วันที่ 27 มิ.ย. นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน โพสต์ข้อความเนื่องในวันสถาปนามหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ครบรอบ 86 ปี ระบุว่า ท่านทราบไหม ทำไมนายปรีดี พนมยงค์ จึงไม่เลือกวันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นวันก่อตั้ง ‘มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง’ แต่กลับเลือกวันที่ 27 มิถุนายน?

คำตอบอยู่ที่คำปรารภและมาตรา 1 ของพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย ประกาศใช้ 3 วันหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองคือวันที่ 27 มิถุนายน 2475

“โดยที่คณะราษฎรได้ขอร้องให้อยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม เพื่อบ้านเมืองจะได้เจริญขึ้น และโดยที่ได้ทรงยอมรับตามคำขอร้องของคณะราษฎร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยมาตราต่อไปนี้

มาตรา 1 อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย ..

ประชาธิปก ปร.
ประกาศ ณ วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475”

จากระบอบราชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดในประเทศเป็นของพระราชา ประเทศไทยก็ได้กลายมาเป็นระบอบที่ ‘ประชา’ เป็นเจ้าของ ‘อธิปไตย’ และกลายเป็นเจ้าของประเทศ เมื่อพระราชาทรงมอบอำนาจสูงสุดของประเทศให้กับราษฎรทั้งหลาย ด้วยการลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกนี้

อาจารย์ปรีดีไม่เลือกวันที่ 24 มิถุนายนเป็นวันตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เพราะมิได้ประสงค์จะยกย่องตนเองและพวกพ้องที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ประสงค์จะยกย่องประชาชนที่ได้กลายเป็นเจ้าของประเทศ จึงได้เลือกวันที่ 27 มิถุนายน เป็นวันตั้งมหาวิทยาลัยแห่งนี้

หากอาจารย์ปรีดีเลือกวันที่ 24 มิถุนายนเป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ก็จะเป็นแค่มหาวิทยาลัยของ ‘คณะราษฎร’ แต่ธรรมศาสตร์ไม่ใช่มหาวิทยาลัยของคณะราษฎร หากคือมหาวิทยาลัยของ ‘ราษฎร’ เพราะวันที่ก่อตั้งมหาวิทยาลัยคือวันที่อำนาจสูงสุดของประเทศได้กลายเป็นของราษฎร!

ด้วยเหตุประการนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงมีพานรัฐธรรมนูญอันเป็นสัญลักษณ์ของ ‘ประชาธิปไตย’ อยู่ใจกลางธรรมจักร และเป็นมหาวิทยาลัยของประชาชน และมันควรจะเป็นเช่นนั้นตลอดไปครับ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน