เมื่อเร็วๆ นี้ นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธี เปิดป้ายสุดยอด “ชุมชนต้นแบบ เที่ยวชุมชน ยลวิถี ประจำปี 2565” ชุมชน คุณธรรมฯ บ้านหนองบัว จ.สุรินทร์ ซึ่งได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 10 สุดยอดชุมชนยลวิถี ประจำปี 2565 ของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)

โดยมี นายวีรศักดิ์ พิษณุวงษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดสุรินทร์, นายศักรินทร์ ทุมเสน ปลัดจังหวัดสุรินทร์ ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม วัฒนธรรมจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 19 จังหวัด ผู้แทนสภาวัฒนธรรมจังหวัด ชาวชุมชนบ้านหนองบัว นักท่องเที่ยว และสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ วัดป่าอาเจียง ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์

เปิดงานด้วยการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน รำคล้องช้าง และรำมูดมัด นั่งช้างแห่ต้นผ้าป่าสามัคคี วิถีคน วิถีช้าง พาชมสถานที่ท่องเที่ยวภายในวัดป่าอาเจียง อันเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางศาสนาที่สำคัญของชุมชน แห่งนี้ ได้แก่

1.บ้านคนบ้านช้าง 2.ไหว้ศาลปะกำ 3.สุสานช้าง 4.พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านชาวกวย 5.ชมนิทรรศการ มองกล้อง ส่องเลนส์ “วิถีคน วิถีช้าง” ชมการสาธิตและผลิตภัณฑ์ชุมชนมากมาย อาทิ สาธิตทำแหวนหางช้าง ตะขอช้าง การทอผ้าไหม อาหารพื้นบ้าน ขนมพื้นบ้าน ข้าวต้มด่าง การทำกระถางจากมูลช้าง และสาธิตอาหาร 3 ชาติพันธุ์ เฮ็ดอยู่ เฮ็ดกิน เฮ็ดบุญ เฮ็ดทาน ต่อด้วยขึ้นรถนำเที่ยวสู่ศูนย์คชศึกษา ชมโลกของช้าง จ.สุรินทร์ เข้าพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง แวะชมการแสดงช้างแสนรู้ ที่ลานแสดงช้าง

นางยุพากล่าวว่า ในปี พ.ศ.2566 กระทรวงวัฒนธรรมมุ่งขับเคลื่อนงานด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม จากกระทรวงสังคม สู่กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ ตามนโยบายเปลี่ยนฉากทัศน์วัฒนธรรม สู่ก้าวที่มั่นคงและยั่งยืน เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชนและประเทศชาติ ทั้งมิติทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยบทบาทงานวัฒนธรรม จะต้องมีการตอบโจทย์สถานการณ์โลกในยุคหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กระทรวงวัฒนธรรมจึงเปิดตัวสุดยอดชุมชนคุณธรรมต้นแบบ เที่ยวชุมชน ยลวิถี ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านหนองบัว จ.สุรินทร์ ขึ้นอย่างเป็นทางการ เปิดชุมชนให้เป็นที่รู้จักถึงศักยภาพและแหล่งท่องเที่ยวที่มีความ เข้มแข็งของชุมชน ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมกับคนในพื้นที่ เกิดการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่มีเสน่ห์มากขึ้น

ประชาชนส่วนใหญ่ในชุมชนบ้านหนองบัวเป็นกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมือง “กูย”

มีลักษณะเด่นเฉพาะ มีความชำนาญในการจับช้างและเลี้ยงดู เกิดเป็นความผูกพันระหว่างคนกับช้างกลายเป็นอัตลักษณ์แห่งวิถีกูยอาเจียง (คนเลี้ยงช้าง) มาอย่างยาวนาน เป็นที่รู้จักและถูกเรียกว่าเป็นหมู่บ้านช้างที่มีช้างเลี้ยงมากที่สุดในประเทศไทยและมากที่สุดในโลก นั่นคือ คชศาสตร์ชาวกูย ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

นอกจากนี้มีการแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมืองกูยที่มีอัตลักษณ์ มีแหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่นของชุมชน เช่น วัดป่า อาเจียง ศาลาเอราวัณ เรียนรู้วิถีชีวิตคน กับช้าง มีการแสดงศิลปวัฒนธรรมที่มีเสน่ห์ของชาวกูย จัดกิจกรรมป้อนอาหารช้าง อาบน้ำช้าง ถ่ายรูปกับช้าง พายเรือพื้นบ้าน เป็นต้น

อีกทั้งยังส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีดั้งเดิมของชุมชนในรูปแบบการมีส่วนร่วมระหว่างคนในชุมชนและนักท่องเที่ยว นำเที่ยวชุมชนโดยมัคคุเทศก์ท้องถิ่นหรือมัคคุเทศก์น้อย จัดกิจกรรมทำบุญตักบาตรกับช้าง การทำอาหารพื้นบ้าน งานหัตถกรรม เปิดกิจกรรม Work-Shop ทำกระถางจากมูลช้าง ทำแหวนหางช้าง การแสดงพื้นบ้าน ประเพณีบวชนาคช้าง และเชิญชวนช็อปผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (Cultural Product of Thailand : CPOT) ตะขอช้าง แหวน หางช้าง ตะขอช้างมงคลใส่กรอบที่ทำมาจากมูลช้าง

ถือเป็นการต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชน ให้มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้แก่ชุมชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน