เมื่อเร็วๆนี้ คณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) ได้เดินทางศึกษาดูงาน เรื่อง กัญชาทางการแพทย์ที่ประเทศแคนาดา ทั้งนี้ พบว่า เฟซบุ๊ก นพ.โสภณ เมฆธน ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) ได้เผยแพร่ภาพและเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางไปดูงานในครั้งนี้ ซึ่งพบว่า เป็นการปลูกในโรงเรือนขนาดใหญ่ เพื่อนำไปใช้ในกระบวนการสกัดเป็นยา เพื่อบำบัด รักษาโรค

ทั้งนี้ นพ.โสภณ เปิดเผยถึงการศึกษาดูงานว่า การปลูกกัญญาเพื่อรักษาโรค ที่แคนาดา เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เปิดดำเนินการมาได้ประมาณ 4-5 ปี โดยมีการปลูกภายในโรงเรือน เนื่องจากแคนาดาเป็นประเทศเมืองหนาว แต่กัญชาเป็นพืชเมืองร้อน จึงต้องมีการควบคุมอุณหภูมิและแสงไฟให้เหมาะสม ในการควบคุมคุณภาพของสารสำคัญในกัญชาให้เท่ากัน และมีการพัฒนาสายพันธุ์ ซึ่งทางนั้นระบุว่าสายพันธุ์ที่ดีที่สุดคือกัญชาสายพันธุ์ประเทศไทยที่ให้สารสำคัญได้มากและมีคุณภาพ ซึ่งจะมีสารสำคัญอยู่ 2 ตัวในการนำมาใช้ทางการแพทย์คือ สาร Cannabidiol (CBD) และ สาร Tetrahydrocannabinol (THC) ซึ่งมีผลต่อการรักษาที่แตกต่างกัน

สำหรับการนำมาใช้ทางการแพทย์ จะใช้ต้นกัญชาตัวเมียคือ ใช้ส่วนของดอก โดยส่งไปให้ผู้ป่วยที่ได้รับใบสั่งแพทย์ให้ใช้กัญชาในการรักษา และมีการนำดอกมาสกัดทำเป็นน้ำมันกัญชา สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับใบสั่งจากแพทย์เช่นกัน ส่วนการควบคุมนั้นโรงงานที่ผลิตต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาล การเข้าออกมีความปลอดภัยสูง เพราะจะมีการสแกนบัตรในทุกจุดที่เข้าไป เพื่อป้องกันกัญชาเล็ดรอดออกมาสู่ภายนอก และต้องมีการบันทึกรายละเอียดทั้งหมดว่ามีการปลูกเท่าไร ใช้ไปอย่างไร และต้องรายงานให้แก่รัฐบาลรับทราบ โดยกัญชาต้นหนึ่งราคาก็ตกกว่า 10,000 บาท

แคนาดาอนุญาตให้ใช้กัญชาในทางการแพทย์ตั้งแต่ปี 2554 แก้ลมชัก อาการปวด อนุญาตให้ผู้ป่วยปลูกเองได้สี่ต้น แต่มีปัญหาเรื่องการควบคุมคุณภาพเพื่อนำมาเป็นยาและการเก็บขายในตลาดมืด จึงออกกฏหมายควบคุมตั้งเป็นโรงงานผลิตโดยขออนุญาตจากรัฐบาล

ปัจจุบันโรงงานผลิตกัญชาของแคนาดา ถือเป็นโรงขนาดใหญ่ และอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ มีมูลค่าประมาณ 90,000 ล้านเหรียญ โดยโรงงานแห่งที่สองมีกระโจมปลูกต้นกัญชาพื้นที่ 1,000 ตารางเมตรจำนวน 26 กระโจม

ขอบคุณภาพ จากนพ.โสภณ เมฆธน

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน