…• “ธรรมะปฏิบัติที่ไหนก็ได้ เวลาใดก็ได้ ใครๆ ก็ปฏิบัติได้ ปฏิบัติเมื่อไหร่ ที่ไหน…ทุกข์ก็ไม่เกิดเมื่อนั้น ที่นั่น” สารธรรมมงคล หลวงพ่อชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี
…• “หลวงพ่อซ้ง อินทสโร” อดีตเจ้าอาวาสวัดดอนตาเพชร ต.ดอนตาเพชร อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี อดีตพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง เหรียญปั๊มรูปเหมือน ในห้วงที่ยังดำรงขันธ์อยู่นั้น ไม่ได้มีการสร้างเอาไว้เลย จะมีก็เพียงเครื่องรางของขลังเท่านั้น เหรียญดังกล่าวสร้างขึ้นหลังจากละสังขารแล้ว จึงถือเป็นรุ่นแรกและรุ่นเดียว สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2499 ที่ระลึกในฌาปนกิจ มีเฉพาะเนื้อทองแดงกะไหล่ทองและเนื้อทองแดงเท่านั้น ได้พระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้นร่วมกันปลุกเสก
…• ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปเสมา แบบมีหูในตัว ด้านหน้าเป็นรูปจำลองครึ่งกายห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปเขียนคำว่า พระอุปัชฌาย์ซ้ง ด้านหลังมียันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ใต้ยันต์เขียนคำว่า ที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพ พระอุปัชฌาน์ซ้ง วัดดอนตาเพ็ชร์ ๒๔๙๙ หลังจัดสร้างแล้วเสร็จ ปรากฏว่าได้รับความนิยมอย่างมาก ถึงแม้จะเป็นเหรียญตาย สร้างหลังมรณภาพไปแล้วก็ตาม
…• “หลวงพ่อชุ่ม จันทโชติ” อดีตเจ้าอาวาสรูปแรกวัดอุทุมพรทาราม หรือวัดท่ามะเดื่อ ต.สวนกล้วย อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี พระเกจิที่มีพุทธาคม สร้างตำนานปาฏิหาริย์ปราบผี จนเป็นที่เลื่อมใสศรัทธา ทั้งนี้ เหรียญหลวงพ่อชุ่ม วัดท่ามะเดื่อ รุ่นแรก จัดสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2463 เป็นเหรียญรูปไข่
…• ด้านหน้าเป็นรูปเหมือนครึ่งองค์ ซ้อนวงกลม 2 ชั้น ด้านในวงกลมล่างเป็นโบซ้อน ระบุ พ.ศ.2463 ขอบเหรียญด้านหน้าเขียนอักขระขอมล้อมรอบวงกลม ส่วนด้านบนมีหูเชื่อม ด้านหลังเขียนเป็นอักขระ ด้านล่างเขียน “ไว้เปนที่ระฤก” เหรียญดังกล่าวได้รับการยอมรับและเป็นที่นิยม
…• “วัดพระซอง” ต.พระซอง อ.นาแก จ.นครพนม เดิมเป็นวัดรกร้าง เคยเป็นที่ตั้งฐานหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ (นพค.32) ภายในอุโบสถวัดประดิษฐาน “หลวงพ่อพระซอง” พระพุทธรูปหินทรายปางสมาธิ ศิลปะขอมโบราณ อายุกว่า 2,000 ปี ในปี พ.ศ.2519 หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ (นพค.) จัดสร้างวัตถุมงคล เป็นเหรียญหลวงพ่อพระซอง มอบให้กับวัดและแจกทหารในสังกัด
…• ลักษณะเป็นทรงรูปไข่ มีหูห่วง ด้านหน้าตรงกลางเหรียญประดิษฐาน “หลวงพ่อพระทอง” ประดิษฐานบนแท่นบุษบกกลีบบัวหงาย 1 ชั้น ลอยนูนโดดเด่น ด้านหลังเส้นขอบล้อมด้วยจุดไข่ปลา ใต้หูห่วงมีลายเส้นยันต์ “นะอกแตก” กำกับด้วยอักขระ 4 ตัว ถัดลงมามีเส้นนูนคล้ายใบโพธิ์ ในวงเส้นมีตราสัญลักษณ์ของหน่วยทหารพัฒนา กองบัญชาการทหารสูงสุด บรรทัดล่างสุดสลัก “นพค.” อักษรย่อชื่อหน่วย และ “นพ.19” ชื่อย่อนครพนม และปีย่อพุทธศักราชที่สร้าง
อริยะ เผดียงธรรม
[email protected]