คอลัมน์ประตูสู่เออีซี : เชื่อมรถไฟจีน-ลาว?

กิจกรรมเสวนา การจับคู่ทางธุรกิจเพื่อสร้างและขยายเครือข่ายโอกาสการค้าและการลงทุนระหว่างเอกชนของสองประเทศเพื่อใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงรถไฟจีน-ลาวดำเนินไปอย่างคึกคักในโอกาสเยือนไทยครั้งแรกของนายพันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรีสปป.ลาวระหว่างวันที่ 1-2 มิ.ย.2565 ซึ่งมีผู้แทนภาคธุรกิจไทย-ลาวเข้าร่วมกว่า 150 คน จาก 9 สาขาธุรกิจ สอดรับกับการเปิดประเทศเต็มรูปแบบของไทยในวันนี้

นายพันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรีสปป.ลาวกล่าวปาฐกถาพิเศษ

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวเปิดงาน

วงเสวนาภายในงานได้แก่ นายเจษฎา กตเวทิน ทูตไทยประจำสปป.ลาว ผู้ดำเนินรายการ น.ส.วัลภา สถิรชวาล ประธานสมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย นายจันทอน สิดทิไซ รองประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติจากสปป.ลาวและนายสุรงค์ บูลกุล รองประธานหอการค้าไทย

นายสุรงค์ บูลกุล รองประธานสภาหอการค้าไทย กล่าวว่า การเชื่อมโยงรถไฟจีน-ลาวเป็นโอกาสในการลดต้นทุนของผู้ประกอบการ ช่วยย่นระยะเวลาในการขนส่งเพื่อให้ประชาชนได้สินค้าดีมีคุณภาพ จึงเสนอสร้างสะพานเชื่อมรถไฟหนองคาย-ท่านาแล้ง และขอให้รัฐบาลไทยและรัฐบาลลาวผลักดัน หากเกิดระบบนี้จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ และอยากให้มีการตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพที่ด่านศุลกากรบ่อหาน-บ่อเต็น รวมถึงศูนย์อำนวยความสะดวกการขนส่งเพื่อให้มีการดำเนินการด้านเอกสารที่เดียวภายในวันเดียวจบ

บรรยากาศงานเสวนาทางธุรกิจไทย-ลาวที่โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ เมื่อ 1 มิ.ย.(ภาพ กระทรวงต่างประเทศ)

นายจันทอน สิดทิไซ รองประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติ สปป.ลาว กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ของลาวคือเปลี่ยนจากแลนด์ล็อก หรือประเทศที่ไม่มีทางออกทะเลไปสู่แลนด์ลิงก์ ประเทศที่มีศักยภาพในการเชื่อมโยงทั่วโลก โดยมีไทยเป็นจุดศูนย์กลาง และเสนอลาว-ไทยทำเขตพิเศษเศรษฐกิจการค้าชายแดนและมีการใช้สกุลเงินท้องถิ่นร่วมกัน เพื่อใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยง เนื่องจากในปัจจุบันลาวบริโภคสินค้าไทยร้อยละ 90 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 10 ได้แก่ จีนและเวียดนาม

นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศกล่าวสะท้อนมุมมองการเชื่อมโยงว่า วิธีการมองการเชื่อมโยงของลาว คือ ไทยเป็นฮับของภูมิภาค ลาวเป็นลิงก์ ซึ่งสามารถสร้างพลังได้เมื่อมองจากมุมของโลจิสติกส์ มุมมองของเอกชนไทยกับลาวคล้ายกัน โดยเฉพาะมุมมองการใช้โครงสร้างพื้นฐานของไทยในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี

นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

นายเชิดชายมองอีกว่า การเชื่อมโยงยังไม่เจอกัน ไทยจำเป็นต้องสร้างระบบรางของฝั่งไทยให้บรรจบกับทางฝั่งสปป.ลาวให้ได้ก่อน และว่าการลงทุนที่จะเกิดขึ้นจะผูกติดกันอย่างแยกไม่ออก ซึ่งแตกต่างจากในอดีตที่ไทยลงทุนด้านพลังงานในลาวเป็นหลัก แต่ขณะนี้ต้องพิจารณาการสร้างอุตสาหกรรมล้อมรอบเส้นทางรถไฟ และประเด็นความผันผวนของค่าเงินเป็นอีกปัจจัยท้าทายอย่างมาก

นอกจากการเปิดด่านของสปป.ลาว ตัวเลขการค้าระหว่างไทย-ลาวสูงขึ้น ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดี และเมื่อจีนยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์ ทำให้เป็นอีกปัจจัยที่กระตุ้นการท่องเที่ยวผ่านการเชื่อมโยง

ต้องไม่ลืมว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพีของภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่ถึงร้อยละ 10 ของทั้งประเทศ การเจริญเติบโตของลาวจึงเป็นกระดูกสันหลังที่สำคัญต่อการเติบโตของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย

นอกจากนี้ ภายในงานมีการลงนามบันทึกความเข้าใจหรือเอ็มโอยูจำนวน 2 ฉบับระหว่างสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศหรือ TIFFA ของไทย กับสมาคม Lao International Truckers and Freight Forwarders Association ของลาวและเอ็มโอยูระหว่างเวียงจันทน์ โลจิสติกส์ ปาร์ก กับสองบริษัทไทย ได้แก่ บริษัททิฟฟ่า โลจิสติกส์ เซนเตอร์ จำกัดและสตาร์ สิทธิ โซลูชั่น จำกัด มหาชน
………….

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกสปป.ลาวเยือนไทยครั้งแรก หารือพลเอกประยุทธ์เชื่อมโยงรถไฟลาว-จีน พลังงาน แก๊งคอลเซ็นเตอร์

บิ๊กตู่เลี้ยงอาหารค่ำ นายกสปป.ลาว เปรย “กินข้าวร่วมนา กินปลาร่วมน้ำ”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน