ปลัดมหาดไทย ถกขับเคลื่อน-ติดตามนโยบายรัฐบาล-ภารกิจสำคัญ

วันที่ 26 ม.ค.65 ที่ห้องประชุมราชบพิธ ชั้น 5 อาคารดํารงราชานุสรณ์กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนและติดตามนโยบายของรัฐบาลและภารกิจสำคัญของสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย เดือนมกราคม 2565 ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล โดยมี รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ผู้ช่วยปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกลร่วมกับ หัวหน้าสำนักงานจังหวัด และผู้อำนวยการกลุ่มงานในสังกัดสำนักงานจังหวัด

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เน้นย้ำให้ศึกษาข้อมูลเชิงลึกเพื่อให้เข้าใจถึงเจตนารมณ์ที่แท้จริงของการดำเนินการในแต่ละเรื่อง สำนักงานจังหวัดต้องทำความเข้าใจเพื่อให้สามารถสื่อสาร ส่งต่อข้อมูล และติดตามการดำเนินการได้อย่างถูกต้อง เช่น จังหวัดผลสัมฤทธิ์สูง ที่มุ่งเน้นการทำงานเป็นทีม สร้างวัฒนธรรมการทำงานที่เป็นระบบในการบริหารจัดการ มากกว่าการได้รับรางวัล ซึ่งการดำเนินการจะช่วยยกระดับการทำงานให้ดีขึ้นตามแนวคิด Change for good ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของประชาชนได้อย่างเป็นระบบต่อไป รณรงค์การส่งเสริมการใส่ผ้าไทยที่การมุ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก เป็นการสร้างความต้องการ (demand side) ซึ่งจะไปขับเคลื่อนการผลิต (supply side) ให้แข็งแรง ลดการพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศ เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก ไม่ทิ้งอาชีพทอผ้าที่เป็นอัตลักษณ์ของประเทศ และรักษาภูมิปัญญา มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถส่งต่อองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น รวมทั้งการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ซึ่งเป็นการน้อมนำหลักแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาปรับใช้ จะเป็นการช่วยตอกย้ำภาพลักษณ์ ความมีคุณค่าของหลักปรัชญาหรือทฤษฎีใหม่เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals) โดยเน้นย้ำให้สำนักงานจังหวัด ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามการดำเนินการ มีการลงตรวจติดตามเพื่อให้กำลังใจ ตลอดจนแนะนำเพิ่มเติมเพื่อให้การดำเนินการสมบูรณ์ กระตุ้น ปลุกเร้า ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องที่และท้องถิ่นเพื่อนำไปขยายผลไปสู่เจตนารมณ์สูงสุดของโครงการ ที่ครัวเรือนในพื้นที่ต้นแบบกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญ (Guru) สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ และเอื้อประโยชน์ให้กับชุมชนโดยรอบได้อย่างเป็นระบบ โครงการโคก หนอง นา น้ำใจและความหวัง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานโครงการโคก หนอง นา น้ำใจและความหวัง ให้กรมราชทัณฑ์ดำเนินการ ไม่เพียงมุ่งเน้นดูแลผู้ต้องขังเท่านั้น แต่เป็นการดูแลประชาชนในสังคมโดยรวม ซึ่งจากข้อมูลของกรมราชทัณฑ์แสดงให้เห็นว่าอัตราการก่อเหตุอาชญากรรมซ้ำของผู้พ้นโทษ ลดลงจาก 30% เหลือเพียง 10%

ทั้งนี้ ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยได้มีข้อเน้นย้ำเพิ่มเติม ดังนี้ นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เน้นย้ำเรื่องมาตรการและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดของจังหวัด เรื่องการปรับผังสีของพื้นที่ ร้านอาหารที่จะจำหน่ายสุราได้ และการดูแลช่วงเทศกาลตรุษจีนและเน้นย้ำว่าการแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยต้องดำเนินการให้ครบทุกมิติ

นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ด้านบริหาร มีข้อเน้นย้ำให้ทุกจังหวัดถือปฏิบัติให้เป็นไปตามกรอบการดำเนินงานจังหวัดที่มีผลสัมฤทธิ์สูง และพิจารณาเสนอผลงาน PMQA ตามหมวดที่จังหวัดมีความพร้อมตามศักยภาพจังหวัด และเน้นย้ำให้เร่งรัดก่อหนี้ผูกพันงบประมาณของสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ตลอดจนขอให้หัวหน้าสำนักงานจังหวัดให้ความสำคัญกับงานสารบรรณต้องกำกับดูแลเจ้าหน้าที่ ให้ดำเนินการให้เป็นไปตามความเร่งด่วนของเรื่องด้วย

 

 

นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง ขอให้สำนักงานจังหวัดต้องรู้ศักยภาพของบุคลากรของหน่วยงานอื่นๆ ภาคเอกชน ภาคประชาชน เพื่อแนะนำให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการได้อย่างเหมาะสม บูรณาการงบประมาณของทุกหน่วยงานในทุกมิติทั้ง Function/Agenda/Area สำนักงานจังหวัดต้องรู้งานของทุกหน่วยในพื้นที่ นโยบายของหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้สำนักงานจังหวัดเป็นศูนย์กลางของจังหวัดโดยต้องทำงานเป็นนายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ขอให้สำนักงานจังหวัดประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการในการขับเคลื่อนโครงการโคก หนอง นา ตลอดจนกำกับโครงการให้เป็นไปตามระเบียบ การพัฒนา SEDZ เน้นย้ำให้ตรวจสอบความพร้อมพื้นที่เพื่อดำเนินการได้ทันที และเตรียมความพร้อมในการสนับสนุนการดำเนินการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในจังหวัด

นายสรายุทธ แก้วกุลปรีชา รกน.ที่ปรึกษาด้านการปกครอง เน้นย้ำให้จังหวัดพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับพื้นที่ดำเนินการโครงการหลวงที่ชัดเจน เช่น พื้นที่โครงการหลวงในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าต้นน้ำลำธาร เพื่อให้ส่วนราชการสามารถสนับสนุนการดำเนินการและงบประมาณได้ การขับเคลื่อนจิตอาสา ภาคประชาชนยังไม่มีส่วนร่วมเพียงพอ จึงควรเชิญชวนให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมโดยสมัครใจมากยิ่งขึ้น โดยเชื่อมโยงประชาชนในพื้นที่ผ่านนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน

นอกจากนั้นนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทยได้แจ้งให้สำนักงานจังหวัดทราบเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระราชทานแบบลายผ้า “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในการใช้ภูมิปัญญาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์พื้นถิ่นแบบ “งานฝีมือ” หรือ “งานคราฟต์” ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์พื้นถิ่น ทั้งนี้ กรมการพัฒนาชุมชนจะมีการอบรมทั่วประเทศเพื่อพัฒนากลุ่มทอผ้าให้สามารถผลิตผ้าได้ตรงกับความต้องการของตลาด และวงการแฟชั่นยุคปัจจุบัน

“การดำเนินการทั้งหมดจะสำเร็จได้หัวหน้าสำนักงานจังหวัดต้องตระหนักในบทบาทสำนักงานจังหวัดที่เป็นเลขานุการของจังหวัดซึ่งเปรียบเสมือนโซ่ข้อกลางในการเชื่อมโยงนโยบายและการดำเนินงานของทุกส่วนราชการในจังหวัดกับผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานจังหวัดจึงต้องมีข้อมูลการดำเนินการทุกภารกิจของทุกหน่วยที่อยู่ในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้สามารถให้ข้อมูลและคำแนะนำต่างๆ จึงจำเป็นต้องสร้างทีมให้แข็งแรง โดยดึง 7 ภาคีเครือข่ายเข้ามาร่วมในการดำเนินการ” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน