โลกร้อน ผุดเทคนิคดักจับCO2ในอากาศแบบใหม่-ขจัดก๊าซได้ดีราคาถูกขึ้น

โลกร้อน – วันที่ 9 มี.ค. บีบีซีรายงานความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หนึ่งในสาเหตุของปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หรือโลกร้อน ล่าสุด เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ทำให้การดักจับก๊าซโลกร้อนจากอากาศมีประสิทธิภาพมากขึ้นและราคาถูกขึ้นด้วย

นวัตกรรมดังกล่าวเป็นฝีมือและความร่วมมือของคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยชั้นนำจากประเทศสหรัฐอเมริกากับประเทศจีน เพื่อปรับปรุงกระบวนการดักจับก๊าซโลกร้อนออกจากอากาศโดยตรง (Direct Air Capture – DAC) ให้มีต้นทุนต่ำลงและประสิทธิภาพมากกว่าเดิม

เทคโนโลยี DAC นั้นปัจจุบันถูกนำมาใช้แล้ว โดยบริษัทไคลม์เวิร์กส์ (Climeworks) หนึ่งในบริษัทชั้นนำจากสวิตเซอร์แลนด์ที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีข้างต้นตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีลักษณะเป็นโรงงานขนาดย่อมที่มีเครื่องดูดอากาศเพื่อดักจับโมเลกุลก๊าซโลกร้อนในชั้นบรรยากาศ

โลกร้อน

โรงงานดักจับก๊าซโลกร้อนของบ.ไคลม์เวิร์กส์ (Climeworks)

หนึ่งในโรงงานของไคลม์เวิร์กส์ตั้งอยู่ที่ประเทศไอซ์แลนด์ โดยหลังดักจับโมเลกุลของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้แล้วก็จะฉีดลงไปเก็บไว้ใต้ดิน ซึ่งจะกลายเป็นหินอย่างถาวร

ไคลม์เวิร์กส์มีโมเดลธุรกิจรับดักจับก๊าซโลกร้อน โดยมีลูกค้าเป็นเอกชนยักษ์ใหญ่หลายแห่ง อาทิ ไมโครซอฟท์ (Microsoft) สปอติฟาย (Spotify) และสไตร์บ (Stripe) อย่างไรก็ดี หนึ่งในปัญหาใหญ่ของเทคโนโลยี DAC คือ มีต้นทุนสูง

รายงานระบุว่า ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แม้จะมีความสามารถในการก่อโลกร้อนสูงแต่ในอากาศนั้นถือว่ามีความเจือจางมากอยู่ที่ประมาณ 400 ส่วนในล้านส่วน (part per million – ppm) เทคโนโลยี DAC จึงต้องใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่เพื่อสูบและแยกก๊าซโลกร้อนออกจากอากาศ

ศาสตราจารย์อารุป เซ็นกุปตา ผู้นำคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยลีไฮ รัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า เทคนิคใหม่ที่ใช้นั้นเป็นปฏิกิริยาเคมีจากสารประเภทเรซินผสมกับสารเคมีอื่นๆ พบว่าสามารถดักจับก๊าซโลกร้อนดังกล่าวได้มากเป็น 3 เท่า ของเทคนิคเดิม

ศ.เซ็นกุปตา ระบุว่า เทคนิคที่ทางคณะวิจัยคิดค้นขึ้นนั้นดัดแปลงมาจากเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการกรองน้ำ ซึ่งนอกจากประสิทธิภาพการดักจับที่เพิ่มขึ้นและต้นทุนที่ลดลงแล้ว ยังรวมถึงการกำจัดก๊าซโลกร้อนที่สะดวกขึ้นกว่าเดิมด้วย

โลกร้อน

คอนเซ็ปต์ทางปฏิกิริยาเคมีของคณะนักวิจัย (Science Advances)

หนึ่งในความท้าทายของเทคโนโลยี DAC นั้นเป็นการกำจัดก๊าซโลกร้อน ปัจจุบัน นิยมอัดฉีดลงไปเก็บไว้ในบ่อน้ำมันเก่า หรือในชั้นหินใต้ดินและใต้ทะเล แต่เทคนิคใหม่นั้นจะเปลี่ยนก๊าซนี้กลายเป็นไอออนประจุลบชนิดไบคาร์บอเนตนำไปเก็บไว้ในน้ำทะเลได้อย่างปลอดภัย

ผู้นำคณะนักวิจัย กล่าวต่อว่าต้องการที่จะนำเทคนิคข้างต้นไปพัฒนาต่อ เพราะเชื่อว่า DAC จะเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่สำคัญในการสกัดกั้นอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่กำลังเพิ่มขึ้นได้

ก่อนหน้านี้ บรรดานักวิทยาศาสตร์พยายามหลีกเลี่ยงที่จะให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีลดโลกร้อนแบบใหม่ รวมถึง DAC มากเกินไป เนื่องจากอาจส่งผลให้รัฐบาลของแต่ละชาติเริ่มเตะถ่วงการปฏิรูปประเทศไปสู่พลังงานสะอาด และผู้คนตระหนักถึงภัยโลกร้อนน้อยลง

ทว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกกำลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนใกล้เกินเส้นตายที่กำหนดไว้โดยความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส หรือข้อตกลงปารีส เมื่อปี 2559

แรงกดดันดังกล่าวทำให้เทคโนโลยี DAC กลายเป็นหนทางที่นักวิทยาศาสตร์ยอมรับว่าเป็นไปได้มากที่สุดในการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อสกัดกั้นภัยจากโลกร้อน

ศ.เคลาส์ แล็กเนอร์ หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำด้านการพัฒนาเทคโนโลยี DAC กล่าวว่า เชื่อมั่นในเทคโนโลยีข้างต้น เพราะจะมีบทบาทมากขึ้นในอนาคต รวมถึงมีต้นทุนที่ลดลงด้วย

เช่นเดียวกันกับ ศ.เซ็นกุปตา ที่มองว่า เทคนิคใหม่ที่คณะวิจัยคิดค้นนั้นจะสามารถลกต้นทุนของ DAC ลงเหลือราว 100 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3,500 บาทต่อการดักจับก๊าซหนัก 1 ตัน ผู้สนใจรายละเอียดสามารถศึกษาต่อได้ที่เว็บไซต์วารสารไซแอน แอดวานซ์ (Science Advances)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน