แม่ชัยภูมิร่ำไห้ ลูกชายไม่ได้รับความยุติธรรม ญาติลั่นถามหาคนรับผิดชอบ ทำลายชื่อเสียงครอบครัว ชี้คนยากจนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมยาก มั่นใจภาพจากกล้องวงจรปิดไม่หาย

 

แม่ชัยภูมิ / เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 14 ก.ค. ที่สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน กรุงเทพฯ เครือข่ายติดตามความคืบหน้าคดีวิสามัญฆาตกรรมนายชัยภูมิ ป่าแส และนายอะเบ แซ่หมู่ จัดเสวนาวิชาการเรื่อง “วิสามัญฆาตกรรมและปริศนาความยุติธรรรมทางอาญาที่ยังไม่เกิด”

นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวถึงภาพรวมสถานการณ์วิสามัญฆาตกรรมในประเทศไทยว่า การที่เจ้าหน้าที่รัฐจะกระทำความรุนแรงถึงชีวิต ควรมีเหตุจำเป็น เช่น การป้องกันตัวเองหรือผู้อื่น ส่วนอาวุธควรมีความเหมาะสมต่อการตอบโต้ ไม่ใช่ว่าผู้เสียชีวิตมีมีดมีไม้ แต่เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธสงคราม

อังคณา นีละไพจิตร

และหากเกิดเหตุขึ้นแล้วควรไต่สวนการตายทุกกรณี เรียกผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างสถาบันตุลาการกับตำรวจ แต่ที่ผ่านมาไม่มีการไต่สวนการตายทุกกรณี เพราะเจ้าหน้าที่อ้างว่าญาติไม่ติดใจ

นางอังคณา กล่าวต่อว่า ช่วงหนึ่งของรัฐบาลได้ประกาศนโยบายกับยาเสพติด ซึ่งคณะกรรมการอิสระได้รวบรวมจำนวนคดีฆาตกรรมคดียาเสพติด มีทั้งสิ้น 1,187 คดี มีผู้เสียชีวิต 1,370 คน ไม่รวมคดีวิสามัญฆาตกรรมอีก 35 คดี มีผู้เสียชีวิต 41 คน

กรณีการวิสามัญฆาตกรรมของนายชัยภูมิและนายอะเบ เป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจ เพราะเป็นเยาวชนและเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ขณะที่ประจักษ์พยานและญาติได้ชี้แจงว่าทั้งคู่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ขณะที่ภาพจากกล้องวงจรปิดไม่ถูกเปิดเผย ทำให้ผลการไต่สวนการตายไม่สามารถชี้ชัดว่าใครทำให้ตาย นี่คือปัญหาของกระบวนการยุติธรรม

“การฆ่านอกกระบวนการยุติธรรมที่กฎหมายให้เจ้าหน้าที่รัฐทำได้ เจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ที่ทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต แต่ยังมีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานส่งให้ศาลไต่สวน จึงเกิดปัญหาการถ่วงดุล ดังนั้นควรมีหน่วยงานอิสระมาช่วยในการรวบรวมหลักฐาน

อีกทั้งประจักษ์พยานและญาติควรได้รับการเยียวยาด้วยความยุติธรรม มีการคุ้มครองพยาน โดยเฉพาะสิทธิในการรับรู้ความเป็นจริง แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ประจักษ์พยานและญาติมีความหวาดกลัว และพวกเขาไม่ยินดีที่จะให้บันทึกถ้อยคำเพราะกลัวถูกคุกคาม” กสม. กล่าว

จากนั้นมีการพูดคุยถึงความคืบหน้าล่าสุดของคดีวิสามัญชัยภูมิ ป่าแส และนายอะเบ แซ่หมู่ โดยนางอะหมี่มะ แซ่หมู่ มารดาของนายอะเบ เผยความรู้สึกว่า ขณะที่ลูกชายมีชีวิตอยู่ก็ดูแลครอบครัวเป็นอย่างดี แต่เมื่อลูกชายเสียชีวิตไปอย่างกะทันหันก็รู้สึกเสียใจอย่างบอกไม่ถูก ไม่มีกำลังใจจะทำอะไร เหมือนหัวใจที่แตกสลาย

แม่ของอาเบ ร่ำไห้ด้วยความคับแค้นใจที่ลูกชายไม่ได้รับความยุติธรรม

ตอนลูกเสียชีวิตจะขอดูศพ ทหารก็ไม่ให้ดู ทหารไม่เคยมาติดต่อ ไม่มีน้ำใจ และมีคนเคยมาติดต่อให้เงิน 3 แสนเพื่อให้เรื่องจบ แต่ตนไม่เอา ถึงแแม้ บ้านจะผุพัง ไม่มีเงิน แต่ครอบครัวไม่เคยคิดค้ายาบ้าหรือค้าอาวุธมีระเบิดไว้ในบ้าน หากรับเงิน 3 แสนจะทำให้ทหารได้ใจและไปทำกับคนอื่นอีก อยากให้ลูกได้รับความเป็นธรรมจากการตายครั้งนี้

ขณะที่ นางนาปอย ป่าแส มารดาของนายชัยภูมิ กล่าวเสริมว่า ไม่มีใครมารับรู้ปัญหาและความทุกข์ของตนเลย รู้สึกเสียใจมากที่ลูกชายไม่ได้รับความยุติธรรมจากสังคม

แม่ของชัยภูมิ ร่ำไห้ ขณะพูดบนเวที

ด้าน นายไมตรี จำเริญสุขสกุล ประธานกลุ่มรักษ์ลาหู่ ผู้ดูแลชัยภูมิ กล่าวว่า หลายครั้งที่ต้องเผชิญเหตุการณ์เช่นนี้ อยากถามคำถามว่า หากชาวลาหู่เป็นผู้ฆ่าทหาร ชาวลาหู่จะยังรอดหรือไม่ ตรงกันข้ามในขณะนี้ที่ยังไม่สามารถเอาผิดคนฆ่าชัยภูมิได้

อีกทั้งหลังจากที่นายชัยภูมิถูกยิงจนเสียชีวิต ก็มีการตั้งข้อหากับญาติของนายชัยภูมิอีก 2 คน ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติดทั้งที่ไม่ใช่เรื่องจริง ต้องใช้เงินประกัน 2 ล้านบาท ซึ่งเราได้รับโอกาสจากกองทุนยุติธรรมจังหวัด แต่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว เพราะกลัวหลบหนี สุดท้ายคนที่ไม่มีความผิดต้องอยู่ในเรือนจำถึง 1 ปีเต็มๆ

นายไมตรี กล่าวว่า ตนจะทวงความยุติธรรมให้นายชัยภูมิให้ได้ โดยเฉพาะเรื่องกล้องที่มีความสำคัญ ถือเป็นพยานสำคัญ ซึ่งไม่เชื่อว่าภาพจากกล้องวงจรปิดจะหาย ทั้งที่เป็นคดีใหญ่ และเมื่อทำหายแล้วคนทำหายก็ไม่มีความผิด ซึ่งครอบครัวอยากเห็นว่าเกิดอะไรขึ้นในเช้าวันนั้น

หากนายชัยภูมิ ผิดเราก็ทำใจยอมรับได้ แต่ถ้าเขาไม่ผิดจะทำอย่างไร ควรปล่อยให้ผู้กระทำผิดที่เป็นคนฆ่านายชัยภูมิลอยนวลแบบนี้หรือไม่ สิ่งที่เราเสียไปจะถูกเยียวยาอย่างไร เสียทั้งคน เสียความรู้สึก เสียชื่อเสียง ทุกๆก้าวของเรา ต้องเดินตามในสิ่งที่พวกเขาให้เดิน แต่ละก้าวที่เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมมันยากมาก

แม่ของอาเบ

ขณะที่นายรัษฎา มนูรัษฎา ทนายความในคดีนายชัยภูมิและนายอะเบ กล่าวถึงการต่อสู้ทางกฎหมายว่า ทั้งสองคนถูกทหารหน่วยเดียวกันฆ่าตาย ทั้งสองคดีมีประจักษ์พยานชัดเจน แต่ปัญหาที่พบ คือในชั้นไต่สวนหาความจริงในชั้นศาล พยานสำคัญหลายอย่างพนักงานอัยการไม่ได้นำเข้ามาใช้ในการไต่สวนให้การในศาล

นายรัษฎา กล่าวต่อว่า คดีของนายชัยภูมิ มีประจักษ์พยานเห็นเหตุการณ์ว่านายชัยภูมิถูกทหารทำร้ายร่างกาย และเมื่อนายชัยภูมิสะบัดลุกขึ้นหนีได้ ก็มีเสียงปืนดังขึ้น ก่อนที่นายชัยภูมิจะเสียชีวิต ไม่มีเหตุว่านายชัยภูมิใช้อาวุธมีดฟันเจ้าหน้าที่ทหาร หรือ พกพาระเบิดตามคำกล่าวของเจ้าหน้าที่

นอกจากนี้ยังมีครูและนักเรียนที่ร่วมโรงเรียนเดียวกับนายชัยภูมิ ที่ยืนยัน ความประพฤติของนายชัยภูมิว่าเป็นเด็กอย่างไร และเป็นจิตอาสา ซึ่งข้อคิดเห็นของเหล่านี้ถือเป็นประโยชน์ต่อพฤติการณ์ของผู้ตายว่าจะเกี่ยวข้องกับยาเสพติดหรือไม่

แม่และญาติของชัยภูมิ

นอกจากนี้ยังมีคำให้การของเจ้าหน้าที่ทหาร ที่ระบุว่า มีกล้องวงจรปิดใช้ได้หกตัว ชำรุด 3 ตัว ประกอบกับภาพวงจรปิดที่เราขอให้ศาลได้เรียกเข้ามาและนำพยานเข้าเบิกความประกอบด้วย

“พนักงานอัยการไม่ได้นำพยานเหล่านี้เข้าไต่สวน ทำให้ข้อเท็จจริงที่จะเข้าสู่ศาลวินิจฉัยประเด็นว่าชัยภูมิได้ทำร้ายเจ้าหน้าที่จริงหรือไม่ ชัยภูมิพยายามจะขว้างระเบิดหรือไม่ ประเด็นเหล่านี้ไม่ชัดเจน และกล้องวงจรปิดที่เราขอให้ศาลเรียก ศาลก็ไม่ได้ออกคำส่งเรียก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นพยานหลักฐานสำคัญ เพราะภาพวงจรปิดคือพยานที่มีคุณค่าไม่เหมือนคำพูดคน ภาพมันฟ้องทุกอย่าง” นายรัษฎากล่าว

ทนายรัษฎา กล่าวถึงคดีของนายอะเบว่า ในเรื่องของการสอบสวนพยานซึ่งเป็นผู้ขี่มอเตอร์ไซค์ที่รอดชีวิต ซึ่งเป็นภาระของญาตินายอะเบที่ต้องไปตามพยาน และให้ศาลเรียกไต่สวน ทั้งที่ความจริงคือภาระหน้าที่ของอัยการที่จะนำข้อเท็จจริงมาสู่ศาล นี่คืออุปสรรคซึ่งเราเห็นว่าหน่วยงานของรัฐยังทำหน้าที่ไม่เต็มที่

แม้ในชั้นแรกจะดีแล้ว แต่ในชั้นศาลยังมีความไม่สมบูรณ์อยู่ นอกจากนี้ยังมีประเด็นของการที่เจ้าหน้าที่มีส่วนร่วมในการชันสูตรพลิกศพ โดยปกติหน่วยงานที่มีหน้าที่เมื่อเกิดเหตุแล้วต้องเข้าสู่ที่เกิดเหตุโดยเร็วและเก็บพยานวัตถุอย่างรวดเร็ว โปร่งใส แต่พฤติการณ์ของสองคดีนี้ มีลักษณะของการกีดกันพื้นที่ไว้ก่อน

นาปอยเล่าความรู้สึกของคนเป็นแม่

นายรัษฎา กล่าวว่า ในวันที่ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมา ตนและเครือข่ายได้ยื่นหนังสือต่อกองทัพบก เพื่อขอไฟล์กล้องวงจรปิด เพราะเห็นว่าแม้คำสั่งไต่สวนการชันสูตรพลิกศพจะออกมาแล้ว แต่ความจริงเกี่ยวกับการตายยังมีความคลุมเครือ จึงขอใช้สิทธิตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ

อีกทั้งภาพจากกล้องวงจรปิดในจุดเกิดเหตุ ยังไม่ได้ถูกนำเสนอต่อศาล แต่ขณะนี้ยังไม่มีหนังสือตอบมาจากแม่ทัพภาค 3 แต่อย่างใด ซึ่งถือว่าค่อนข้างล่าช้า

ดังนั้นหากในสัปดาห์หน้ายังไม่มีการตอบหนังสือนี้มา อาจจะต้องมีหนังสือทวงถามไปยังผบ.ทบ.อีกครั้งหนึ่ง เพราะตนไม่อยากให้มีการตายเกิดขึ้นอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า ขณะที่คนฆ่ากลับลอยนวล

นายกฤษฎา งามศิลป์จำรัส ตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า การใช้อาวุธสงครามป้องกันตัวจนทำให้ผู้อื่นเสียชีวิตเป็นสิ่งที่กระทำเกิดกว่าเหตุหรือไม่ โดยทางคณะกรรมการฯ ได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าสอบถาม รวมทั้งทหารผู้ที่ลงมือฆ่า แต่ได้รับคำตอบว่าทหารคนนั้นไม่พร้อมที่จะมาให้ข้อมูล

เพราะอ้างว่าเสียใจที่กระทำลงไป ซึ่งคณะกรรมการฯ พยายามตรวจสอบและมองว่าในประเด็นของการป้องกันตัวของเจ้าหน้าที่ทหารที่อ้างว่านายชัยภูมิจะขว้างระเบิดใส่นั้น ควรตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างละเอียด ขณะที่กสม.ต้องการเรียก

ต่อมา เป็นการเสวนาเรื่อง “ความท้าทายและข้อเสนอแนะต่อกระบวนการยุติธรรมในกรณีต้องสงสัยว่าเป็นการเสียชีวิตโดยมิชอบด้วยกฎหมาย”

โดย ดร.น้ำแท้ มีบุญสร้าง อัยการจังหวัด สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายและการบังคับคดี จ.กาญจนบุรี ระบุว่า คนกระทำผิดไม่ควรมีส่วนในการรวบรวมพยานหลักฐานใดๆ แม้จะอยู่ในหน่วยงานภาครัฐก็ตาม

รัฐต้องกั้นออกไม่ให้บุคคลนั้นมาเกี่ยวข้อง ความวิปลาสที่เกิดขึ้นในสังคม คือ ตำรวจจับเอง แจ้งข้อกล่าวหาเอง ส่งฟ้องศาลในระยะเวลากระชั้นชิด แต่ระหว่างนั้นจำเลยถูกคุมขัง หากศาลพิจารณาแล้วว่าไม่ผิด จำเลยผู้นั้นถือว่าเข้าคุกฟรี นี่คือหนึ่งในความวิปลาสของการจัดการคดีในไทย

ด้าน น.พ.กฤติน มีวุฒิสม แพทย์นิติเวช โรงพยาบาลระนอง เผยว่า การชันสูตรพลิกศพ โดยการวิสามัญฆาตกรรม จำเป็นต้องมี 4 หน่วยงานหลักในการเก็บรวบรวมพยานหลักฐาน คือ แพทย์ พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และฝ่ายปกครอง เพื่อความโปร่งใสในกระบวนการยุติธรรม

การละเล่นของลาหู่

ขณะเดียวกันควรพัฒนาองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญในการดำเนินการ เพราะแพทย์จะตอบคำถามตามพยานหลักฐานที่มี และมีหลักวิชาการที่อ้างอิงอย่างสมเหตุสมผล

ขณะที่ นายสุมิตรชัย หัตถสาร ตัวแทนทนายความ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ที่ร่วมทำคดีชัยภูมิ กล่าวว่า การที่ประชาชนเสียชีวิตจากเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นสิ่งที่ไม่น่ายอมรับ เพราะนั่นคือการตายด้วยระบบกฎหมาย หากสังคมยอมรับการวิสามัญฆาตกรรม ต่อไปจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้เรื่อยๆ

การป้องกันปราบปรามอาชญากรรมยังคงมีความจำเป็นในสังคมแต่จะกระทำอย่างไรให้สมดุลกัน ขณะเดียวกันการชันสูตรพลิกศพก็เป็นขั้นตอนสำคัญของระบบกฎหมายของทั้งโลก ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สามารถชี้แจงถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้ตามหลักวิทยาศาสตร์

ดร.มาลี สิทธิเกรียงไกร ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ความอยุติธรรมในสังคมไทยทำให้หลายคนต้องลำบาก อยากให้สังคมมองว่าการวิสามัญฆาตกรรมเป็นความรุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ที่รัฐมักอ้างว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติด การตัดไม้ทำลายป่า การบุกรุกพื้นที่ป่า เกิดการสร้างความเกลียดชังกับกลุ่มชาติพันธุ์

จึงอยากให้รัฐและสังคมตระหนักถึงความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำต่อกลุ่มชาติพันธุ์ ว่า ทุกกลุ่มชาติมีความเท่าเทียมกัน

คนจนเข้าไม่ถึงความยุติธรรม

น.ส.สัณหวรรณ ศรีสด คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล เผยว่า สิ่งที่สำคัญว่าการวิสามัญฆาตกรรมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับกระบวนการสอบสวนที่ดีหรือตามหลักมาตรฐานสากลทียึดหลัก 4 ข้อ คือ 1.รวดเร็ว 2.มีประสิทธิภาพละเอียดถี่ถ้วน 3.อิสระและเป็นกลาง ซึ่งไม่ควรถูกตรวจสอบจากหน่วยงานเดียวกัน

4.ความโปร่งใสและเปิดเผย ส่วนการชันสูตรพลิกศพตามหลักสากล ได้เน้นย้ำตามหลักนิติวิทยาศาสตร์ที่ต้องได้รับการพิสูจน์จากแพทย์นิติเวช อย่างกรณีคดีวิสามัญฆาตกรรมนายชัยภูมิและนายอะเบ น่าเสียดายที่หลักฐานหลักอย่างภาพกล้องวงจรปิดที่เป็นหลักฐานสำคัญในการตัดสินคดีนี้กลับไม่ถูกเปิดเผย

อ่าน ศาลชี้ทหารยิง “ชัยภูมิ ป่าแส” เสียชีวิต ด้านญาติลุยจี้กองทัพเปิดภาพวงจรปิด

อ่าน ทนาย “ชัยภูมิ ป่าแส” บุกกองทัพจี้ผบ.ทบ. เปิดภาพวงจรปิดนาทียิง รับแม่เหยื่ออยากเห็น

อ่าน แฉเบื้องหลังนาทียิง “ชัยภูมิ ป่าแส”หาย ร้อยโทรับนายสั่งให้ถอดออก ก่อนส่งอีกอันให้ตร.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน