เจ้าหน้าที่เร่งสูบน้ำ-เคลียร์ทาง ถ้ำหลวง นำ 13 ชีวิตออกจากถ้ำหลวง ด้าน แพทย์ ระบุ โรงพยาบาลพร้อมรับตัวรักษา เผยวิธีการรักษา จัดพยาบาลดูแลตัวต่อตัว คาดใช้เวลารักษา 7 วัน

เจ้าหน้าที่ช่วยกันขนถังออกซิเจนและวางเชือกภายในถ้ำ

ถ้ำหลวง / เมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ทหารจากหลายหน่วยทั้งจาก ฉก.ม.3, กองกำลังผาเมือง, มณฑลทหารบกที่ 34, มณฑลทหารบกที่ 37, กองพลทหารราบที่ 4, กองพลทหารราบที่ 7, กองกำลังนเรศวร และกองกำลังผาเมือง ต่างระดมกำลังกันขนย้ายระบบกระแสไฟฟ้าเข้าไปติดตั้งเพิ่มเติมภายในถ้ำหลวงดังกล่าว

โดยเป็นระบบส่งกระแสไฟฟ้าที่มีความยาวเป็นระยะทางประมาณ 1,500 เมตร เพื่อนำไปต่อเพิ่มเติมถึงบริเวณห้องโถงที่ 3 จากนั้น มีแผนจะติดตั้งระบบสูบน้ำให้ถึงระยะกว่า 3,000 เมตร เพื่อสูบน้ำจากสามแยกภายในถ้ำก่อนจะเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ห้องโถงที่เป็นแอ่งน้ำกว้างและหาดพัทยาต่อไป ขณะที่กลุ่มเด็กๆ และผู้ฝึกสอน รวม 13 คนติดอยู่บนเนินนมสาวห่างจากหาดพัทยาออกไปอีกประมาณ 400 เมตร

เร่งวางเชือกให้ 13 ชีวิตใช้เกาะออกจากถ้ำ

รายงานข่าวจากเจ้าหน้าที่แจ้งว่า ภายในถ้ำบริเวณที่จะสูบน้ำเจ้าหน้าที่ยังได้โยงเชือกเพื่อให้เด็กๆ ได้ใช้จับเดินออกมาเป็นทางก่อนถึงสามแยกและห้องโถงที่ 3 ตามลำดับ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยคาดว่าจะใช้เวลาตลอดทั้งวัน ขณะที่สำนักงาานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เขต 15 และสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 ได้ลำเลียงขวดอากาศ 70 ขวด จากปากถ้ำเข้าไปภายในถ้ำ เพื่อนำไปติดตามจุดให้เด็กๆ ที่จะเดินออกมาใช้ตามรายทาง รวมทั้งมีการปรับปรุงสถานที่บริเวณปากถ้ำและจัดระเบียบเพื่อความสะดวกในการเคลื่อนย้ายออกจากถ้ำไปยังรถพยาบาล

ด้า นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตที่ 1 นพ.ไชยเวช ธนไพศาล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ร่วมกันแถลงข่าว ที่ตึกสงฆ์อาพาธ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ อ.เมือง จ.เชียงราย ว่า ปัจจุบันได้เตรียมการรองรับการดูแลรักษาทั้ง 13 คนด้วยการจัดเตียงรักษาในห้องพิเศษ มีพยาบาลดูแลคนต่อคน มีห้องพักญาติให้พร้อมสรรพ

เจ้าหน้าที่เร่งขนถังออกซิเจนเข้าไปภายในโถง 3

นพ.ธงชัย กล่าวว่า ส่วนการรักษานั้น หลังจากคัดกรองแล้วก็จะมีการเจาะเลือดเพื่อตรวจเชื้อ เพราะอยู่ในถ้ำมานานหลายวัน และอาจจะมีสัตว์ต่างๆ ที่เป็นพาหนะ เช่น หนู ค้างคาว ฯลฯ และมีแพทย์เฉพาะทางดูแลอาการต่างๆ โดยเฉพาะจักษุแพทย์เพราะอยู่ในถ้ำมืดมาร่วม 10 วัน ซึ่งการดูแลรักษาจะใช้เวลาประมาณ 7 วัน จนร่างกายฟื้นคืนสู่ภาวะปกติ

นพ.ธงชัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ทางโรงพยาบาลยังมีการแจกการ์ดให้เจ้าหน้าที่ที่เข้าไปปฏิบัติงานภายในถ้ำด้วย โดยหากพบว่ามีอาการผิดปกติก็สามารถนำการ์ดไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลได้ต่อไป

เจ้าหน้าที่ทหารช่วยกันวางเชือกภายในถ้ำหลวง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน