ผงะ ทะเลบางแสน เขียวปี๋ ปลาตายเกลื่อน อ.ธรณ์ เผยสาเหตุ ชี้ทะเลแถวนี้กำลังแย่ จี้รัฐบาลใส่ใจเร่งแก้ปัญหา แพลงก์ตอนบลูม กำลังเป็นภัยคุกคาม ทำออกซิเจนในน้ำต่ำ สัตว์น้ำตาย กระทบประมง ท่องเที่ยว การเพาะเลี้ยง

วันที่ 7 ก.ย.2566 ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กกล่าวถึงกรณีน้ำทะเลบางแสนเป็นสีเขียว ว่า คำถามสำหรับคนบางแสน-ศรีราชาในปัจจุบัน ไม่ใช่น้ำเขียวคืออะไร แต่ถามว่าเมื่อไหร่น้ำจะเลิกเขียว ปลาจะเลิกตาย คนจะเล่นน้ำใสๆ ได้สมที่ตั้งใจมาเที่ยวทะเล

คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ – องค์การมหาชน (สสน.) วิเคราะห์ข้อมูลต่อเนื่องจากสถานีศรีราชา โดยดูจากข้อมูลย้อนหลัง บอกได้ว่าน้ำเขียวแถวนี้จะเกิดช่วงพฤษภาคม-ตุลาคม หมายความว่าขึ้นเดือนพฤศจิกายนเมื่อไหร่ น้ำจะดีขึ้น และดีต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงพฤษภาคมปีต่อไป สอดคล้องกับลมมรสุมที่พัดน้ำเขียวมาสู่ฝั่งด้านนี้ ยังเกี่ยวกับการไหลเวียนของกระแสน้ำในอ่าวไทย

อย่างไรก็ตาม ปีนี้เป็นปีเอลนีโญ ซึ่งจะแรงขึ้นเรื่อยๆ ไปจนสิ้นปี อาจเกิดความแปรปรวนที่ต้องตามต่อไป นอกจากนี้ ปรากฏการณ์น้ำเขียวที่ถี่ขึ้น ค่าออกซิเจนที่ต่ำลงบ่อยๆ ทำให้สัตว์น้ำตาย ทำให้ปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูมกำลังกลายเป็นภัยคุกคามรุนแรงทั้งต่อการประมง การเพาะเลี้ยง และการท่องเที่ยว นักวิทยาศาสตร์คงได้แต่บอกสถานการณ์ แต่การแก้ปัญหาจริงจังต้องช่วยกันมากว่านี้เยอะ โดยเฉพาะฝ่ายนโยบายรัฐบาล

สิ่งที่เกิดขึ้นคงพอเห็นแล้วว่าทะเลแถวนี้กำลังแย่ จะโปรโมตการท่องเที่ยวยังไง หากธรรมชาติแย่ อะไรมันก็ไม่เป็นอย่างใจฝัน หวังว่าปัญหานี้จะได้รับความสนใจจริงจัง ไม่งั้นความเดือดร้อนจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 7 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการเดินสำรวจชายหาดทะเลบางแสน ต.แสนสุข อ.เมือง จ.ชลบุรี เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ผ่านมา พบบรยากาศเงียบเหงา ไม่มีนักท่องเที่ยวตามแนวริมทะเลชายหาด และพบว่ามีปลาตายจำนวนมากหลายชนิด ลอยมาตายเกลื่อนชายหาด พบมีนักท่องเที่ยวบางส่วนกำลังเก็บเอาปลาใส่ในถุงจำนวน2ถุง เพื่อเก็บไปตากแดดให้แห้งไว้ทำอาหารให้แมวกินเพราะคนคงไม่กล้ากิน

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน