เป็นอีกบุคคลซึ่งอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ไทย สำหรับ คอนสแตนติน ฟอลคอน ซึ่งถูกนำมาเล่าเป็นตัวละครหนึ่งใน บุพเพสันนิวาส ที่ หลุยส์ สก๊อต ได้รับบทบาท โดยประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่า ฟอลคอน นั้นเป็นชาวต่างชาติที่เข้ามาในแผ่นดินอยุธยา และมีบทบาทมากในสมัยนั้น

โดยคอนสแตนติน ฟอลคอน ได้รับความไว้ใจและแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่คนไทย ซึ่งในท้ายที่สุดของชีวิตฟอนคอน ถูกประหารชีวิตในบั้นปลายของชีวิต

โดยปัจจุบันยังคงปรากฎบ้านของฟอลคอน ที่จ.ลพบุรี ซึ่งขณะนั้นถือเป็นเมืองหลวงแห่งที่ 2 ปัจจุบัน คือ บ้านหลวงรับราชทูต หรือ บ้านหลวงวิชาเยนทร์ ตั้งอยู่บนถนนวิชาเยนทร์ ห่างจากปรางค์แขกประมาณ 300 เมตร ทางทิศเหนือของพระนารายณ์ราชนิเวศน์


ประวัติศาสตร์ระบุว่า บ้านหลังนี้เป็นที่รับรองราชทูตที่มาเฝ้าฯ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่เมืองลพบุรี คณะราชทูตจากประเทศฝรั่งเศสชุดแรกที่เข้ามาเมื่อปี พ.ศ. 2228 และฟอนคอน ได้รับพระราชทานที่พักอาศัยให้ทางทิศตะวันตกของบ้านหลวงรับราชทูตแห่งนี้นี่เอง

โดยภายในบ้านพักใหญ่โต มีโบสถ์ภายในบ้าน ลักษณะของสถาปัตยกรรมในบ้านหลวงรับราชทูตบางหลัง สถาปัตยกรรมเป็นแบบยุโรปอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอาคารใหญ่ทางทิศตะวันออก ก่ออิฐถือปูนสูง 2 ชั้น หน้าต่างและซุ้มประตูแสดงให้เห็นลักษณะศิลปะตะวันตกแบบเรอเนสซองส์

ปัจจุบันบ้านหลวงรับราชทูต หรือ บ้านหลวงวิชาเยนทร์ แม้จะผ่านเวลามาหลายร้อยปีแต่ก็ยังเหลือความยิ่งใหญ่ไว้ให้คนรุ่นหลังได้เยี่ยมชมสถานที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้ โดยจะเปิดให้นักท่องเที่ยวทุกวัน

บ้านวิชาเยนทร์ล้อมรอบด้วยกำแพงสูงทั้ง 4 ด้าน หันด้านหน้าไปทางพระนารายณ์ราชนิเวศน์ พื้นที่ในบริเวณบ้านหลวงรับราชทูตแบ่งออกเป็น 3 ส่วน สังเกตได้จากประตูเข้าด้านหน้า ซึ่งสร้างไว้สำหรับเป็นทางเข้าออกแต่ละส่วน คือ ส่วนทิศตะวันตก ส่วนกลาง และส่วนทางทิศตะวันออก โดยส่วนทิศตะวันตกเป็นกลุ่มอาคาร ได้แก่ตึกใหญ่ 2 ชั้น หลังใหญ่ก่อด้วยอิฐถือปูน และอาคารชั้นเดียว แคบ ยาว ซุ้มประตูทางเข้าเป็นรูปโค้งครึ่งวงกลม เป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรป เป็นบ้านพักของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ และท้าวทองกีบม้า ภรรยา

ส่วนกลางมีอาคารที่สำคัญคือฐานของสิ่งก่อสร้างซึ่งสันนิษ ฐานว่าเป็นหอระฆัง และโบสถ์คริสต์ศาสนาซึ่งอยู่ทางด้านหลัง สถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างไทยกับยุโรป ซุ้มประตูทางเข้าเป็นรูปจั่ว ส่วนทิศตะวันออกเป็นกลุ่มอาคารใหญ่ 2 ชั้น มีบันไดขึ้นทางด้านหน้าเป็นรูปโค้งครึ่งวงกลม ลักษณะของสถาปัตยกรรมแบบยุโรป ซุ้มประตูทางเข้ามีลักษณะเช่นเดียวกันกับทางทิศตะวันตก เป็นบ้านพักของคณะทูตชาวฝรั่งเศส ขณะที่ด้านหลังเป็นถังเก็บน้ำ และด้านหน้าเป็นสนามหญ้า

ขอบคุณภาพจาก เฟซบุ๊ก บ้านวิชาเยนทร์

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน