สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ สั่งบูมเศรษฐกิจท้องถิ่น ใช้เงินกู้จัดอบรม ตกงานพุ่ง 7 ล้านคน ธ.ก.ส.ขอใช้งบ 5.5 หมื่นล้าน ตั้งกองทุนพัฒนาคนรุ่นใหม่

วันที่ 8 พ.ค. นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในการประชุมหารือมาตรการเยียวยาเกษตรกร ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่า

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

ภาพรวมเศรษฐกิจในไตรมาส 1/2563 ไม่ดี ส่วนในไตรมาส 2/2563 ยังหน้าเป็นห่วง เป็นไปตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ดี ดังนั้น ไม่ต้องพูดถึงเรื่องภาคการส่งออก การท่องเที่ยวในวิกฤตการณ์แบบนี้ จึงเหลือเพียงเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้าอยากให้มีงบประมาณที่สามารถทำให้เกิดการผลักดันเศรษฐกิจท้องถิ่นในการสร้างความเข้มแข็ง เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศขณะนี้

แนวทางพัฒนาเศรษฐกิจประเทศในช่วง 1 ปีข้างหน้า มีแกนหลักสำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่

1.การสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เข้มแข็ง เพื่อสร้างสมดุลกับเศรษฐกิจภายนอก โดยการเชื่อมโยงทั้งภาคการผลิต การตลาด การท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน ให้เดินหน้าไปพร้อมกัน

2.การสร้างดิจิทัล ในการพัฒนาประเทศ จากปัญหาโควิดทำให้เห็นว่าบิ๊กดาต้าของไทยเล็กมาก

3.ด้านการต่างประเทศ การผลักดันเป็นศูนย์กลาง โดยเห็นว่าประเทศไทยจำเป็นต้องใช้วิกฤติในขณะนี้เป็นโอกาสในสร้างความเข้มแข็งของทั้ง 3 แกนหลักขึ้นมา

“ขณะนี้เป็นวิกฤต แต่ครั้งนี้เราต้องถือเป็นโอกาสสำคัญ ประเทศไทยมีเวลาไม่มาก จึงมอบหมายให้ ธ.ก.ส.ไปคิดโครงการดูแลเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยคาดว่าจะเสนอให้ครม.พิจารณาภายในสัปดาห์หน้า เพื่อให้โครงการเดินหน้า อัดฉีดเม็ดเงินได้ภายในปลายเดือนพ.ค.2563 ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อม เมื่อกรรมการกลั่นกรองโครงการที่จะเสนอขอใช้เงินพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ประกาศหลักเกณฑ์ จะได้เสนอโครงการเพื่อให้เดินหน้าได้ทันที เพราะเดือนหน้าต้องมีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยโครงการจะต้องเดินหน้าได้ทันที” นายสมคิด กล่าว

นายสมคิด กล่าวอีกว่า โครงการที่จะออกมาต้องคิดในเชิงปฏิบัติมากกว่าเชิงทฤษฎี เพราะเกษตรกรมีทั้งที่อยู่ในพื้นที่เดิมอยู่แล้ว และแรงงานที่กลับสู่ชนบท ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งต้องมีโครงการอบรม เพื่อให้แรงงานที่กลับสู่ชนบทได้รู้ว่าทำเกษตรอย่างไร และทำอะไรได้บ้าง

“ตรงนี้คือสิ่งที่ต้องชี้แจงให้ได้ว่าการอบรมนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ไม่เช่นนั้นคนที่กลับชนบทซึ่งไม่เคยทำเกษตรเลยจะทำได้อย่างไร ต้องออกแบบเป็นขั้นบันไดว่า ขั้นแรกแต่ละจังหวัดจะจัดอบรมที่ไหน กี่คน อบรมอะไร และจ้างมาอบรมด้วย นี่คือหนทางที่สร้างให้เขามีรายได้ขึ้นมา เพราะเจตนาดั้งเดิมคือให้คนมีรายได้ มีงาน

โครงการอบรมไม่จำเป็นต้องเป็นด้านเกษตรอย่างเดียว มีทั้งเรื่องเศรษฐกิจชุมชน เรื่องเทคโนโลยี ให้เขารอบรู้ในการอบรมแต่ละเรื่อง เรียกว่าจ้างมาเรียน และขั้นต่อไป คนที่อบรมแล้วจะมีโอกาสเข้าไปทำเกษตร เรื่องสินเชื่อก็ต้องตามมา ธ.ก.ส.ต้องเข้าไปรองรับเรื่องนี้ และประสานกับหน่วยงานต่างๆ ให้เข้ามาช่วยเหลือ” นายสมคิด กล่าว

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธ.ก.ส. กล่าวว่า จากข้อมูลของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่าจะมีคนตกงานประมาณ 7.1 ล้านคน ซึ่งประเมินว่าแรงงานในส่วนนี้จะเดินทางกลับสู่ชนบท ประมาณ 4 ล้านคน และพบว่าในช่วง 1-2 ปีนี้ จะมีแรงงานประมาณ 8 แสนคนที่ยังกลับเข้าเมืองไม่ได้ เพราะยังได้รับผลกระทบต่อเนื่อง

ดังนั้น ธ.ก.ส.ต้องลงไปดูในรายละเอียดว่ากลุ่มแรงงานที่กลับสู่ชนบทนี้ต้องการทำอะไร โดยส่วนใหญ่อยากทำเกษตรแบบผสมผสานตามหลักทฤษฎีใหม่ รองลงมาอยากทำเกษตรอินทรีย์ จึงเป็นที่มาของการเสนอจัดตั้งกองทุนโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและชุมชนสร้างไทย วงเงินงบประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาท จากพ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉินวงเงิน 1 ล้านล้านบาท โดยมีเป้าหมายหลักพัฒนาแรงงานรุ่นใหม่ที่กลับสู่ชนบท เพื่อให้เกิดภาพเศรษฐกิจฐานรากที่ยั่งยืนและมั่นคง

ถือเป็นโอกาสในการปฏิรูปภาคเกษตรกรให้เป็นรูปธรรม ผ่านความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน ด้วยการสนับสนุนให้เกิดการจ้างงาน สร้างงาน สร้างรายได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวสำหรับแรงงานที่ได้รับผลกระทบ ผ่านการสนับสนุน ส่งเสริมการจัดการด้านการตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวชุมชนปูพรมทั้งประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นในระดับชุมชนและครัวเรือน

นายอภิรมย์ กล่าวอีกว่า โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและชุมชนสร้างไทย วงเงิน 5.5 หมื่นล้านบาทนั้น จะดำเนินการผ่านโครงการสำคัญ ได้แก่

1. โครงการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารระดับชุมชน (ตั้งหลัก) ใช้งบประมาณ 720 ล้านบาท ในการจัดการเรียนรู้ผ่านระบบ e-leaning สำหรับเกษตรกร 3 แสนราย สนับสนุนการพัฒนาฐานเรียนรู้ 1.2 พันแห่ง และสนับสนุนการศึกษาดูงาน คาดว่าโครงการดังกล่าวจะสร้างรายได้ให้ New Gen 7 แสนบาทต่อราย หรือเป็นวงเงินรวม 1.1 แสนล้านบาท

2.โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านธุรกิจชุมชน (ตั้งฐาน) ใช้งบประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท ในการสนับสนุนลงทุนปัจจัยพื้นฐานไม่เกิน 50% และไม่เกิน 1 ล้านบาท สนับสนุนปรับเปลี่ยนการผลิต ไม่เกิน 50% ของปีแรก และไม่เกิน 1 ล้านบาท สำหรับวิสาหกิจชุมชน 1.6 หมื่นแห่ง และ

3. โครงการเสริมสร้างความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจฐานราก (ตั้งมั่น) ใช้งบประมาณ 2.17 หมื่นล้านบาท โดยสนับสนุนสถาบันเกษตรกร 7.25 พันแห่ง ลงทุนในปัจจัยพื้นฐานไม่เกิน 50% ของมูลค่าการลงทุน หรือไม่เกินแห่งละ 3 ล้านบาท

ทั้งนี้ ธ.ก.ส.ยังพร้อมสนับสนุนเกษตรกรผ่านโครงการสินเชื่อวงเงินรวม 4.8 แสนล้านบาท ได้แก่ สินเชื่อฉุกเฉิน 2 หมื่นล้านบาท, สินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ 1 หมื่นล้านบาท, สินเชื่อ New Gen ฮักบ้านเกิด 6 หมื่นล้านบาท, สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย 5 หมื่นล้านบาท

สินเชื่อผู้ประกอบการเกษตร 4 หมื่นล้านบาท และสินเชื่อระยะสั้นสำหรับฤดูกาลใหม่ (Jump Start Credit) วงเงิน 3 แสนล้านบาท โดยโครงการสินเชื่อ New Gen ฮักบ้านเกิด และสินเชื่อ Jump Start Credit ต้องเสนอความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ธ.ก.ส. ก่อน

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า ธ.ก.ส.ต้องกลับไปพิจารณาเพิ่มเติมในนอกเหนือจากการเติมเงินผ่านโครงการสินเชื่อคือ ต้องสนับสนุนด้านเทคโนโลยี การช่วยเหลือด้านทักษะอื่นๆ ที่จำเป็นด้วย ต้องคิดออกมาเป็นแพ็คเกจ ว่าจะทำอย่างไร เริ่มอย่างไร เพื่อให้เกษตรกรเดินหน้าต่อไป

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน