ทันตแพทย์เตือน อย่าใช้น้ำยาบ้วนปากนานกว่าแพทย์สั่ง เกิดผลข้างเคียงกว่าที่คิด ระวังเกิดหินปูนดำเกาะฟันทั่วปาก

การทำความสะอาดช่องปากและฟัน ถือเป็นสิ่งที่ต้องทำเป็นกิจวัตรประจำวัน นอกจากการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันให้สะอาดแล้ว น้ำยาบ้วนปากก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ผู้บริโภคนิยมใช้ โดยเชื่อว่าจะสามารถยับยั้งฟันผุ, ยับยั้งคราบจุลินทรีย์, ดับกลิ่นปาก รักษาสุขภาพฟันและเหงือกได้

ทันตแพทย์เผยเคสอุทาหรณ์เตือนประชาชนผ่านทางทวิตเตอร์ส่วนตัว หลังพบคนไข้มองข้ามเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพฟัน โดยมีคราบหินปูนสีดำเกาะบริเวณคอฟันทั่วปาก หลังใช้น้ำยาบ้วนปาก C-20 นานนับปี ระบุว่า “ทุกคนครับ คำเตือนจากทันตแพทย์! วันนี้คนไข้มาที่คลินิกทำฟันด้วยคำบ่น อยากขูดหินปูนเพราะรู้สึกมีหินปูนดำทั่วปาก”

“แต่คราบในภาพแบบนี้มันไม่เหมือนหินปูนทั่วไปเลย เลยสงสัยว่าทำไมเป็นแบบนี้ เลยซักประวัติว่าเคี้ยวหมากมั้ย ก็ไม่ จนในที่สุดซักต่อไปจนรู้ว่าคนไข้ใช้น้ำยาบ้วนปากมานานกว่าปีแล้ว แถมใช้กันทั้งบ้าน และฟันดำกันทั้งบ้านเลยครับ”

“โดยครอบครัวแจ้งว่า นึกว่าอาการฟันดำนี้เป็นพันธุกรรม สงสารคนไข้มากเพราะก็มีคนแนะนำมาอีกที สรุปคุยไปมาคนในซอยใช้กันทุกบ้าน” ซึ่งทันตแพทย์ทำการขูดหินปูนดำแล้วขัด จากนั้นแจ้งให้คนไข้เลิกใช้ พร้อมกล่าวเสริมว่า “แล้วคือน้ำยาบ้วนปากหาซื้อง่ายมาก ใช้ดีแต่ผลข้างเคียงมหาศาลหากใช้นานเกินไป จึงฝากเป็นอุทาหรณ์”

“ใครที่กำลังใช้อยู่ไม่ต้องกังวลหรือแพนิกไปครับ น้ำยาฆ่าเชื้อตัวนี้ทันตแพทย์จ่ายให้ในหลาย ๆ ข้อบ่งชี้อยู่แล้วครับ เช่น เหงือกอักเสบบวมแดงมาก เนื้อเยื่อรอบรากเทียมอักเสบ หลังผ่าฟันคุด (ช่วงที่อาจจะแปรงลำบาก) และอื่น ๆ ตามที่แพทย์เห็นควร แต่ควรใช้ไม่เกิน 2 สัปดาห์แล้วก็พอได้แล้วล่ะครับ”

ตามคำแนะนำของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เผยว่า หากใช้น้ำยาบ้วนปากติดต่อกัน เป็นระยะเวลานาน ๆ อาจจะทำให้ทำลายเชื้อแบคที่เรียที่อาศัยอยู่ในปากให้ตายไปด้วย อาจนำมาซึ่งเชื้อราในช่องปาก ทำให้ตุ่มรับรสของลิ้นเพี้ยนไป อาจทำให้คราบสีฟันและวัสดุอุดฟันเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงอาจทำให้เกิดการหลุดลอกของเนื้อเยื่อในช่องปาก

นอกจากนี้ บทความทางสุขภาพของพบแพทย์ เผยว่าหากใช้น้ำยาบ้วนปากในปริมาณที่พอเหมาะ อาจไม่เกิดผลอะไร แต่หากใช้น้ำยาบ้วนปากเยอะเกินขนาดจะแสดงอาการดังนี้ เวียนศีรษะ, ปวดหัว, ปวดลำคอ, ผิวหนังแดง, คลื่นไส้, ท้องร่วง, อาเจียน (อาจมีเลือดปน), หายใจตื้นและเร็วหรือหายใจช้า, มีปัญหากับการปัสสาวะ, พูดไม่ชัด, การเคลื่อนไหวผิดปกติ, เซื่องซึม และหมดสติไม่รู้สึกตัว

พร้อมทั้งไม่แนะนำให้ใช้เป็นกิจวัตรประจำ โดยควรใช้กรณีเมื่อจำเป็นหรือมีข้อบ่งชี้โดยทันตแพทย์เท่านั้น เช่น เมื่อไม่สามารถทำความสะอาดฟันได้ตามปกติ ผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้มือได้อย่างปกติ และหลังการผ่าตัดเหงือกเมื่อเกิดแผลหรือติดเชื้อในช่องปาก

อย่างไรก็ตาม หากรู้สึกว่ามีกลิ่นปาก ควรมาพบทันตแพทย์เพื่อตรวจหาสาหตุของกลิ่นปาก และแก้ไขที่ต้นเหตุของกลิ่นปากจึงจะได้ผลดีที่สุดและหากมีอาการที่บ่งบอกถึงใช้น้ำยาบ้วนปากเกินขนาดควรพาผู้ป่วยไปพบแพทย์โดยเร็ว

ขอบคุณที่มาจาก ทันตแพทย์จากทวิตเตอร์ พบแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน