วันที่ 27 มิ.ย.ตามที่มีรายงานข่าวเกี่ยวกับข้อมูลของผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมา นั้น นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศชี้แจงว่า กระทรวงการต่างประเทศได้รับทราบเนื้อหาของรายงานดังกล่าวแล้ว โดยรายงานฯ ได้มีการระบุชื่อของหลายประเทศ ซึ่งเป็นประเทศในภูมิภาคที่มีธุรกรรมทางการเงินเกิดขึ้นจำนวนมาก
นายนิกรเดชระบุว่า สถาบันทางการเงินของไทยมีแนวทางการดำเนินการเช่นเดียวกับศูนย์กลางทางการเงินอื่น ๆ จึงต้องมีกระบวนการในการสืบหารายละเอียดและข้อเท็จจริงก่อนจะดำเนินการใด ๆ ทั้งนี้ ประเด็นนี้เป็นเรื่องเชิงนโยบายซึ่งต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะการมีมาตรการคว่ำบาตร ซึ่งไทยมีท่าทีในการไม่สนับสนุนการกระทำใด ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง
การออกมาชี้แจงของกระทรวงการต่างประเทศเกิดขึ้นหลังจาก นายทอม แอนดรูส์ ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติหรือยูเอ็นด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมาเผยแพร่รายงานหัวข้อ ธนาคารบนการค้าความตาย : ธนาคารและรัฐบาลทั้งหลายให้อำนาจรัฐบาลทหารในเมียนมาอย่างไรในระหว่างตั้งแต่ 31 มี.ค.2565 ถึง 31 มี.ค. 2567 โดยมีเนื้อหาเรียกร้องให้ธนาคารไทยพาณิชย์และอื่นๆตัดความสัมพันธ์กับหน่วยงานเมียนมาที่รัฐเป็นเจ้าของ หลังจากตรวจพบไทยขึ้นมาแทนที่สิงคโปร์ในการเป็นธนาคารและแหล่งสั่งซื้ออาวุธและเสบียงบำรุงทางทหารของรัฐบาลเมียนมาผ่านการบริการของธนาคารระหว่างประเทศ
เกิดจากตรวจสอบจนเจอความเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อบทบาทของชาติอาเซียน 2 ประเทศได้แก่ ไทยและสิงคโปร์ ที่เป็นแหล่งส่งอาวุธและเสบียงทางทหาร
หลังจากเมื่อปีที่แล้วสิงคโปร์อยู่ในอันดับ 3 แหล่งส่งอาวุธและเสบียงบำรุงทางทหารแก่รัฐบาลทหารเมียนมา รัฐบาลสิงคโปร์จึงเปิดการสอบสวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการค้าดังกล่าวที่อยู่ในสิงคโปร์ โดย ณ สิ้นเดือนมี.ค.2567 การขนส่งวัตถุอาวุธไปเมียนมาจากบริษัทที่จดทะเบียนในสิงคโปร์ลดลงร้อยละ 90 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า
แต่การจัดซื้อของทหารเมียนมาผ่านประเทศไทยกลับตรงข้ามกับสิงคโปร์ โดย ณ สิ้นเดือนมี.ค.2567 รัฐบาลทหารนำเข้าอาวุธและเสบียงทางทหารจากบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทยเกือบ 130 ล้านดอลล่าร์สหรัฐหรือราว 4.7 พันล้านบาท เพิ่มมากกว่าสองเท่าของยอดรวมปีที่แล้ว
รายงานระบุว่า ธนาคารไทยมีบทบาทสำคัญ ยกตัวอย่าง ธนาคารไทยพาณิชย์ อำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับกองทัพเมียนมาเพียงกว่า 5 ล้านดอลล่าร์สหรัฐหรือราว 180 ล้านบาท ณ สิ้นสุดมี.ค.ปี 2566 แต่จำนวนเงินที่ทำธุรกรรมพุ่งขึ้นสู่กว่า 100 ล้านดอลล่าร์สหรัฐหรือราว 3.6 พันล้านบาท ณ สิ้น เดือนมี.ค.2567
“ยกตัวอย่างที่เห็นเด่นชัด ในปี 2566 บริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทยกลายเป็นแหล่งอะไหล่สำรองสำหรับเฮลิคอปเตอร์ Mi-17 และ Mi-35 ของรัฐบาลทหาร ซึ่งบริษัทที่จดทะเบียนในสิงคโปร์เคยทำมาก่อน” รายงานระบุ
รัฐบาลทหารใช้เอลิคอปเตอร์เหล่านี้เพื่อขนทหารและโจมตีเป้าหมายที่เป็นพลเรือน เช่น การโจมตีหมู่บ้านปาซีจี ในภูมิภาคสะกาย ในเดือนเม.ย.ปีที่แล้วทำให้มีประชาชนเสียชีวิตราว 170 ราย รวมถึงเด็ก 40 ราย ส่วนกองทัพเมียนมาแจ้งว่า นักรบฝ่ายต่อต้านถูกสังหารหลายรายด้วย
อ่าน ไทยแทนที่สิงคโปร์ รัฐบาลทหารเมียนมาเลือกธนาคารไทยโอนค่าอาวุธ เสบียง