กรมพระศรีสวางควัฒนฯ เสด็จเป็นองค์ประธานประชุมขับเคลื่อนดำเนินโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธาน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

วันที่ 9 ก.พ.65 ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จเป็นองค์ประธานกรรมการการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธาน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ครั้งที่ 1/2565 โดยมี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช นายชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร ในฐานะคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธาน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ร่วมการประชุม ผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting

ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงมีพระดำรัสในการประชุม ใจความตอนหนึ่งว่า “แม้ว่าในปัจจุบันจะมีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าจำนวนน้อย ซึ่งส่งกระทบกับความรู้สึกของประชาชนและครอบครัวผู้เสียชีวิต และคนที่ป่วยก่อนเสียชีวิตและญาติของผู้ป่วยจะต้องทนทุกข์ทรมานอย่างมาก โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์และประชาชนเป็นลำดับแรก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่โศกสลด และต้องเก็บวัคซีนที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียสเพื่อรักษาคุณภาพของวัคซีน และขอให้กำลังใจทุกคนที่ทำงานขับเคลื่อนโครงการฯ นี้ว่า เราทำเพื่อประชาชน ทำเพื่อประเทศไทย โดยพระองค์จะทรงมุ่งมั่นทุ่มเทสุดกำลังพระวรกายเพื่อให้โครงการฯ นี้สำเร็จ และขอให้ทุกคนร่วมช่วยสนับสนุนโครงการฯ ตามกำลังความสามารถเท่าที่จะช่วยได้”

โอกาสนี้ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กราบทูลถวายรายงานผลการดำเนินโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธาน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ประจำปี 2565 ตั้งแต่วันที่ 2 ต.ค. 64 – 31 ม.ค. 65 ในด้านการขับเคลื่อนการดำเนินงานโรคพิษสุนัขบ้าในท้องถิ่น ความว่า “กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่ 4 โดยการขับเคลื่อนการดำเนินงานโรคพิษสุนัขบ้าในท้องถิ่น ดังนี้ 1. การสนับสนุนงบประมาณให้เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลทั่วประเทศเพื่อสำรวจและจัดหาวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า วงเงินรวมทั้งสิ้น 396,000,000 บาท 2. การสนับสนุนให้เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลออกเทศบัญญัติ/ข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อควบคุมการเลี้ยงและปล่อยสัตว์ ซึ่งในขณะนี้ได้ออกเทศบัญญัติ/ข้อบัญญัติท้องถิ่นแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 6,291 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 80.94 การบูรณาการความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานโรคพิษสุนัขบ้าในท้องถิ่น เช่น ดำเนินการจัดการประกวด “โครงการ Thailand Rabies Awards 2022” จัดให้มีสถานสงเคราะห์สัตว์ เพื่อป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าได้อีกทางหนึ่ง จำนวน 38 แห่ง การประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชน”

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กราบทูลถวายรายงานการดำเนินงานศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดนครชัยบุรินทร์ว่า ปัจจุบันมีสุนัขในการดูแล จำนวน 875 ตัว (ข้อมูล ณ วันที่ 23 ม.ค. 65) และสุนัขไซบีเรียนทรงรับอนุเคราะห์ 44 ตัว ในด้านการป้องกันและควบคุมโรค ได้ดำเนินการ 1) ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าก่อนการสัมผัส จำนวน 2,385 คน คิดเป็นร้อยละ 95.01 2) ฉีดวัคซีนหลังการสัมผัส จำนวน 6,655 คน คิดเป็นร้อยละ 98.47 3) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 148 แห่ง ได้ดำเนินการฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขและแมว รวม 401,311 ตัว คิดเป็นร้อยละ 99.21 ของจำนวนประชากรสุนัขและแมวทั้งหมด 4) สามารถควบคุมประชากรสัตว์ด้วยวิธีผ่าตัดทำหมันในสุนัขและแมว รวม 3,665 ตัว 5) อบรมอาสาปศุสัตว์ด้านโรคพิษสุนัขบ้า 681 ราย คิดเป็นร้อยละ 113.5 และ 6) อปท. ออกข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติ เพื่อควบคุมการเลี้ยงสัตว์หรือปล่อยสัตว์แล้ว 331 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 99.39

นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กราบทูลถวายรายงานการดำเนินงานศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดจังหวัดอุดรธานี มีสุนัขจรจัด 119 ตัว เพศผู้ 37 ตัว เพศเมีย 82 ตัว มีผู้อุปการะหาบ้านใหม่ให้สุนัข 29 ตัว แบ่งเป็นเพศผู้ 7 ตัว เพศเมีย 22 ตัว และได้ออกหน่วยเคลื่อนที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ 366 ตัว และดำเนินการควบคุมประชากรสุนัขและแมว 1,919 ตัว อบรมอาสาปศุสัตว์ดเานโรคพิษสุนัขบ้า ปี 2564 จำนวน 400 คน ปี 2565 จำนวน 264 คน (25 ม.ค. – 26 ก.พ. 65) โดยจังหวัดอุดรธานี สามารถสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า ครบทั้ง 180 อปท.

นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กราบทูลถวายรายงานการดำเนินงานศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดจังหวัดนครศรีธรรมราชว่า อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดและศูนย์จัดแสดงสุนัขจังหวัดนครศรีธรรมราช ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยในขณะนี้ มีสุนัขจรจัดในพื้นที่พักพิงชั่วคราว จำนวน 300 ตัว ซึ่งได้ฉีดวัคซีนและทำหมันเรียบร้อยแล้ว และสามารถทำการควบคุมทำหมันสุนัขและแมว รวม 456 ตัว

นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กราบทูลถวายรายงานการดำเนินงานศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดจังหวัดเชียงใหม่ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างศูนย์พักพิงสัตว์เชียงใหม่ ในพื้นที่หมู่ที่ 5 บ้านหัวฝาย ตำบลห้วยทราย อำเภอแม่ริม พื้นที่ 90 ไร่ 1 งาน 96 ตารางวา โดยได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ให้ใช้พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ริม และดำเนินการปลูกป่าทดแทนเพื่อการอนุรักษ์หรือรักษาสภาพของพื้นที่

นายชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร กราบทูลถวายรายงานการดำเนินงานศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1) ศูนย์ควบคุมสุนัขกรุงเทพมหานคร (ประเวศ) มีสุนัขในการดูแล 16 ตัว 2) ศูนย์ควบคุมสุนัขกรุงเทพมหานคร (จังหวัดอุทัยธานี) มีสุนัขในการดูแล 3,573 ตัว โดยในขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างปรับปรุงศูนย์ควบคุมสุนัขกรุงเทพมหานคร (ประเวศ) ให้เป็นคอกสุนัขต้นแบบของการพักพิงสุนัขอย่างถูกสุขลักษณะ และเป็นศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับสุนัขและคัดกรองโรคก่อนส่งต่อไปยังศูนย์ควบคุมสุนัขกรุงเทพมหานคร (จังหวัดอุทัยธานี)

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า เป็นโครงการตามพระปณิธานของศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่ทรงตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย และทรงห่วงใยในสุขภาพของคนไทย ตลอดจนสัตว์เลี้ยง สัตว์จรจัดไร้ที่พึ่ง โดยทรงมีพระประสงค์ให้โรคพิษสุนัขบ้าหมดไปจากประเทศไทยอย่างยั่งยืนตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก ในอดีตประเทศไทยพบผู้ป่วยติดเชื้อและเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ หลังจากดำเนินโครงการฯ ตั้งแต่ปี 2560 พบว่าสถิติจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าลดลงอย่างมาก สอดคล้องกับจำนวนสัตว์ที่ป่วยด้วยโรคพิษสุนัขบ้าลดลง เป็นผลจากการบูรณาการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้แนวพระนโยบาย และการกำกับติดตามขององค์ประธาน และคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการฯ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน การดำเนินโครงการในระยะที่ 2 ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2564-2568 เป็นการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องในการขจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทยอย่างยั่งยืน นับแต่ต้นปี 2564 พบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า 4 ราย ด้วยข้อจำกัดในการปฏิบัติงานภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้การสำรวจข้อมูลประชากรสุนัขและแมวลดลงกว่าปีที่ผ่านมา

“กระทรวงมหาดไทยมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนการดำเนินงานโรคพิษสุนัขบ้าในทุกท้องถิ่น ทั้งเทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบลทั่วประเทศ เพื่อป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนรวมทั้งภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้ตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธาน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เพื่อสัตว์ปลอดโรค ประชาชนปลอดภัยอย่างยั่งยืน” พลเอก อนุพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน