‘บอร์ด กพฐ.’ ถกมาตรการ รับเปิดเทอม ห่วงนร.ไม่มีที่เรียน ก่อน 1 มิ.ย. เข้มป้องโควิด จับสลาก ป.1 สอบเข้า ม.1-ม.4 ให้อิสระโรงเรียนพื้นที่ระบาดโควิด

วันที่ 14 พ.ค.64 นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุม กพฐ. ว่า น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) มอบนโยบายให้กับที่ประชุม ซึ่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เป็นห่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 และการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ในวันที่ 1 มิ.ย. พร้อมกับเน้นย้ำสร้างคุณภาพและสร้างความปลอดภัยให้กับสถานศึกษา เร่งพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ

โดยจะต้องพัฒนาครูควบคู่กัน เพื่อให้สามารถสอนตามหลักสูตรใหม่ด้วย และผลักดันให้นักเรียนเข้าใจประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชาติ ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

เข้มมาตรการป้องโควิด จับสลาก ป.1 สอบเข้า ม.1 ม.4

นอกจากนี้ประชุมรับทราบมาตรการการรับนักเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่ง สพฐ.ได้รับการอนุมัติจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ให้ดำเนินการจัดสอบคัดเลือกได้แล้วทั่วประเทศ โดยระดับชั้น ป.1 จะจับสลากวันที่ 15 พฤษภาคม ระดับชั้น ม.1 สอบวันที่ 22 พฤษภาคม และระดับชั้น ม.4 สอบวันที่ 23 พฤษภาคม

โดยระดับชั้น ป.1 จะให้ผู้ปกครองมาจับสลากเท่านั้น ส่วนการสอนม.1 และม.4 ให้มีการเว้นระยะห่าง จำกัดการใช้ห้องเรียน ไม่เกินห้องละ 20 คน และจัดเตรียมห้องสอบสำรอง กรณีผู้เข้าสอบอยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือมีอุณหภูมิร่างกายมากกว่าหรือเท่ากับ 37.5 องศาเซลเซียส เป็นต้น

ห่วงเด็กหาที่เรียนไม่ได้

นายเอกชัย กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ที่ประชุมห่วงเรื่องระยะเวลาการเตรียมตัวของนักเรียน เพราะเมื่อสอบเสร็จแล้ว โรงเรียนจะประกาศผลวันที่ 24-25 พฤษภาคม และให้นักเรียนรายงานตัววันที่ 29-30 พฤษภาคม ซึ่งใกล้กับวันเปิดภาคเรียน ในวันที่ 1 มิถุนายนมาก ถ้านักเรียนไม่มีที่เรียน ผู้ปกครองจะมีเวลาหาที่เรียนให้บุตรหลานหรือไม่

ซึ่ง นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. ชี้แจงให้ที่ประชุมทราบว่าผู้ปกครองสามารถหาที่เรียนให้นักเรียนทันแน่นอน เพราะผู้ปกครองจะมีที่เรียนลำดับรองลงมาให้กับนักเรียนหากสอบไม่ติดอยู่แล้ว และทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ได้ตั้งศูนย์ประสานงานการรับนักเรียนไว้แล้วผู้ปกครองสามารถมายื่นเรื่องเพื่อให้ สพท.จัดหาที่เรียนให้นักเรียนได้ทันก่อนเปิดเทอม

ประธาน กพฐ. กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงวันเปิดเรียนแล้ว แต่ถ้าพื้นที่ไหนยังมีการระบาดของ โควิด-19 อยู่ ตนมองว่าควรจะให้โรงเรียนมีอิสระในการบริหารจัดการเรียนการสอนตามบริบทของพื้นที่ได้ โดยให้โรงเรียนปรับรูปแบบการสอน ตามที่ สพฐ.กำหนดไว้ 5 รูปแบบ คือ คือ On-site เรียนที่โรงเรียน โดยมีมาตรการเฝ้าระวังตามประกาศของ ศบค., On-air เรียนผ่าน DLTV, On-demand เรียนผ่านแอพพลิเคชันต่างๆ, On-line เรียนผ่านอินเตอร์เน็ต, On-hand เรียนที่บ้านด้วยเอกสาร

“ที่ประชุมเป็นห่วงผู้ปกครองที่ส่งลูกไปเรียนโรงเรียนเอกชน หากช่วงนี้ประสบปัญหาทางการเงิน ต้องการย้ายนักเรียนเข้ามาเรียนโรงเรียนรัฐ สามารถทำได้หรือไม่ ซึ่ง สพฐ.ชี้แจงว่า ถ้าโรงเรียนของรัฐที่ผู้ปกครองทำเรื่องขอย้ายไปมีที่ว่างอยู่ ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหา โรงเรียนและ สพท.สามารถพิจารณารับนักเรียนเข้าเรียนได้

ทั้งนี้ที่ประชุมเป็นห่วงเรื่องการเรียนออนไลน์เช่นกัน โดยเฉพาะในระดับชั้นประถมศึกษา ถ้าผู้ปกครองบางกลุ่มต้องออกไปทำงานนอกบ้าน จะดูแลนักเรียนอย่างไร ซึ่งที่ประชุมเสนอว่าในระดับชั้นประถมศึกษา โรงเรียนอาจจะให้นักเรียนเข้ามาเรียนในโรงเรียน โดยอาจจะสลับวันมาเรียน เพื่อให้เด็กได้มาเรียนในโรงเรียนและไม่สร้างภาระให้ผู้ปกครองด้วย ส่วนนักเรียนระดับมัธยม นักเรียนเหล่านี้โตพอสมควรสามารถเรียนออนไลน์ที่บ้านได้อยู่แล้ว อาจจะไม่ต้องมาเรียนที่โรงเรียน” นายเอกชัย กล่าวต่อว่า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน