พนังกั้นลำน้ำชีถูกน้ำซัดขาด! น้ำทะลักท่วม 6 หมู่บ้าน ขณะที่กรมอุตุฯ เตือน 11 จว ภาคใต้มีฝนหนัก ระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่า ไหลหลาก หลังพายุ “ด็อมเร็ย” ลกระดับเป็นความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณภาคใต้ ส่วนหัวหน้าอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น จ.สุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ประกาศปิดการท่องเที่ยวและพักแรมในเขตพื้นที่น้ำตก ทุกแห่งช่วงน้ำหลาก 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 1-30 พ.ย.นี้ ด้านที่อำนาจเจริญ-จันทบุรี โดนพิษลมพายุหอบหลังคาปลิวว่อน สวนผลไม้ หักโค่น

เมื่อวันที่ 5 พ.ย. กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศฉบับที่ 9 เรื่องพายุ “ด็อมเร็ย” (DAMREY) และฝนตกหนักถึงหนักมาก และคลื่นลมแรงบริเวณภาคใต้ โดยเมื่อเวลา 07.00 น.วันนี้พายุดีเปรสชัน “ด็อมเร็ย” ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำแล้วปกคลุมบริเวณด้านตะวันออกเฉียงเหนือกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา และหย่อมความกดอากาศต่ำยังคงปกคลุมบริเวณภาคใต้ตอนล่าง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกชุกหนาแน่น กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระมัด ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนตกสะสม อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และลมกระโชกแรง

พื้นที่ได้รับผลกระทบมีดังนี้ บริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส กระบี่ ตรัง และสตูล สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังแรง โดยอ่าวไทยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กบริเวณดังกล่าวควรงดออกจากฝั่ง ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกระวังคลื่นซัดเข้าหาฝั่งไว้ด้วย ขอให้ประชาชน ติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิดในระยะนี้

ขณะที่ พล.ต.พีรวัชฌ์ แสงทอง โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เปิดเผยถึงเหตุการณ์เมื่อกลางดึกวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา เกิดน้ำชีไหลหลากทำให้พนังกั้นน้ำบริเวณสถานีสูบน้ำท่าตูม-เขื่อนวังยาง ขาดเป็นระยะทางประมาณ 25-30 เมตร ความลึกค่าความต่างของระดับน้ำในแม่น้ำชีกับระดับหลังผนังประมาณ 1 เมตร มีพื้นที่หมู่บ้านได้รับความเสียหาย 6 หมู่บ้าน คือ บ้านโปโล บ้านหนองข่า บ้านอ้อยช้าง บ้านหนองโดน บ้านหนองคู บ้านท่าตูม ตำบลท่าตูม บ้านเรือนราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนประมาณ 657 ครัวเรือน ประชากรประมาณ 2,700 คน พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายจากเดิมประมาณ 4,500 ไร่ และจากเหตุพนังกั้นน้ำขาดทำให้น้ำไหลหลากท่วมพื้นที่การเกษตรเพิ่มประมาณ 1,500 ไร่ รวมเป็นพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายประมาณ 6,000 ไร่ ระดับน้ำสูงประมาณ 1-1.50 เมตร ขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ได้ระวังภัย ขนของขึ้นที่สูง

สำหรับสถานการณ์ล่าสุดวันนี้ ชาวบ้านหนองข่า บ้านอ้อยช้าง บ้านหนองคู ต.ท่าตูม อ.เมือง จ.มหาสารคาม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ทหารกว่า 100 คน เร่งกรอกกระสอบทราย นำไปวางไว้ตามแนวถนนรอบหมู่บ้านระยะทางยาวกว่า 1 ก.ม. เพื่อเตรียมรับปริมาณน้ำชีที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจุดนี้เป็นจุดเดียวที่ชาวบ้าน 4 หมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านโปโล หมู่ 4 บ้านหนองข่า หมู่ 5 บ้านหนองคู หมู่ 8 และบ้านหนองข่า หมู่ 10 ใช้เป็นเส้นทางเข้าออก หากน้ำชีเอ่อล้นกระสอบทรายก็จะไม่มีทางเข้าออกหมู่บ้าน

ด้านนายพัฒนะ พลศรี หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 3 เขื่อนระบายน้ำฝาย วังยาง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพัฒนาลุ่มน้ำชีตอนกลาง เปิดเผยว่า จุดที่พนังแตกเป็นช่วงคุ้งน้ำทำให้น้ำไหลแรงและเซาะผิวใต้ถนนจนขาดมวลน้ำไหลเข้าทุ่งนาข้าวของพี่น้องเกษตรกร ซึ่งส่งผลให้ระดับน้ำหน้าฝายวังยางลดลงอย่างรวดเร็ว วันนี้ระดับน้ำลดลง 20 ซ.ม. โดยเจ้าหน้าที่ชลประทานและกลุ่มผู้ใช้น้ำเขื่อนระบายน้ำวังยางได้นำรถไถปรับเกรดทางเข้าจุดที่พนังขาด เพื่อเตรียมพร้อมลำเลียงวัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักรเข้าไปซ่อมแซมพนังที่ขาดแล้ว หลังปริมาณน้ำจากแม่น้ำชีมีปริมาณสูง ต่อเนื่อง เนื่องจากพนังกั้นแม่น้ำชีขาดประเมินว่าน้ำจะขยายพื้นที่เข้าท่วมนาข้าวเสียหายกว่า 3 หมื่นไร่

ส่วนที่ จ.อำนาจเจริญ ตลอดทั้งวันมีฝนตก และลมกระโชกแรง โดยเฉพาะที่ อ.เสนางค นิคม ได้รับผลกระทบบ้านเรือนของราษฎรได้รับความเสียหาย หลังคาปลิวว่อนกว่า 10 หลังคาเรือน โดยนายสิริรัฐ ชุมอุปการ ผวจ.อำนาจเจริญ กล่าวว่า ตนได้สั่งการให้จังหวัด และอำเภอพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ทหารนำกำลัง ออกให้การช่วยเหลือขนย้ายข้าวของชาวบ้าน ไปเก็บในที่ไม่ถูกฝน

ที่ จ.จันทบุรี เกิดพายุลมกระโชกแรงพัดกระหน่ำในพื้นที่หมู่ 7 และหมู่ 4 ต.บ่อเวฬุ อ.ขลุง จ.จันทบุรี ทำให้บ้านเรือนประชาชนพังเสียหาย สวนผลไม้ ยางพารา ถูกแรงลมพัดหักโค่นครอบคลุมพื้นที่ 1 ตำบล 2 หมู่บ้าน มีประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 400 หลังคาเรือน และยังมีต้นไม้ถูกแรงลมพัดโค่น ล้มทับขวางการจราจรอีกหลายเส้นทาง โดยเฉพาะบ้านพักบนเนินเขาใกล้วัดเขาทอง ถูกแรงลมพัดพังถล่มลงมาทับรถแบ๊กโฮเล็กได้รับความเสียหาย และลมยังได้หอบเอากระเบื้องหลังคาปลิวหายไปเกือบทั้งหลัง โดยผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ได้สำรวจข้อมูลความเสียหายก่อนรายงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเยียวยาช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบต่อไป

สำหรับสถานการณ์ในพื้นที่ภาคใต้ น.ส.พะเยาว์ เมืองงาม ผอ.ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก ออกประกาศศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก ฉบับที่ 20 (128/2560) เรื่องฝนตกหนักบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออก และคลื่นลมแรงบริเวณอ่าวไทย จากหย่อมความกดอากาศกำลังแรง ยังคงปกคลุมบริเวณภาคใต้ตอนล่าง ประกอบ กับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรง ส่งผลให้บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกยังคงมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณ จ.นครศรีธรรม ราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และ จ.นราธิวาส โดยในวันที่ 6-8 พ.ย.นี้มีฝนหนักบางแห่งบริเวณ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และ จ.นครศรีธรรมราช ให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยของจังหวัด ดังกล่าวระมัดระวังอันตรายที่เกิดจากฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน ปริมาณน้ำฝนสะสม และน้ำป่าไหลหลาก คลื่นลมในอ่าวไทยมีกำลังแรง ความสูงของคลื่น 2-3 เมตร ประชาชนอาศัยบริเวณชายฝั่งทะเลระมัด ระวังอันตรายจากคลื่นลมแรงที่ซัดเข้าหาฝั่ง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง

ด้านนายประพันธ์ศักดิ์ ใจโพธิ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ได้ประกาศปิดการท่องเที่ยวและพักแรมในเขตพื้นที่น้ำตกทุกแห่งในเขตอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น รวมทั้งหมด 4 แห่ง ในช่วงน้ำหลากเป็นเวลา 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 1-30 พ.ย.นี้ ได้แก่ น้ำตกดาดฟ้า ต.ลำพูน อ.บ้านนาสาร น้ำตกเพชรพนมวัฒน์ ต.ป่าร่อน อ.กาญจนดิษฐ์ น้ำตกเหมืองทวด ต.เพิ่มพูนทรัพย์ อ.บ้านนาสาร และน้ำตก 357 ต.บ้านส้อง อ.เวียงสระ เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวและประชาชน ส่วนบริเวณถ้ำขมิ้นซึ่งเป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น ยังสามารถเข้าไปชมได้ ขณะนี้ในพื้นที่ฝนได้หยุดตกมา 2-3 วันบ้างแล้ว แต่ปริมาณน้ำที่สะสมอยู่บนภูเขายังมีมากอยู่ ซึ่งอาจเป็น อันตรายกับประชาชนที่จะเข้าไปในบริเวณพื้นที่น้ำตก โดยจะมีการประกาศปิดปีละครั้ง ในช่วงที่มีฝนตกมากที่สุด ตามประกาศของกรมอุทยานแห่งชาติฯ

วันเดียวกัน พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบรายงานสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาล่าสุด โดยกรมชลประทานได้ปรับ ลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในภาพรวมลง 300 ลบ.ม./วินาที ทำให้ระดับน้ำในช่วง อ.สรรพยา จ.ชัยนาท เริ่มลดลง 15-20 ซ.ม. ส่วน จ.สิงห์บุรี และอ่างทอง ลดลง 10 ซ.ม. บริเวณคลองโผงเผงและคลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ลดลง 6-8 ซ.ม. และคาดว่าจะลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำบริเวณปากแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อบังคับน้ำ ให้ไหลลงสู่ทะเลรวดเร็วขึ้น ควบคู่กับการระบายน้ำออกจากทุ่ง 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มต้นที่ทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลก ตั้งแต่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา และจะดำเนินการต่ออีก 12 ทุ่ง ตอนล่างในวันที่ 15 พ.ย.นี้ โดยย้ำว่าน้ำที่ถูกระบายออกจะเข้าสู่ระบบชลประทานก่อนแล้วจะกระจายออกไปฝั่งซ้ายและขวา ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ที่น้ำท่วมอยู่แล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน