เกษตรกรเฮ! ครม.แก้กฎหมายกองทุน เปิดทางซื้อหนี้คนค้ำคืนได้ – แห่ลงทะเบียน 3.6 แสนราย เป็นหนี้คนค้ำประกัน 2.4 หมื่นล้าน

เกษตรกรเฮ! ครม.แก้กฎหมายกองทุน – นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติปรับปรุง ร่างพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (ฉบับที่…) พ.ศ…. (พ.ร.บ.กองทุนฯ) โดยการแก้ไขกฏหมายที่ว่าด้วยการกำหนดให้มีการชำระหนี้แทนเกษตรกร กรณีบุคคลค้ำประกันได้ จากเดิมการชำระนี้แทน หรือการซื้อหนี้เกษตรกรจากสถานบันการเงิน สามารถทำได้กรณีที่หนี้สินนั้นมีหลักทรัพย์ค้ำประกันเท่านั้น

ทั้งนี้ ครม. เห็นว่าเพื่อแก้ปัญหาและช่วยเหลือประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ จึงแก้ไขกฏหมาย ให้กองทุนฯ สามารถซื้อหนี้สินของสมาชิกที่มีบุคคลค้ำประกันได้ ซึ่งส่วนมากสมาชิกกองทุนฯ เป็นเกษตรกรเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของเกษตรกรได้ ซึ่งเกษตรกรดังกล่าวสามารถมีจุดยืนในการดำรงชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“เกษตรกรที่มาลงทะเบียนเป็นสมาชิกกองทุนฯ ขณะนี้มีจำนวน 3.6 แสนราย มีมูลหนี้อยู่กับสถาบันการเงิน 5.6 หมื่นล้านบาท เป็นหนี้ที่บุคคลค้ำประกัน 2.4 แสนราย มูลหนี้ทั้งหมด 2.4 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยเป็นหนี้ประมาณ 9.6 หมื่นบาทต่อราย สำหรับรายละเอียดและความเสี่ยงของการรับซื้อหนี้ หรือใช้หนี้แทนเกษตรกร กองทุนฟื้นฟูฯ จะต้องหารือกับธนาคารหรือสถาบันการเงินเจ้าหนี้อีกครั้งก่อนพิจารณารับซื้อหนี้ก้อนนั้นๆ”

นายณัฐพร กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ขอให้ครม. พิจารณาอนุมัติหลักการร่างพ.ร.บ.กองทุนฯ ใน 4 เรื่องคือ 1. การแก้ไขวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนเกษตรกร โดยให้กรรมการชุดเดิมปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีกรรมการชุดใหม่ จะทำให้กรรมการสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นการลดช่องว่างในการบริหารงาน 2. การแก้ไขกรณีของสำนักงานใหญ่และสำนักงานสาขาจังหวัด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการเพื่อเป็นการกำหนดให้มีสำนักงานที่มีความเหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นการลดปัญหาการจราจรที่ติดขัด

3. การกำหนดให้มีการชำระหนี้แทนเกษตรกร กรณีบุคคลค้ำประกันได้ เป็นการช่วยเหลือประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งส่วนมากเป็นเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรและสามารถลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของเกษตรกรได้ ซึ่งเกษตรกรดังกล่าวสามารถมีจุดยืนในการดำรงชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ 4. ฝ่ายนโยบาย และผู้ปฏิบัติ สามารถดำเนินงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ลดปัญหาการกระทำที่เสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมาย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน