กกท. เอาจริงเดินเครื่อง เฟ้นเพิ่ม 5 ศูนย์ฝึกกีฬาทั่วประเทศ ดันเป็นศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ หวังกระจายการพัฒนาสู่ระดับภูมิภาค

เมื่อวันที่ 25 ส.ค.63 ที่ห้องประชุม 1 ชั้น 4 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) หัวหมากพันโทรุจ แสงอุดม รองผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ฝ่ายกีฬาอาชีพและสิทธิประโยชน์ เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ National Training Center (NTC) ครั้งที่ 3/2563

ที่ประชุมได้มีการรับรองการประชุมครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จากนั้นได้มีการแจ้งเรื่องเพื่อทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามตัวชี้วัด สคร. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 โดยมีตัวชี้วัดเรื่องนักกีฬาที่เก็บตัวอยู่ในศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ จะต้องมีสมรรถภาพอยู่ในเกณฑ์ดีถึงดีมากก่อนเข้าร่วมการแข่งขัน ร้อยละ 100

โดยทางฝ่ายพัฒนากีฬาเป็นเลิศได้นำนักกีฬา 8 ชนิดกีฬา ประกอบด้วย เทควันโด, วอลเลย์บอล, เทเบิลเทนนิส, ยูโด, ยิงเป้าบิน, มวยสากล, ยิงธนูคนพิการ และยกน้ำหนักคนพิดาร รวมทั้งสิ้น 42 คนเข้าร่วมโครงการ และได้ทดสอบสมรรถภาพครั้งที่ 1 แล้ว และจะทดสอบอีกด้วยในเดือนกันยายน

ขณะที่อีกหนึ่งตัวชี้วัด สคร. กำหนดให้ศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติทั้ง 5 แห่ง (รวมส่วนกลาง และภูมิภาค) จะต้องมีการดำเนินงานในรูปแบบ NTC โดยฝ่ายพัฒนากีฬาเป็นเลิศ ได้สำรวจทั้ง 4 จังหวัด ประกอบด้วย สนามกีฬา 80 พรรษา 5 ธันวา 2550 จ.นครราชสีมา, สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี จ.เชียงใหม่, ศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติมวกเหล็ก จ.สระบุรี และศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติภาคใต้ สนามพรุค้างคาว จ.สงขลา จำนวน 2 ครั้ง โดยแต่ละแห่งต่างมีความพร้อมด้านสถานที่ แต่ชำรุดตามอายุการใช้งาน โดยมีเพียงที่ จ.สงขลา มีความทรุดโทรมมาก เนื่องจากอุทกภัย เมื่อปี 2553

ฝ่ายกีฬาเป็นเลิศได้ชี้แจงปัญหา และอุปสรรคของการดำเนินงานศูนย์ฝึกกีฬาอาชีพ โดยระบุว่า 1.ขาดบุคลากร และผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา 2.ขาดงบประมาณสำหรับการปรับปรุง ซ่อมแซม และจัดหาอุปกรณ์ใหม่มาทดแทน และ 3.เครื่องมือ และอุปกรณ์บางประเภทเป็นอุปกรณ์ทดแทน แต่ไม่ใช่อุปกรณ์เฉพาะทาง จึงจำเป็นต้องจัดหาเพิ่ม เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน

จากนั้นที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องแผนการดำเนินการตามตัวชี้วัดของ สคร. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 โดยพิจารณาคัดเลือกชนิดกีฬาใหม่เข้าร่วมโครงการอีก 1 ชนิดกีฬา และสำรองอีก 1 ชนิดกีฬา ซึ่งได้เสนอเข้ามา 3 ชนิดกีฬา ประกอบด้วย จักรยาน, วีลแชร์เรซซิ่ง และวีลแชร์แบดมินตัน โดยจะมีการพิจารณาคัดเลือกกันต่อไป

นอกจากนี้ ยังได้มีการพิจารณาศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติที่มีการดำเนินการตามรูปแบบ NTC ในส่วนภูมิภาคในปี 2564 เพิ่มเติมจำนวน 5 ศูนย์ (รวมทั้งหมด 10 ศูนย์) ซึ่งมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกจากความพร้อม 6 ด้าน ประกอบด้วย 1.สนามฝึกซ้อมและอุปกรณ์ 2.สถานที่พัก 3.ห้องฝึกกล้ามเนื้อ 4.ห้องโภชนาการ 5.ห้องสันทนาการ และ 6.ศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา

ทั้งนี้ศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาในระดับจังหวัด และระดับภูมิภาค ได้พิจารณาเบื้องต้นจากความพร้อมด้านต่างๆ ของศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ โดยมีรายชื่อจังหวัด ดังนี้ ราชบุรี, สุรินทร์, อุดรธานี, สุราษฎร์ธานี, ภูเก็ต และเชียงราย

พันโทรุจ กล่าวว่า ศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติจะไม่ได้อยู่เพียงส่วนกลางเท่านั้น แต่จะกระจายไปตามส่วนภูมิภาค เพื่อการพัฒนากีฬาลงสู่ระดับภูมิภาคในจังหวัดต่างๆ โดยในการส่วนของการเพิ่มเติมศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ 5 แห่งในรูปแบบ NTC นั้น ก็ได้รับในหลักการเบื้องต้นจากลิสต์รายชื่อจังหวัดที่เสนอเข้ามา และจะนำไปพิจารณากับทาง ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท.ต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน