การทำงานกีฬามาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2510 ทำให้ “บิ๊กจา” พลตรีจารึก อารีราชการัณย์ รองประธานและเลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยมีโอกาสถวายงาน และ เข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯบ่อยครั้ง

01

“ผมเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในสนามกีฬาศุภชลาศัยในวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงรับเหรียญทองกีฬาเรือใบในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 บรรยากาศวันนั้นยังประทับใจไม่ลืม เพราะเหตุการณ์ในวันนั้นกลายเป็นวันกีฬาแห่งชาติจวบจนทุกวันนี้ ตอนนั้นผู้คนเข้ามาเต็มสนามแข่งขันและโห่ร้องยินดีกับเหรียญทองประวัติศาสตร์ดังกล่าว ตัวผมเองก็พยายามเข้าไปอยู่ใกล้ที่สุดเท่าที่เจ้าหน้าที่คนหนึ่งจะเข้าได้”
นอกจากความเป็นปราชญ์ด้านการกีฬาซึ่งเป็นที่ประจักษ์แล้ว ยังทรงเป็นปราชญ์ในด้านอื่นด้วยโดยเฉพาะด้านดนตรีซึ่งพระราชนิพนธ์ต่างๆเป็นที่ยอมรับในระดับโลก

20121217163628“เมื่อครั้งไปร่วมประชุมกีฬาทหารโลกที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส นพ.รุ่งธรรม ลัดพลี แพทย์ประจำพระองค์ฝากซื้อทรัมเป็ตเพื่อจะนำไปถวายในหลวงฯ เนื่องจากทรัมเป็ตตัวเดิมที่พระองค์ทรงอยู่นั้นค่อนข้างเก่าแก่แล้ว โดยจดที่อยู่ให้อย่างละเอียด แต่ก็หายากอยู่ดี ผมก็เดินไปหาในซอกซอยที่สลับซับซ้อน พอเปิดประตูร้านเข้าไปพบพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงขนาดใหญ่ติดอยู่ในร้าน เจ้าของร้านถามว่าเป็นคนไทยเหรอ ผมก็บอกว่าใช่ เขาบอกว่าพ่อเคยบอกว่าในหลวงของพวกคุณเคยมาที่นี่ และทรงซื้อทรัมเป็ตที่ร้านนี้ไป ซึ่งสุดท้ายเจ้าของร้านไม่ยอมรับเงินใดๆเลย เมื่อทราบว่าจะซื้อไปถวายในหลวง”

รวมถึงพระอัจฉริยภาพทางศิลปะ ที่ครั้งหนึ่งทรงรับคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ รวมทั้งพระราชทานตราสัญลักษณ์ที่วงการกีฬาโลกยอมรับว่าเป็นตราโอลิมปิกที่สวยที่สุดชาติหนึ่งด้วย “ช้างเผือกเป็นสัตว์คู่พระบารมี คู่บ้านคู่เมืองของไทย เมื่ออยู่คู่กับตราสัญลักษณ์ 5 ห่วงของโอลิมปิกจึงลงตัวมาก เวลาไปแข่งกีฬาต่างประเทศนักกีฬาต่างชาติมักจะให้ความสนใจและสอบถามความเป็นมาเสมอ มีหนหนึ่งผมเคยถูกถามว่า เมื่อไรจะเปลี่ยนตรานี้เสียทีเพราะเขาไม่รู้ ผมตอบเพียงว่าในหลวงพระราชทานไว้ ”

14725356_1284738934881041_1391621899_o

และการทำงานในวงการกีฬาต้องประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งค่อนข้างวุ่นวายและสร้างปัญหาให้กับตัวพลตรีจารึกหลายต่อหลายครั้ง จนมีเหตุต้องแตกหักกับนักการเมือง เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติไว้ และเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ พลตรีจารึก จดจำไปชั่วนิรันดร

14800723_1284738954881039_769342626_n

 

“ในการเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 เมื่อพ.ศ.2541 มีการใช้งบประมาณที่อาจจะเกิดปัญหาขึ้นได้ ผมเองพยายามต่อต้านอย่างสุดความสามารถ สุดท้ายผมมีความเห็นไม่ตรงกับนักการเมืองท่านหนึ่ง และเพื่อปกป้องผลประโยชน์ และงบประมาณของประเทศไว้ และตัดสินใจลาออกเพราะคิดว่าทำต่อไปไม่ไหวแล้ว หลังจากนั้นสัปดาห์มีโทรศัพท์จากสำนักราชวังแจ้งให้ผมเตรียมเข้ารับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นจุลจอมเกล้า ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดที่ระดับนายพลจะได้เท่านั้น ผมเองก็สอบถามไปด้วยซ้ำว่า โทรผิดหรือเปล่า แต่ปลายสายยืนยันตามนั้น”

 

“กระทั่งหมอรุ่งธรรม(เพื่อนสนิทตั้งแต่สมัยเรียนร.ร.กรุงเทพคริสเตียน) มาเล่าให้ฟังว่า เหตุการณ์วันที่มีปัญหานั้นสื่อมวลชนนำไปออกโทรทัศน์ พระองค์ท่านทอดพระเนตรอยู่และสอบถามว่า คนนี้เป็นใคร ให้เขาทำงานต่อไป อย่าให้เขาออก ผมเองรู้สึกซาบซึ้งพระมหากรุณาธิคุณ ก็แอบกังวลว่าคงไม่มีอะไรให้ทำ เนื่องจากลาออกไปแล้ว แต่หลังจากนั้นมีการเปลี่ยนรัฐบาลผมจึงถูกเรียกตัวกลับเข้าไปทำงานอีกครั้ง ซึ่งการรับสั่งผ่านมานั้นทำให้ผมเองยังคงทำงานเพื่อรับใช้ชาติต่อไปจนถึงทุกวันนี้ เพราะเชื่อว่าการทำงาน การทำความดี ไม่มีใครเห็น ฟ้าก็เห็น”

05

นับจากนั้น พลตรีจารึก มีโอกาสเข้าเฝ้าฯอีกหลายครั้ง โดยครั้งหนึ่งคือการเข้าเฝ้าเพื่อถวายบัตรประจำพระองค์ของเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 13 เพื่อใช้ในพิธีเปิดการแข่งขัน พระองค์รับและทรงนำคล้องทันทีพร้อมกับตรัสว่า “เราเป็นนักกีฬาแล้ว” ครั้งนั้นพระองค์ก็ทรงพระราชทานไฟพระฤกษ์ของเอเชี่ยนเกมส์โดยทรงใช้แว่นสุริยกานต์กรอบทองลงยารวมแสงอาทิตย์จุดไฟพระฤกษ์ เช่นเดียวกับที่พิธีจุดไฟโบราณของโอลิมปิกที่เมืองโอลิมเปีย ประเทศกรีซ โดยพระองค์ฯเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการแข่งขันที่ไทยด้วยพระองค์เองทุกครั้ง

03

 

 

นับแต่กีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 1 พ.ศ.2502, ครั้งที่ 4 พ.ศ.2510, ครั้งที่ 8 พ.ศ. 2518, ซีเกมส์ ครั้งที่ 13 พ.ศ.2528, ครั้งที่ 18 พ.ศ.2538 เอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 5 พ.ศ.2509, ครั้งที่ 6 พ.ศ.2513, ครั้งที่ 8 พ.ศ. 2521 และ ครั้งที่ 13 พ.ศ.2541 ซึ่งครั้งที่ 13 เป็นครั้งแรกในมหกรรมกีฬาโลกก็ว่าได้ที่ พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์เสด็จมาพร้อมกัน

 

 

 

 

ครั้งที่ประทับใจที่สุดคือการนำนักกีฬาเหรียญโอลิมปิกเกมส์ “เอเธนส์ 2004” เข้าเฝ้าฯที่วังไกลกังวล โดยพระองค์รับสั่งอย่างเป็นกันเอง แรกเริ่มนำเหรียญที่นักกีฬาทุกคนถวายใส่ถาดไว้และนำไปวางไว้อีกแห่งหนึ่ง

06

 

“พระองค์ตรัสขอบคุณนักกีฬาที่สร้างชื่อเสียงให้ประเทศ เพราะการได้เหรียญโอลิมปิกเกมส์เพียงเหรียญเดียวทำให้โลกรู้จักประเทศไทยได้เร็วที่สุดกว่าวิธีอื่น พอช่วงท้ายก็รับสั่งให้ข้าราชบริพารนำเหรียญดังกล่าวมาและทรงพระราชทานคล้องเหรียญคืนให้นักกีฬาทุกคน พร้อมกับตรัสว่าขอให้เก็บไว้ ทุกคนทำมาด้วยหยาดเหงื่อของชีวิต ขอให้เก็บไว้ให้วงศ์ตระกูล เหตุการณ์วันนั้นสร้างความปลื้มปีติเป็นอย่างมาก และที่ทรงรับสั่งเสมอยามที่นักกีฬาเข้าเฝ้าฯคือทรงตรัสเป็นพระองค์แรกและทรงย้ำเสมอว่าการเดินทางไปแข่งขันกีฬา นักกีฬาถือเป็นทูตทางการกีฬาของประเทศของให้ทำผลงานให้ดีที่สุด แพ้ไม่เป็นไร กีฬามีแพ้ชนะ”

“ทูตทางการกีฬา” จึงเป็นคำสอนสำคัญของนักกีฬาทีมชาติไทยจวบจนทุกวันนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน