อธิบดีทส.ชี้ ‘พะยูนวิกฤต’ เหลือทั้งประเทศไม่ถึง 200 ตัว แฉทั้งถูกล่าเอาเนื้อไปกิน กระดูกทำยาโด๊ปชูกำลัง เขี้ยวทำเครื่องรางของขลัง แถมถูกเครื่องมือประมงทำลาย สั่งสำรวจประชากร เร่งหาทางอนุรักษ์ ขณะที่ ผอ. ส่วนกิจการทางทะเล เผยทั้งชีวิตพะยูน 70 ปี ออกลูกได้แค่ 10 ตัว ตั้งท้องนาน 13-18 เดือน ออกลูกทุก 3 ปี ทำให้ประชากรเหลือน้อย

เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธานเปิดการประชุมการอนุรักษ์พะยูนและอนุรักษ์แหล่งหญ้าทะเลระดับประเทศ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมกว่า 100 คน

นายธัญญากล่าวว่า แม้พะยูนจะเป็นสัตว์ป่าสงวนฯ และอยู่ในบัญชี 1 ของบัญชี ไซเตส ห้ามค้าโดยเด็ดขาด แต่พะยูนในประเทศไทยยังจัดอยู่ในภาวะวิกฤต เนื่อง จากถูกคุกคามอย่างหนักในเรื่องถิ่นที่อยู่อาศัย และการทำลายแหล่งหญ้าทะเลอันเป็นแหล่งอาหารของพะยูน รวมทั้งการล่าและการติดเครื่องมือประมงล้วนเป็นสาเหตุทำให้พะยูนลดลงอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันคาดว่าในน่านน้ำไทยมีพะยูนไม่เกิน 200 ตัว โดยอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จังหวัดตรัง เป็นแหล่งที่พบพะยูนมากที่สุด ประมาณ 130-150 ตัว เนื่องจากบริเวณดังกล่าว มีแหล่งหญ้าทะเลชนิดที่เป็นแหล่งอาหารหลักและเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพะยูนที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก ในพื้นที่เกาะเสม็ด จ.ระยอง ชลบุรี จันทบุรี ตราด ประมาณ 15 ตัว และในพื้นที่อ่าวไชยา จ.สุราษฎร์ธานี อีกประมาณ 10 ตัว

“ปัจจุบันยังพบว่ามีกลุ่มผู้ล่าพะยูนอยู่ เนื่องจากมีความเชื่อผิดๆ เช่น กระดูกพะยูนสามารถนำไปทำยาโด๊ป และรักษาโรคมะเร็ง ส่วนเขี้ยวพะยูนนำไปเป็นเครื่องรางของขลัง เนื้อพะยูนนำไปทานเป็นอาหารราคากิโลกรัมละ 150 บาท ความเชื่อเหล่านี้ทำให้พะยูนยังเป็นที่ต้องการของตลาดมืด สิ่งที่จะช่วยแก้ไขได้คือการเร่งประชา สัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบข้อมูลที่เป็นจริงว่า กระดูกหรือเขี้ยวพะยูนไม่สามารถนำไปรักษาโรคหรือเป็นเครื่องรางของขลังได้” อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าว

นายธัญญากล่าวต่อว่า ทั้งนี้กรมอุทยานฯ โดยอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง ได้ติดสัญญาณดาวเทียมพะยูน 3 ตัว เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพื่อให้ทราบถึงแหล่งที่อยู่อาศัยของพะยูน ที่จะกำหนดแนวเขตในการอนุรักษ์ดูแลพะยูนอย่างจริงจัง อย่าง ไรก็ตามได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สำรวจประชากรพะยูนในประเทศไทยว่ามีอยู่ในจำนวนเท่าไร โดยจะเริ่มดำเนินการในช่วงเดือนธ.ค.2560-ก.พ.2561 นี้

ด้านนายณัฐพล รัตนพันธุ์ ผอ.ส่วนกิจการทางทะเลแห่งชาติ กรมอุทยานฯ กล่าวว่า สถานการณ์พะยูนน่าเป็นห่วง เนื่องจากปัจจุบันมีประชากรเหลือน้อย โดยพะยูนจะมีอายุประมาณ 70 ปี ตั้งท้องใช้เวลา 13-18 เดือน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว และออกทุก 3 ปี พะยูน 1 ตัว ถ้าไม่ถูกเครื่องมือประมงทำลายจะออกลูกตลอดในช่วงชีวิต 70 ปี จะออกลูกได้แค่ 10 ตัว ทำให้จำนวนประชากรพะยูนมีไม่มากนัก ดังนั้นการสำรวจประชากรพะยูน เพื่อให้ทราบจำนวนที่แท้จริงจะได้หาแนวทางอนุรักษ์ต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน