ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงานวุฒิสภา ลงพื้นที่อ่างทองรับฟังปัญหาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ติดตามฟาร์มตัวอย่าง สถานประกอบการต้นแบบ

เมื่อวันที่ 10 ก.ค. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา กล่าวว่า ในวันนี้คณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน โดยมี นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย ลงพื้นที่จังหวัดอ่างทอง มารับฟังสภาพปัญหาของประชาชนและผู้ประกอบการในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อติดตามผลการดำเนินงานว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐร่วมมือกันแก้ไขปัญหาบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการและพี่น้องประชาชนเป็นไปอย่างไรบ้าง

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

ตลอดจนการวางแผนการดำเนินงานภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลงหลังจากนี้ต่อไปอย่างไร โดยเดินทางมาในพื้นที่ 2 จุด คือ จุดแรก ตรวจเยี่ยมโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (บ้านยางกลาง) ต.สีบัวทอง อ.แสวงหา จ.อ่างทอง ที่ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน (ศอญ.)

ร่วมกับกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินกิจกรรมแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านอาชีพ ตาม “โครงการฟาร์มตัวอย่างต้านภัยโควิด-19” ซึ่งในโครงการนี้จ.อ่างทอง มีผู้เข้าร่วมจำนวน 50 คน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนที่ว่างงานจากผลกระทบโควิดมีงานทำ มีรายได้ไว้จุนเจือครอบครัว

โดยจ้างให้ทำงานในฟาร์มวันละ 8 ชั่วโมง ภายในระยะเวลา 60 วัน หยุดเฉพาะวันอาทิตย์ ได้รับค่าจ้างวันละ 300 บาทต่อคน โดยเริ่มทำงานมาตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค. ไปสิ้นสุดวันที่ 13 ก.ค.63 งานที่ทำ เช่น การขุดคลองไส้ไก่ การห่มดินด้วยฟาง การขุดล้อมต้นไม้ การปลูกผัก ทำสะพานไม้ไผ่ โรงเรือนเลี้ยงสัตว์ การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ เป็นต้น

ซึ่งประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ นอกจากจะได้งานทำ มีอาชีพ มีรายได้แล้วสามารถนำความรู้ด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ไปต่อยอดในการประกอบอาชีพเลี้ยงตนเอง และครอบครัวได้อีกทางหนึ่ง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อปวงชนชาวไทย ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินี ทรงพระราชทานพื้นที่ฟาร์มตัวอย่างแห่งนี้ตามพระราชดำริให้ทรงมีโครงการนี้ขึ้น

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวต่อว่า จุดที่ 2 ไปที่บริษัท ไทยเรยอน จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นสถานประกอบกิจการผลิตเส้นใยสังเคราะห์และเส้นใยธรรมชาติ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ยอดสั่งซื้อสินค้าลดลง ต้องชะลอกำลังการผลิต ปัจจุบันมีลูกจ้าง 932 คน กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดอ่างทองใช้ระบบแรงงานสัมพันธ์เข้าไปให้ความรู้

โดยเป็นพี่เลี้ยงจนกระทั่งในที่สุดใช้มาตรา 75 ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2545 โดยการผลัดเปลี่ยนให้ลูกจ้างทยอยกันหยุดครั้งละ 100 กว่าคน คนละ 7-15 วัน ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีของผู้ประกอบการ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการรักษาสภาพการจ้างให้ได้นานที่สุด และเมื่อสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย พนักงานสามารถกลับเข้าไปทำงานได้ตามปกติ

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของจังหวัดอ่างทองมีผู้ประกันตนขอรับสิทธิว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยโควิด-19 จำนวน 503 คน สถานประกอบการใช้มาตรา 75 จำนวน 5 แห่ง ลูกจ้าง 1,332 คน จากการรับฟังสภาพปัญหาในพื้นที่ด้านแรงงาน

ซึ่งขณะนี้สถานการณ์โควิดคลี่คลายลงแล้ว จากนี้รัฐบาลจะขับเคลื่อนในด้านต่างๆ เพื่อให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้มีงานทำ ทั้งการหางานให้ การ Up skill/Re skill เพื่อให้มีทักษะฝีมือสูงขึ้นตามความต้องการของผู้ประกอบการ และมีหลักประกันความมั่นคงในชีวิตต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน