เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 13 ม.ค. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ(บกปภ.ช.) เป็นประธานการประชุม บกปภ.ช.เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัยในภาคใต้ โดยมีองคมนตรี ประกอบด้วย นายพลากร สุวรรณรัฐ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ และ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช เข้าร่วม โดย พล.อ.อนุพงษ์ ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมว่า เมื่อคืนวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา ตนพร้อมด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย และนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้เข้าเฝ้าฯสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

เพื่อกราบทูลในเรื่องของอุทกภัยที่เกิดในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งท่านทรงมีรับสั่งให้เร่งดูแลประชาชนที่เดือดร้อนจากอุทกภัยให้เร็วที่สุด ให้ประชาชนมีชีวิตที่ดี โดยการปฏิบัติต้องบูรณาการกัน มีการวางแผนอย่างดีในการบริหารจัดการ ไม่ซ้ำซ้อน และใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมาช่วยประชาชนให้พ้นทุกข์ สิ่งสำคัญคือท่านทรงรับสั่งให้นำสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงให้ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำไปประยุกต์ใช้

“ท่านรับสั่งด้วยว่า จะให้หน่วยทหารจากหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัย มาช่วยดูแลพ่อแม่พี่น้องที่ลำบาก พร้อมกันนั้น ในการดำเนินการ ท่านได้พระราชทานให้องคมนตรีมาร่วมรับทราบสถานการณ์ว่าเราทำอะไร อย่างไร เพื่อที่ท่านจะได้มีข้อมูล เพื่อพระราชทานความช่วยเหลือได้” พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า เรื่องการเตือนภัยนั้นเป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย ที่จะเป็นหน่วยงานหลักในการแจ้งเตือนในพื้นที่ ซึ่งการแจ้งเตือนครั้งนี้ได้แจ้งเตือนหมดทุกแห่งแล้ว จะเห็นว่าไม่มีประชาชนที่เสียชีวิจากสาเหตุน้ำพัดมา แต่เกิดหลังจากนั้น เช่น การเล่นน้ำ หรือทำกิจกรรมอื่นๆ หลังจากน้ำท่วม

ทั้งนี้ หากให้ประเมินการแจ้งเตือนถือว่ายังมีประสิทธิภาพอยู่ แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือคนไทยยังห่วงบ้าน ทั้งๆ ที่มีการอพยพคนออกไปแล้ว ส่วนอุปกรณ์การเตือนภัย เราใช้ระบบหอกระจายข่าว มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านติดต่อมายังจังหวัดโดยผ่านวิทยุสื่อสาร เราใช้การสื่อสารเท่าที่มี ต้องกระจายข่าวไปให้ได้ ทั้งนี้ จะพัฒนาระบบเตือนภัยให้ดีขึ้นในอนาคต ซึ่งอาจจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก เพื่อให้ระบบการสื่อสารใช้งานได้ตลอดเวลา

เมื่อถามว่า ถึงกระแสข่าวว่าเจ้าหน้าที่ทราบว่าจะมีน้ำท่วมที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ แต่ไม่ได้มีการแจ้งเตือนนั้น พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า มีการแจ้งเตือนไปแล้ว สื่ออย่าพูดส่งเดช ปัญหาอุทกภัยใน อ.บางสะพานนั้น เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกปี เพราะมีภูเขาสูงชัน และอีกด้านหนึ่งเป็นทะเล จึงทำให้น้ำไหลบ่า จะเรียกว่าน้ำท่วมไม่ได้ เพราะเป็นน้ำไหลบ่ามาจากภูเขาเพื่อลงไปที่ต่ำด้วยความรวดเร็ว และเป็นพื้นที่บังคับ ประชาชนอยู่ขวางน้ำ ถนนก็อยู่ตรงนี้ไปที่อื่นไม่ได้ กรณีนี้จึงเป็นเรื่องหนึ่งที่นายกฯ สั่งให้แก้ปัญหา

ส่วนกรณีวันที่ 15-16 ม.ค. จะมีมรสุมเข้ามาในพื้นที่กรุงเทพฯ นั้น พล.อ.อนุพงษ์ บกปภ.ช.ได้แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เตรียมการรับมือกับสถานการณ์ไปแล้ว นอกจากนั้น ให้แต่ละพื้นที่สำรวจว่าพื้นที่ใดเป็นพื้นที่เสี่ยง รวมถึงขั้นตอนการปฏิบัติ และขั้นตอนการฟื้นฟู ทราบว่ามรสุมที่เข้ามาจะมีผลขึ้นมาถึงภาคกลางตอนล่าง ซึ่งในภาคตะวันออกก็จะได้รับผลกระทบบ้างตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวถึงการเยียวยาพืชผลทางการเกษตรของผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ดูแลตามมาตรการกฎหมายที่มีอยู่ โดยจะมีคณะกรรมการสำรวจความเสียหาย ซึ่งในเรื่องการจ่ายเงินเยียวยาต้องทำตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงการคลัง ส่วนจะมีการช่วยเหลือเพิ่มเติมอย่างไรเป็นสิ่งที่นายกฯ จะต้องหารือ รวมถึงความเสียหายของบ้านเรือนก็เป็นไปตามระเบียบของกระทรวงการคลัง ขณะนี้ประชาชนก็ช่วยกันบริจาคเข้ามา และรัฐบาลก็จะนำเงินส่วนนี้มาช่วยเหลือซ่อมแซม รวมถึงสนับสนุนกำลังคน โดยมีกำลังทหารเป็นกำลังหลักในแต่ละพื้นที่ ที่จะบูรณาการทุกภาคส่วนเพื่อช่วยเหลือประชาชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน