โควิด: ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า ไฟเซอร์ ผู้ผลิตยาสัญชาติอเมริกัน กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 ก.ค. ตามเวลาท้องถิ่นว่า ภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของไฟเซอร์ลดลง และว่ากำลังพยายามพัฒนาวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือบูสเตอร์โดส ที่จะปกป้องผู้ได้รับวัคซีนจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ต่างๆ
ไฟเซอร์กล่าวว่า จะขออนุมัติการใช้บูสเตอร์โดสในกรณีฉุกเฉินจากองค์การอาหารและยาสหรัฐ (FDA) ในเดือนสิงหาคม หลังเผยแพร่ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบูสเตอร์โดส ซึ่งเป็นวัคซีนเข็มที่สาม ว่าได้ผลดีอย่างไร
อย่างไรก็ตาม FDA และ CDC (ศูนย์โรคและการควบคุม) สองหน่วยงานระดับสูงของรัฐบาลกลางสหรัฐ ออกแถลงการณ์ว่า ชาวอเมริกันที่ได้รับวัคซีนครบถ้วนไม่จำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในเวลานี้ และว่าไม่ได้ขึ้นอยู่กับบริษัทยาเพียงผู้เดียวที่จะตัดสินใจว่าจำเป็นเมื่อไร
นับเป็นความเคลื่อนไหวผิดปกติที่เกิดขึ้นไม่กี่ชั่วโมงหลังไฟเซอร์ออกมาเปิดเผยเรื่องดังกล่าว
ไฟเซอร์ และบิออนเทค บริษัทยาสัญชาติเยอรมันผู้ร่วมการผลิตวัคซีนไฟเซอร์ กล่าวว่า ภูมิคุ้มกันของคนเริ่มลดลงหลังได้รับวัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งต้องฉีด 2 โดส เพื่อให้ภูมิคุ้มกันเต็มที่
“ดังที่เห็นในข้อมูลโลกแห่งความจริงที่เผยแพร่โดยกระทรวงสาธารณสุขของอิสราเอล ประสิทธิภาพวัคซีนในการป้องกันทั้งการติดเชื้อและโรคแสดงอาการ ลดลง 6 เดือนหลังการฉีดวัคซีน แม้ว่าประสิทธิภาพในการป้องกันความเจ็บป่วยร้ายแรงยังสูงก็ตาม” ไฟเซอร์ส่งแถลงการณ์ทางอีเมล์ถึงซีเอ็นเอ็น
“นอกจากนี้ ในช่วงเวลานี้ ไวรัสสายพันธุ์เดลตากำลังกลายเป็นสายพันธุ์หลักในอิสราเอลเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ สอดคล้องกับการวิเคราะห์อย่างต่อเนื่องจากการศึกษาระยะที่สามของบริษัท
“แม้ว่าการป้องกันโรคร้ายแรงยังสูงตลอด 6 เดือนเต็ม แต่ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคแสดงอาการลดลงเมื่อเวลาผ่านไป และคาดว่าจะเกิดการอุบัติเหตุของสายพันธุ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่ ไฟเซอร์และบิออนเทคเชื่อว่า การฉีดวัคซีนเข็มที่สามอาจเป็นประโยชน์ภายใน 6-12 เดือน หลังการฉีดวัคซีนเข็มที่สองเพื่อรักษาระดับการป้องกันสูงสุด” แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม
ด้านเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐเน้นว่า ผู้ได้รับวัคซีนครบถ้วนมีความเสี่ยงต่ำที่จะติดเชื้อ แม้แต่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์เดลตา ซึ่งแพร่เชื้อง่ายกว่าสายพันธุ์อื่นๆ นอกจากนี้ การศึกษาหลายชิ้นบ่งชี้ว่า วัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) ที่ผลิตโดยไฟเซอร์และโมเดอร์นาให้การป้องกันโควิดระยะยาว
“FDA CDC และ NIH (สถาบันสุขภาพแห่งชาติ) มีส่วนร่วมในกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เข้มงวด เพื่อพิจารณาว่าวัคซีนเข็มกระตุ้นจำเป็นหรือไม่ และถ้าจำเป็นต้องฉีดเมื่อไร กระบวนการนี้คำนึงถึงข้อมูลในห้องปฏิบัติการ ข้อมูลการทดลองทางคลินิก และข้อมูลกลุ่มประชากรตามกลุ่ม ซึ่งอาจรวมถึงข้อมูลจากบริษัทเภสัชกรรมบางแห่ง แต่ไม่ได้อาศัยข้อมูลเหล่านั้นเป็นการเฉพาะ”
นับเป็นข้อความชัดเจนถึงไฟเซอร์ที่บอกเป็นนัยถึงความจำเป็นในการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นเวลาหลายเดือน
“เรายังตรวจสอบข้อมูลใหม่ๆ เมื่อมีข้อมูลและจะแจ้งให้สาธารณชนทราบ เราเตรียมพร้อมสำหรับวัคซีนเข็มกระตุ้นหากและเมื่อวิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นว่าจำเป็น
“สหรัฐอเมริกาโชคดีที่มีวัคซีนประสิทธิภาพสูงที่มีอยู่ทั่วไปสำหรับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ผู้ได้รับวัคซีนครบถ้วนได้รับการป้องกันจากโรคร้ายแรงและการเสียชีวิต รวมถึงจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ต่างๆ ที่วนเวียนอยู่ในประเทศ เช่น สายพันธุ์เดลตา
“ผู้ไม่ได้รับวัคซีนยังมีความเสี่ยง การรักษาในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตจากโควิด-19 เกือบทั้งหมดอยู่ในกลุ่มผู้ไม่ได้รับวัคซีน เราสนับสนุนให้ชาวอเมริกันที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนรับการฉีดวัคซีนโดยเร็วที่สุดเพื่อปกป้องตนเองและชุมชนของพวกเขา” แถลงการณ์ CDC และ FDA ระบุ
ก่อนหน้าในสัปดาห์เดียวกันนี้ กระทรวงสาธารณสุขอิสราเอลออกแถลงการณ์ว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนไฟเซอร์ลดลงจากมากกว่าร้อยละ 90% ลงมาที่ราว 64% ขณะที่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์เดลตาแพร่ระบาด
ไฟเซอร์กล่าวว่า การวิจัยแสดงให้เห็นว่า การฉีดวัคซีนไฟเซอร์กระตุ้นจะผลิตแอนติบอดีลบล้างฤทธิ์ (neutralizing antibodies) ในระดับสูงกว่าที่ผลิตหลังฉีดวัคซีน 2 โดส เป็นจำนวน 5-10 เท่า
“ไฟเซอร์และบิออนเทคคาดว่าจะเผยแพร่ข้อมูลที่ชัดเจนยิ่งขึ้นในไม่ช้า เช่นเดียวกับในวารสารที่ผ่านพิชญพิจารณ์ (peer review) และวางแผนที่จะส่งข้อมูลไป FDA และ EMA (องค์การยายุโรป) และหน่วยงานกำกับดูแลอื่นๆ ในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
นอกจากนี้ ไฟเซอร์กล่าวว่า บริษัทยังกำลังพัฒนาสูตรใหม่สำหรับวัคซีนเข็มกระตุ้นที่อาจปกป้องคนจากไวรัสายพันธุ์ใหม่อย่างทั่วถึงยิ่งขึ้น
“แม้ว่าไฟเซอร์และบิออนเทคเชื่อว่า วัคซีนเข็มที่สาม BNT162b2 มีศักยภาพที่จะรักษาประสิทธิภาพการป้องกันในระดับสูงสุดต่อไวรัสสายพันธุ์ที่เป็นที่รู้จักทั้งหมดในปัจจุบัน รวมถึงสายพันธุ์เดลตา แต่ทั้งสองบริษัทยังระมัดระวังและกำลังพัฒนารุ่นปรับปรุงของวัคซีนไฟเซอร์-บิออนเทค โควิด-19 ซึ่งมุ่งเป้าทำลายโปรตีนหนาม (spike protein) ทั้งหมดของไวรัสสายพันธุ์เดลตา
ทั้งนี้ วัคซีนต่างๆ ในปัจจุบันมุ่งเป้าทำลายเพียงชิ้นส่วนของโปรตีนหนาม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของไวรัสที่ชิ้นส่วนของโปรตีนหนามใช้ยึดติดกับเซลล์
“วัคซีนล็อตแรกเพื่อทดลองเป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นได้รับการผลิตแล้วที่โรงงานของบิออนเทคในเมืองไมนซ์ของเยอรมนี ทั้งสองบริษัทคาดว่า การศึกษาทางคลินิกจะเริ่มต้นในเดือนสิงหาคม ขึ้นอยู่กับการอนุมัติด้านกฎระเบียบ” ไฟเซอร์ระบุ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ไบเดนผุดไอเดีย ‘เคาะประตู’ ฉีดวัคซีนถึงหน้าบ้าน กระตุ้นยอดฉีดทั่วประเทศ
‘วิโรจน์’ บี้รัฐบาล เปิดราคาไฟเซอร์ ข้องใจหรือกลัว ปชช.รู้ว่า ถูกกว่าซิโนแวค
ระเบิด ลูกใหญ่ วัคซีน ทางเลือก ไฟเซอร์ กระแทก ซิโนแวค
หมอนิธิ ขอโทษหมอ พยาบาล ปมฉีดไฟเซอร์ ย้ำประโยชน์ประชาชนต้องมาก่อน
หมอนิธิ ค้านฉีดไฟเซอร์ ให้บุคลากรแพทย์ อัดอย่าเห็นแก่ตัว ปชช.หลายล้านคนยังไม่ได้ฉีด