“อัศวิน” ประชุมแก้ฝุ่นควัน แจกหน้ากาก N95 หมื่นชิ้น ชี้ ต้นเหตุมาจากรถยนต์ดีเซล ยอมรับฉีดน้ำไล่ แก้ปัญหาปลายเหตุ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ชี้ ตราบใดที่มีรถวิ่ง ปัญหาก็ไม่หายไป แต่จะพยายามควบคุม
ประชุมแก้ฝุ่นควัน – วันที่ 14 ม.ค. ที่ศาลาว่าการกทม. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. แถลงผลภายหลังเป็นประธานประชุมเร่งด่วนร่วมกับกรมควบคุมมลพิษและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือการแก้ปัญหาปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐานในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยมี พล.ท.ธเนศ กัลพฤกษ์ รองเสนาธิการทหารบก (5) พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก (ทบ.) และโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วนอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) พล.ต.ต.นิธิธร จินตกานนท์ ผู้บังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) นายประลอง ดำรงไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) นายดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายกมล พรหมสาขา ณ สกลนคร ผู้แทนกรมอุตุนิยมวิทยา น.ส.วรรณนพร เทียมปฐม ผู้แทนกรมฝนหลวงและการบินเกษตร นายเชษฐา โมสิกรัตน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายประยูร ช่วยแก้ว ผู้แทนองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) นายจักรพันธ์ ห้องสวัสดิ์ ผู้แทนกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และนายมานัส โพธาภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี ร่วมแถลงข่าว
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า สำหรับปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ระหว่างวันที่ 13-14 ม.ค. มีค่าเกินมาตรฐาน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ในพื้นที่ 33 เขตจาก 50 เขตพื้นที่ กทม.จึงเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือเร่งด่วนเพื่อหาทางแก้ไข โดยในที่ประชุม เบื้องต้นได้ออกมาตรการให้ตั้งแต่ช่วงเย็นของวันที่ 14 ม.ค.นี้ ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ของกระทรวงมหาดไทย (มท.) กองทัพไทยและเหล่าทัพ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) สำนักสิ่งแวดล้อมและสำนักระบายน้ำ ระดมรถฉีดน้ำ อุปกรณ์ฉีดน้ำเพื่อดำเนินการฉีดบรรเทาฝุ่นละอองขนาดเล็ก
ขณะเดียวกัน กทม.มอบหมายให้ทุกสำนักงานเขตระดมเจ้าหน้าที่ในการทำความถนนและผิวจราจร จนกว่าปัญหาฝุ่นละอองจะบรรเทาลง นอกจากนี้สำนักอนามัย กทม.ยังจัดเตรียมหน้ากากอนามัยชนิดพิเศษ (N95) รวม 10,000 ชิ้น เพื่อแจกจ่ายประชาชนตามพื้นที่ต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมถึงกระทรวงกลาโหม (กห.) ประสานแต่ละเหล่าทัพ ช่วยจัดหาหน้ากากอนามัย และร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจกจ่ายให้แก่ประชาชน โดย กทม.ยืนยันจะดำเนินการทุกมาตรการที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สถานการณ์ฝุ่นละอองดีขึ้น
- นักวิชาการมธ. ชี้ ฝุ่นพิษทั่วกรุงฯ วิกฤตแล้ว แนะ สั่งหยุดงานทันที 1-2 วัน เผย ฉีดน้ำไม่ช่วยอะไร
- กรมควบคุมมลพิษยัน! ฝุ่นกรุงเทพ ยังไม่วิกฤต ตรวจเจอแค่ 70-100
- สาเหตุหลัก! ฝุ่นกรุงเทพ รถควันดำดันราง จ่อโปรย ‘ฝนเทียม’ ทั่วกทม.
ขอความร่วมมือตร.นครบาล-กรมขนส่ง
ขณะเดียวกันพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ยังแสดงความเป็นห่วงพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก โดยให้กทม.นัดหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดประชุมเร่งด่วน ซึ่งเดิมกำหนดประชุมวันที่ 15 ม.ค.นี้ แต่ต้องเลื่อนประชุมให้เร็วขึ้น นอกจากนี้กทม.ยังได้หารือกับผู้บังคับการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) และกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เข้มงวดหน่วยงานในการตรวจจับควันดำ พร้อมออกข้อบังคับจราจรห้ามรถบรรทุกขนาดใหญ่ทุกชนิดเข้าเขตเมือง ตั้งแต่เวลา 05.00-09.00 น. และ15.00-21.00 น. โดยจะไม่ให้จับปรับทันที แต่จะอาศัยขอความร่วมมือ และตักเตือนให้ดำเนินการตามระเบียบและข้อบังคับจราจร
สาเหตุฝุ่นควัน
พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวต่อว่า สาเหตุของการเกิดฝุ่นละออง PM2.5 เกิดจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ชนิดดีเซล ทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีขนาดเล็กเส้นผมกว่า 20 เท่า โดยกทม.ยอมรับว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการแก้ไขปัญหาปลายเหตุ แต่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความจำเป็นต้องดำเนินการดีกว่าที่ไม่ดำเนินการใดๆ ซึ่งจะต้องให้แต่ละหน่วยงานเข้มข้นและจริงจังขึ้น ปัญหาฝุ่นพิษเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่เริ่มทวีความรุนแรงขึ้นในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากหลายปัจจัยและสาเหตุ เช่น ปัญหารถยนต์ โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ฯลฯ
งดทำฝนหลวง
ส่วนการทำฝนหลวงจะเกิดขึ้นเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองนั้น ทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตรแจ้งว่า ไม่สามารถทำการบินเข้าพื้นที่กรุงเทพฯได้ ด้วยเงื่อนไขการบินทางอากาศที่มีการบินหนาแน่นจากสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง และคุณภาพอากาศที่ต้องมีความชื้น ร้อยละ 60 ขึ้นไป จึงต้องจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วภายในสัปดาห์หน้าที่จ.ระยอง เพื่อให้เมฆฝนพัดพามาสู่พื้นที่กรุงเทพฯ
แจงดราม่าฉีดน้ำใกล้สถานีตรวจวัด
พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวถึงกรณีสังคมตั้งข้อสังเกตการนำรถฉีดน้ำบริเวณสถานีวัดอากาศ เพื่อบรรเทาฝุ่นละอองนั้นเป็นการกระทำมักง่ายให้ค่าฝุ่นลดลงต่ำกว่ามาตรฐานหรือไม่นั้น ว่า เนื่องจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศจะติดตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ที่มีปัญหาฝุ่นละอองรุนแรง เช่น บริเวณถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง ริมถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร เป็นต้น จึงจำเป็นต้องตั้งรถฉีดน้ำเป็นการดำเนินการตามมาตรฐานฝุ่นละออง ไม่ใช่เป็นการสร้างภาพ แต่ต้องการให้ทุกพื้นที่บรรเทาฝุ่น ก่อนจะขยายฉีดบริเวณอื่นที่มีปัญหาฝุ่นรุนแรงลงมาตามอันดับ
ด้านพล.ท.ธเนศ กล่าวว่า ทบ.พร้อมสนับสนุนอุปกรณ์ เครื่องมือและยานพาหนะเพื่อลดปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ให้บรรเทาลง โดยจะเริ่มสั่งการให้แต่ละเหล่าทัพร่วมดำเนินการนำรถและอุปกรณ์ฉีดน้ำตั้งแต่ช่วงเย็นของวันนี้เป็นต้นไป รวมถึงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ทหารร่วมอำนวยความสะดวกและประชาสัมพันธ์พี่น้องประชาชนในการขอความร่วมมืองดเผาในที่โล่ง
ขณะที่ด้านนายประลอง กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 7-9 ม.ค. ค่า PM 2.5 สูงขึ้นโดยเฉพาะในวันที่ 9 ม.ค. ส่วนเมื่อวานและวันนี้ค่า PM 2.5 ลดลง ซึ่งในช่วงเที่ยงอยู่ที่ 70 มคก./ลบ.ม. บริเวณเขตดินแดง ซึ่งตามมาตรฐานจะเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่ค่า 50 มคก./ลบ.ม. หากเกิน 90 มคก./ลบ.ม. จะมีผลต่อสุขภาพของประชาชน และหากมีค่าเกิน 100 มคก./ลบ.ม. เกิน 3 วันติดต่อกัน จะเข้าสู่สภาวะวิกฤต แต่ขณะนี้ยังคงสามารถรักษาสถานการณ์ ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ได้
โดยใน 1 เดือน มีค่าสูงที่ประมาณ 90-100 มคก./ลบ.ม. ประมาณ 5-6 วัน และลดลง ด้วยสาเหตุฝนตกก่อนช่วงปีใหม่ทำให้ชะล้างฝุ่นละออง และจากการควบคุมแหล่งกำเนิดค่า PM 2.5 คือรถยนต์ขนาดเก่าและรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล ที่เป็นสาเหตุของค่าฝุ่นละอองดังกล่าว ในกทม. ร้อยละ 50-60 ส่วนอีกร้อยละ 35 เกิดจากการเผาในที่โล่ง ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัด 5 จังหวัดบริเวณใกล้เคียงและปริมณฑลได้สั่งงดห้ามเผาในที่โล่งในช่วง 1-2 เดือน
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ระบุเรื่องปัญหารถยนต์
นายประลอง กล่าวต่อว่า ตราบใดที่ยังมีรถเเล่นในเขตกทม. ค่าฝุ่นละอองเหล่านี้ย่อมเกิดขึ้นทุกวัน แต่จะพยายามใช้มาตรการเพื่อให้ลดลง ขณะเดียวกันในระยะยาวกรมควบคุมมลพิษได้หารือกับผู้ประกอบการรถยนต์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหากับแหล่งกำเนิดหลักคือ รถยนต์ ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนจากการใช้น้ำมันดีเซลมาใช้น้ำมันดีเซล B 20 ที่จะช่วยลดค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 โดยผู้ประกอบการรถยนต์ก็จะมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฮบริดเพิ่มขึ้น ทั้งนี้หากดูตามสถานการณ์ของภูมิอากาศ คาดว่าค่าฝุ่นละออง PM 2.5 จะลดลงช่วงต้นเดือน มี.ค. เพราะอากาศหนาวจะหมดไป
อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้เริ่มวัดฝุ่นละออง PM 2.5 เมื่อไม่นานมานี้ เนื่องจากสถานการณ์เริ่มรุนแรงขึ้น ส่วนการประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษจะต้องพิจารณาอีกครั้งตามความเหมาะสม พร้อมขอความร่วมมือประชาชนใส่หน้ากากอนามัย และรับฟังการแจ้งเตือนจากทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ขณะนี้ได้รับผลกระทบต่อเนื่องมาแล้ว ผลสะท้อนจากอัตราของผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งมีส่วนประกอบของค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เป็นส่วนหนึ่ง ดังนั้นการตื่นตัวขณะนี้อาจจะสามารถแก้ไขปัญหาโรคดังกล่าวในอนาคตได้ ส่วนกลุ่มผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่
ที่มีความเสี่ยงและได้รับค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เข้าสู่ร่างกาย เป็นกลุ่มเป้าหมายที่หน่วยงานต่างๆ และต้นสังกัดของผู้ปฏิบัติงานต้องช่วยจัดหาหน้ากากอนามัย ไว้ใช้ขณะปฏิบัติงานในพื้นที่ ส่วนที่เห็นเป็นหมอกควันโดยเฉพาะช่วงเช้านั้น ยืนยันเป็นหมอก มีค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ส่วนหนึ่งเท่านั้นแต่ไม่ใช่ในปริมาณสูง จึงไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก