณ์ จะไม่มีกลุ่มไหนเลยที่ถูกละทิ้ง ยกเว้นคนที่ไม่ควรได้ถ้ามีรายได้เพียงพอ ประเทศอยู่ในภาวะที่ลำบาก คนที่ดูแลตัวเองไม่ได้ต้องได้ก่อน ไม่อย่างนั้นคนจนจะลำบาก คนมีรายได้แล้วยังจะเอาอีก จะมีรัฐบาลไหนดูแลประชาชนครบอย่างนั้น”

นายสมคิด กล่าวว่า ขณะนี้ไม่ใช่ภาวะปกติ แต่ยืนยันว่าเราไปรอดแน่นอน ทุกมาตรการออกมาในจังหวะที่ดี ทุกคนต้องรับผิดชอบ ทำงานตามขั้นตอน ทุกคนต้องพยายามฝ่าไปให้ได้ เรามีข่าวดีว่าผู้ป่วย ผู้ตายน้อยลง ค่อนข้างนิ่ง ถ้าอดทนอีกสักพัก ถ้านิ่ง ลดลงอย่างนี้ อดทนอีก 1 เดือน จนสุดท้ายนิ่งหมด ตอนนั้นค่อยๆ ผ่อน ค่อยๆ คลาย จะกลับมาค่อยๆ ดีขึ้น ที่ผ่านมาได้หารือกับเอกชน ชี้แจงไปว่าการผ่อนต้องค่อยๆ ผ่อนปรน ถ้ารีบจำนวนผู้ป่วยจะเพิ่ม ตอนนั้นจะรับไหวไหม ตอนนี้มีกำลังใจเพราะตัวเลขดีขึ้น

ดังนั้น ระหว่างนี้ กลไกเครื่องยนต์เศรษฐกิจ ไม่เดิน ส่งออกไม่ดี เพราะทั้งโลกไม่ดี มีแค่บริโภคกับงบประมาณที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจ ดังนั้นบริโภค ถ้าประชาชนไม่มีรายได้ ก็มีเงินกู้มาหล่อเลี้ยง การกู้ของคลังสะท้อนความเข้มแข็งของประเทศไทย เราโชคดีมาก ทุกประเทศต้องกู้ แต่ขณะที่เรากู้ได้ เพราะหนี้ต่อจีดีพีของเรา 40-42 % การกู้เพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท ยังเป็นตัวเลขมาตรฐานว่าไม่สะเทือน เป็นอานิสงส์โชคดีของไทยว่ามีการดูแลในอดีตทีผ่านมา เงินกู้ต้องใช้อย่างระวัง

นายสมคิด กล่าวว่า การกู้เงินตามพ.ร.ก.กู้ฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาทล็อตแรก ในเดือนพ.ค.กำลังศึกษาอยู่ ต้องมีล็อตเยียวยาก่อน ซึ่งจะใช้ในวงเงินสำหรับเยียวยา 6 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ถือว่าพอยิ่งกว่าพอ แต่ว่าการแจกเงิน อยากให้คนที่มีแล้วก็อย่าเข้ามา ให้คนที่เค้าไม่มี ช่วยกันดูแล คนชาติเดียวกันต้องดูแลคนด้อยโอกาสก่อน

สำหรับการแจกเงินช่วยเหลือเกษตรกร กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาดูอยู่ว่าจะให้เป็นรายครัวเรือน แต่ถ้ามีสมาชิกในครอบครัวบางคนทำงานอย่างอื่นต้องหักออก จะได้ยุติธรรม คลังร่วมมือมหาดไทย ทุกคนทำงานเต็มที่ ภาวะลำบากทุกคนต้องช่วยกัน

นายสมคิด กล่าวว่า ใครที่ถูกตัดสิทธิ์ 5,000 บาท ในวันที่ 20 เม.ย.ขอให้ยื่นทบทวนสิทธิ์เข้ามา ทุกคนมีสิทธิ์ ไม่มีใครทอดทิ้งใครอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เสนอให้จ่ายเงินเยียวยา 3,000 บาท แทน 5,000 บาทให้ทุกคนที่ได้รับผลกระทบ นายสมคิดกล่าวว่า ถ้าจะแจกทุกคนก็คงต้องกู้ยันตาย

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าเรื่องมาตรการแจกเงินช่วงเหลือเกษตรกร ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ และกระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างหารือร่วมกัน กำลังทำงานอยู่ในครอบคลุมรัดกุมที่สุด คาดว่าจะมีข้อสรุปโดยเร็วที่สุด

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน