นายกสปป.ลาวเยือนไทยครั้งแรก หารือพลเอกประยุทธ์เชื่อมต่อรถไฟลาว-จีน พลังงาน แก๊งคอลเซ็นเตอร์

นายกสปป.ลาวเยือนไทยครั้งแรก-วันที่ 1 มิ.ย. นายพันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรีสปป.ลาวเดินทางมาถึงไทยในช่วงเช้าของวันที่ 1 มิ.ย. 2565 โดยมีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศให้การต้อนรับที่กองบิน 6 ดอนเมือง

นายพันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรีสปป.ลาวและภริยาเดินทางถึงไทยเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 1 มิ.ย.ในโอกาสเยือนไทยครั้งแรกหลังรับตำแหน่งเมื่อปี 2564

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศให้การต้อนรับนายพันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรีสปป.ลาวที่กองบิน 6 ดอนเมือง

ด้านนางสาวอาจารี ศรีรัตนบัลล์ อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศกล่าวถึงภาพรวมการเยือนไทยของนายพันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรีสปป.ลาว ระหว่างวันที่ 1 -2 มิ.ย.2565 นี้ ว่า เป็นการเยือนไทยครั้งสำคัญและเป็นการเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกนับตั้งแต่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อ 22 มี.ค. ปี 2564 ถือเป็นการเยือนเพื่อแนะนำตัว ตามธรรมเนียมปฏิบัติของอาเซียนในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ โดยเยือนพร้อมคณะรัฐมนตรีจำนวน 13 คน และคณะนักธุรกิจชั้นนำของลาวกว่า 50 คน เพื่อสร้างเครือข่ายระหว่างภาคเอกชนไทยและลาวเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนโอกาสเกี่ยวกับโอกาสการค้าการลงทุน ความร่วมมือระหว่างกัน

รวมถึงการส่งเสริมความเชื่อมโยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ประโยชน์จากรถไฟลาว-จีน การจะใช้ประโยชน์ร่วมกันจากการที่ไทยกับลาวมีห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงกัน ซึ่งภาคเอกชนเป็นระดับผู้บริหาร และประกอบธุรกิจด้านการนำเข้า-ส่งออก ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โลจิสต์ติก การท่องเที่ยว การเกษตร และมีนักธุรกิจของไทยที่จะเข้าร่วม

เมื่อเดินทางมาถึงไทย ในช่วงเช้าวันที่ 1 มิ.ย.นายกรัฐมนตรี สปป. ลาวจะเข้าร่วมพิธีรับมอบปริญญารัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชารัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในฐานะผู้นำที่โดดเด่นในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของ สปป. ลาวให้ก้าวหน้าด้วยการวางรากฐานด้านการศึกษา

และช่วงบ่ายนายพันคำ และนายดอนกล่าวเปิดงานจัดกิจกรรมเสวนาระหว่างภาคธุรกิจไทยกับลาว เพื่อหารือแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับโอกาสทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนระหว่างไทยกับ สปป. ลาว โดยเฉพาะในบริบทความเชื่อมโยงด้านการคมนาคมขนส่งที่กำลังพัฒนารุดหน้าอย่างรวดเร็วในภูมิภาคโดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากโครงการรถไฟลาว – จีน อีกทั้งเป็นโอกาสในการเสริมสร้างเครือข่ายระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมและเป็นประโยชน์ร่วมกัน

จากนั้นเวลา 17.00 น. ทางไทยมีพิธีต้อนรับที่ทำเนียบรัฐบาล และมีการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีทั้ง 2 ฝ่าย นายกรัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายเป็นสักขีพยานการลงนามหรือแลกเปลี่ยนความตกลงระหว่างกัน 3 ฉบับ 1.การลงนามแผนปฏิบัติการว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ไทย-สปป.ลาวเพื่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืนระยะ 5 ปี ระหว่างปี 2565-2569 2.การแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลลาวว่าด้วยการพัฒนาความร่วมมือด้านไฟฟ้าในสปป.ลาวฉบับปีค.ศ. 2022

3. พิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทย-ลาวว่าด้วยโครงการจัดสร้างสวนรุกขชาติไทย-ลาว ในโอกาสเดียวกันนายกรัฐมนตรีจะมีพิธีมอบการสนับสนุนของรัฐบาลไทยในการก่อสร้างศูนย์พัฒนาสังคมมิตรภาพไทย-ลาว สำหรับสาระการเยือน เป็นโอกาสที่ไทยและสปป.ลาวจะประกาศการยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ ดังที่กล่าวไปว่าจะมีการลงนามในแผนปฏิบัติการ การเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืนระยะ 5 ปี ซึ่งจะเป็นแนวทางระดับนโยบายที่ใช้ในการขับเคลื่อนความร่วมมือในสาขาต่างๆ ระหว่างไทยกับลาวให้แน่นแฟ้นและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ผู้นำทั้งสองหารือแนวทางการกระชับความร่วมมือระหว่างสองประเทศด้านต่างๆให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนการฟื้นฟูประเทศจากผลกระทบโควิด-19 การเสริมสร้างความเข้มแข็งในการรับมือกับความผันผวนของสถานการณ์ระหว่างประเทศ

ประเด็นหารือที่คาดว่าจะมีการหยิบยกและ มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกัน แบ่งเป็น 4 ด้านหลัก ได้แก่ 1.ด้านเศรษฐกิจ ความร่วมมือเพื่อกระชับการสนับสนุนการการฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจด้านต่างๆ การไปมาระหว่างกันระหว่างประชาชนกับประชาชน การขนส่งสินค้าระหว่างไทย-สปป.ลาว โดยเฉพาะการเริ่มกลับมาเปิดจุดผ่านแดนต่างๆ ที่จะให้มีการไปมาหาสู่กันสะดวกยิ่งขึ้นและจะให้มีการขนส่งสินค้า เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการค้าชายแดน ซึ่งการค้าระหว่างกันร้อยละ 96 ถือเป็นการค้าชายแดน การส่งเสริมการเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยว คมนาคมโดยเฉพาะระหว่างภาคเหนือของไทยกับแขวงหลวงพระบางของสปป.ลาว

สำหรับการเชื่อมโยง การเชื่อมโยงคมนาคม การเชื่อมรถไฟลาว-จีน กับระบบรางของไทย ทั้งโครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบ การก่อสร้างสะพานมิตรภาพแห่งที่ 5 จ.บึงกาฬและบอลิคำไซของลาว และสะพานมิตรภาพแห่งที่ 6 จ.อุบลราชธานี-แขวงสาละวัน ความร่วมมือเศรษฐกิจดิจิทัล ไทยพร้อมที่จะสนับสนุนสปป.ลาวในการฝึกอบรมทักษะด้านดิจิทัล สนับสนุนให้มีความเชื่อมโยงทางการเงิน การธนาคารเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการทำธุรกรรมและส่งเสริมการค้า การลงทุนระหว่างกัน

2.ความมั่นคง ความมั่นคงชายแดน การรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณชายแดนต่างๆ การแก้ ไขปัญหาการข้ามแดนผิดกฎหมาย การร่วมมือกันต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติโดยเฉพาะปัญหายาเสพติด การต่อต้านการค้ามนุษย์ รวมถึงแก๊งคอลเซ็นเตอร์ด้วย

3.ความร่วมมือระดับประชาชน ส่งเสริมเพื่อการพัฒนาใน 7 สาขาหลัก ได้แก่ การเกษตร การศึกษาและกีฬา สาธารณสุข การค้าและอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว ด้านสิ่งแวดล้อม การพัฒนาสังคมและธรรมาภิบาล และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นอกจากนี้มีการหารือด้านสังคมและวัฒนธรรม ความร่วมมือสื่อมวลชนเพื่อส่งเสริมความเข้าใจระหว่างประชาชนทั้ง 2 ประเทศด้วย

และ 4. ความร่วมมือในระดับภูมิภาค และอนุภูมิภาค ความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อส่งเสริมและผลักดันความร่วมมือโดยเฉพาะกรอบความร่วมมือยุทธศาสตร์อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขงหรือ ACMECS เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งในอนุภูมิภาคร่วมกันโดยลาวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ACMECS ครั้งที่ 10 ในปีนี้ ซึ่งไทยสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพ ACMECS ของสปป.ลาว ความร่วมมือในการจัดการน้ำอย่างยั่งยืนด้วย สำหรับอาเซียน การประสาน การเสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นในอาเซียน

เมื่อถามว่า จะมีการหารือปัญหาด้านพลังงานที่ทั้งไทยและลาวเผชิญอยู่ในขณะนี้หรือไม่ นางสาวอาจารีกล่าวตอบว่า เป็นสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจที่ต่างฝ่ายต่างเผชิญและคงมีการหารือว่าร่วมมือกันได้อย่างไรได้บ้าง

……………

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ลาวผ่อนคลายคุมโควิด เปิดด่านสากลทุกด่าน-สถานบันเทิงคาราโอเกะ มีผล 9 พ.ค.นี้

พรมแดนไทย-สปป.ลาว ด่านนากระเซ็ง ยังไม่เปิดข้ามฝั่ง รอรัฐบาลลาวไฟเขียว

ลาวจ่อเปิดประเทศ เตรียมรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ หลังโควิดลด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน