นักวิจัย ชี้ โรงงานกิ่งแก้วระเบิด สารก่อมะเร็งฟุ้ง ใช้หน้ากากอนามัยกันไม่ได้ สูดดมเข้าไปจะหมดสติ วิงเวียนศีรษะ ต้องอาศัยหน้ากากที่ป้องกันสารอินทรีย์

5 ก.ค. 2564 – รศ.ดร.กิติกร จามรดุสิต ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมนิเวศวิทยาอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึง เหตุระเบิดรุนแรงภายในบริษัท หมิงตี้เคมิคอล จำกัด ภายในซอยกิ่งแก้ว 21 อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ว่า บริษัทดังกล่าวเป็นโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกและพลาสติกขั้นต้นของประเทศจีนที่เข้ามาก่อตั้งในประเทศไทยนานกว่า 30 ปี

อีกทั้งเป็นโฟมพลาสติกประเภทสไตรีน โดยสารตั้งต้นที่ใช้ในการผลิต คือ สไตรีนมอนอเมอร์ เป็นชื่อเรียกของสารตั้งต้นโมเลกุลเล็ก ที่นำมาใช้สังเคราะห์ต่อเนื่องให้เป็นโมเลกุลใหญ่ขึ้นจนได้เป็นพอลิเมอร์หรือพลาสติก สารสไตรีนมีโครงสร้างหลักของโมเลกุลเป็นตัวเบนซีน ซึ่งเป็นไฮโดรคาร์บอนประเภทวงแหวน 6 เหลี่ยม จัดเป็นสารก่อมะเร็งและสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย

ตามข้อกำหนดแล้วต้องมีเฉลี่ยในชั้นบรรยากาศได้ไม่เกิน 1.7 ไมโครกรัมต่อปริมาตรอากาศ 1 ลูกบาศก์เมตร ค่าเฝ้าระวัง 24 ชั่วโมงไม่เกิน 7.6 ไมโครกรัมต่อปริมาตรอากาศ 1 ลูกบาศก์เมตร

“เมื่อเกิดระเบิดแล้วมีการเผาไหม้ สารเคมีเหล่านี้จึงเกิดการเผาไหม้แบบไม่สมบูรณ์ สังเกตได้จากควันไฟสีดำและสีเทา โดยการเผาไหม้ของไฮโดรคาร์บอนทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนมอนอออกไซด์ ซึ่งปนกับสารที่เป็นสารอินทรีย์ระเหยง่าย เมื่อสูดดมเข้าไปจะหมดสติ วิงเวียนศีรษะ และหากสูดดมสไตรีนกับเบนซีน จะเกิดการระคายเคืองระบบหายใจ และก่อมะเร็ง”

รศ.ดร.กิติกร กล่าวต่อว่า สิ่งกังวลผลกระทบระยะสั้นที่เห็นชัดเจน คือ การสูดดมเป็นปัญหา หน้ากากอนามัยที่ใช้ป้องกันโควิด-19 ไม่สามารถป้องกันได้เพราะเป็นสารอินทรีย์ระเหยง่าย ต้องอาศัยหน้ากากที่ป้องกันสารอินทรีย์ แต่จะปกคลุมอยู่นานแค่ไหนก็ต้องอาศัยโชคช่วยในเรื่องของลม ความชื้น และฝน หากฝนตกก็จะช่วยให้ลดในส่วนของควันก๊าซ แต่ก็จะส่งผลต่อในระยะยาว

หากสัมผัสกับความชื้นในอากาศ หรือมีฝนตก ก๊าซที่ลอยอยู่ในอากาศและสารตกค้างเหล่านี้จะตกลงสู่พื้นดินกระจายวงกว้างและส่งผลกระทบต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยรอบ เกิดการปนเปื้อนทั้งต้นไม้ แหล่งน้ำผิวดิน และไหลซึมลงแหล่งน้ำใต้ดินได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องวางแผนการบริหารจัดการไม่ให้ส่งผลกระทบในระยะยาว รวมถึงต้องมีแผนการบริหารจัดการกู้คืนสถานการณ์ในระยะยาว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน