ลอยกระทง-นางนพมาศ(ตอนจบ)

รู้ไปโม้ด โดย : น้าชาติประชาชื่น

ลอยกระทง : ฉบับวานนี้ (12 พ.ย.) “ศรี” ถามมาว่า จริงหรือที่ว่าลอยกระทงไม่ได้มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยอย่างที่จัดงานกัน นางนพมาศด้วย เมื่อวานตอบเรื่องประเพณีลอยกระทงไปแล้ว วันนี้มาสืบค้นเรื่องนางนพมาศกัน ข้อมูลคำตอบนำมาจากรายการ เช็คอินถิ่นสยาม มติชนออนไลน์ เรื่อง “สมัยสุโขทัยไม่มีลอยกระทง” ดังนี้

ประเพณีลอยกระทงและนางนพมาศนั้นแท้จริงแล้วเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยใด มีข้อสงสัยและเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ด้วยหนังสือเรื่อง “นางนพมาศ หรือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์” ได้มีการจัดพิมพ์ขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2457 โดยมีชื่อเรียกทั้งหมด 3 ชื่อ ได้แก่ 1.นางนพมาศ 2.เรวดีนพมาศ และ 3.ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ผู้ที่แต่งหนังสือเรื่องนี้ขึ้นมา กล่าวกันว่าชื่อ “นางนพมาศ” บิดาเป็นพราหมณ์ เข้ารับราชการเป็นพระปุโรหิตในตำแหน่งพระศรีมโหสถ ยศกมเลศครรไลหงส์ พงศ์มหาพฤฒาจารย์ (พราหมณ์ ผู้ดำเนินพระราชพิธีในวัง) เมื่อครั้งนครสุโขทัยเป็นราชธานีของสยามประเทศ บิดาและมารดานามว่าเรวดีได้นำนางนพมาศเข้าถวายแด่สมเด็จพระร่วงเจ้า (พ่อขุนรามคำแหงมหาราช) ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นสนมเอกในตำแหน่งท้าวศรีจุฬาลักษณ์

ลอยกระทงนาง-นพมาศ(ตอนจบ)

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวิเคราะห์ไว้ว่า ข้อความในหนังสือกล่าวด้วยเรื่องประวัติความเป็นมาของผู้แต่งที่อ้างว่าตนนั้นมีนามว่า นพมาศ ได้ถือกำเนิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระร่วงเจ้า (พ่อขุนรามคำแหงมหาราช) และได้เข้าถวายการรับใช้พระเจ้าอยู่หัวผู้ปกครองเมืองสุโขทัย แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า สำนวนที่ใช้เขียนกลับเป็นสำนวนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ได้ทรงนิพนธ์อธิบายไว้เมื่อพิมพ์ครั้งแรกว่า ทรงเห็นว่ามีข้อความที่กล่าวผิดอยู่หลายแห่ง ยกตัวอย่างจากหัวข้อที่ว่าด้วยชนชั้นต่างๆ หนังสือได้กล่าวถึงชื่อประเทศต่างๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งแท้จริงแล้วยังมิได้มีต่างชาติประเทศใดเข้ามาเมื่อครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี

อย่างไรก็ตาม ทรงกล่าวไว้ด้วยว่า ท่านผู้ศึกษาโบราณคดีสมัยก่อน มีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และกรมวงศาธิราชสนิท ทรงนับถือหนังสือเรื่องนี้อยู่ จึงคาดว่าหนังสือเรื่องนางนพมาศของดั้งเดิมน่าจะถูกแต่งขึ้นโดยท้าวศรีจุฬาลักษณ์พระสนมเอกในสมเด็จพระร่วงเจ้า (พ่อขุนรามคำแหงมหาราช) จริงดังที่กล่าวไว้ หากแต่ฉบับเดิมอาจจะเก่าและขาดหายไปบ้าง จึงมี ผู้ที่อยู่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์แต่งขึ้นใหม่ โดยตั้งใจจะปฏิสังขรณ์ให้เรียบร้อย แต่ผู้แต่งมิได้ถือเอาความจริงเท็จในพงศาวดารเป็นสำคัญ ต้องการจะแต่งให้ไพเราะเพราะพริ้งเรียบเรียงลงไปตามความรู้ที่มีอยู่ในเวลานั้น เรื่องราวในหนังสือจึงวิปลาสไป

กรมศิลปากรจัดจำแนกให้หนังสือทั้ง 3 เล่มอยู่ในสมัยสุโขทัย โดยมีคำอธิบายเรื่องสุภาษิตพระร่วงและเรื่องนางนพมาศกำกับให้รู้ว่า การจัดไว้ให้เป็นวรรณกรรมสมัยสุโขทัยก็เพียงเพื่อ “มิให้เกิดความสับสนแก่ผู้ที่ศึกษาและเพื่อมิให้ขัดกับตำรับตำราว่าด้วยวิชาประวัติวรรณคดีไทยปัจจุบันเท่านั้นเอง” และยังบอกต่ออีกว่า “วรรณคดีเรื่องนางนพมาศน่าจะจัดไว้ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ด้วยเหตุที่การกำหนดยุคสมัยของวรรณคดีนั้นเป็นสำคัญ มิใช่กำหนดจากข้อมูลในเรื่อง…”

ด้านนักวิชาการประวัติศาสตร์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “ความน่าสนใจของหนังสือเรื่องนี้อยู่ที่ว่าเป็นงานวรรณกรรมที่เขียนในสมัยช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ความพยายามที่ไปจัดนางนพมาศเป็นวรรณกรรมสุโขทัยนั้นได้ปิดบังมิให้ได้ เห็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นอันแฝงเร้นอยู่ในวรรณกรรมชิ้นนี้มาเป็น เวลานาน”

สุพจน์ แจ้งเร็ว บรรณาธิการพิเศษของศิลปวัฒนธรรม ก็ได้เคยเขียนบทความเสนอหลักฐานและพยานแวดล้อมอีกจำนวนหนึ่งที่ยืนยันว่าเป็นวรรณกรรมที่เขียนขึ้นในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แผ่นดินรัชกาลที่ 3 เป็นแน่

ประเด็นนางนพมาศหรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์แท้จริงแล้วได้เป็นผู้ประพันธ์หนังสือเรื่องนางนพมาศนี้จริงหรือไม่? สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้รวบรวมข้อมูลและข้อสันนิษฐานทั้งหมดเอาไว้ในหนังสือเรื่อง “ไม่มีนางนพมาศ ไม่มีลอยกระทงสมัยสุโขทัย” เพื่อให้นักอ่านที่สนใจความเป็นมาเป็นไปของประเพณีลอยกระทงและนางนพมาศได้ลองวิเคราะห์พิจารณากันดูว่าข้อเท็จจริงในเรื่องนี้แท้จริงแล้วเป็นอย่างไร ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว สุจิตต์ไม่เชื่ออย่างเด็ดขาดว่านางนพมาศนั้นมีตัวตนอยู่จริง เชื่อว่าเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมาให้เป็นนิยาย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน