หลังน.ส.อัญชะลี ไพรีรัก สื่อมวลชน ที่รู้จักกันดีในชื่อ “เจ๊ปอง” ผู้มีบทบาทสำคัญ ทั้งในการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อปี พ.ศ.2549 และเมื่อปี พ.ศ.2551 เป็นผู้จัดรายการเล่าข่าวยามเช้าบนเวทีปราศรัย รวมถึงในช่วงปี พ.ศ.2556 – 2557 เป็นพิธีกรประจำเวทีการชุมนุมของกปปส. ได้แสดงความคิดเห็นขณะจัดรายการทีวีด้วยอารมณ์เดือดดาล ถึง หน่วยคอมมานโด ทำการเข้าจับกุม “นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ” หรือ “พระพุทธอิสระ” ที่วัดอ้อน้อย จ.นครปฐม ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา คดีอั้งยี่ซ่องโจร และคดีปลอมพระปรมาภิไธย

นอกจากนี้ยังกล่าวโจมตีอย่างดุเดือดถึงเสก โลโซ ร็อกเกอร์ชื่อดังของเมืองไทย ที่ออกมาโพสต์ข้อความโจมตี นายสุวิทย์ หรือ พระพุทธะอิสระ ทางเฟซบุ๊กส่วนตัว

โดยตลอดการจัดรายการ ‘เจ๊ปอง’ ใช้ถ้อคำหยาบคาย และไม่สุภาพ พร้อมกิริยาท่าทางโผงผาง เต็มไปด้วยอารมณ์

อ่าน : “เจ๊ปอง” เดือดพล่าน! กลางรายการข่าว ปม ตร. จับนายสุวิทย์ ไม่วายเหน็บ ‘เสก โลโซ’

ล่าสุด วันที่ 1 มิ.ย. ข่าวสด จึงสอบถามไปยัง ดร.นิพนธ์ นาคสมภพ นายกสมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม (ประเทศไทย) ว่าพฤติกรรมการอ่านข่าวของ ‘เจ๊ปอง’ ถูกต้องและเหมาะสมหรือไม่

ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า ในเมื่อต่างคนต่างเลยเส้นแล้วจะโทษใครว่าเลยเส้นใครมันคงลำบาก มันอยู่ที่คนจุดประเด็น คือ ตนคิดว่า วิธีการพูดของพิธีกรวันนี้พัฒนาไปมาก จะตัดสินว่าเหมาะสม ไม่เหมาะสม ก็พูดยาก สมัยก่อน การพูดในโทรทัศน์หรือวิทยุที่เหมาะสม คือ การอ่านหน้านิ่งๆ เฉยๆ ซึ่งสมัยนี้ถามว่า แบบนั้นมีไหม ไม่มีนะ มันไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย คือ เป็นทุกประเทศ เหมือนกับว่า มีการใส่บทบาทมากขึ้น เป็นบทบาทมีอารมณ์ร่วมหรือเปล่าเราไม่รู้ แต่เขาใส่บทบาทได้มากขึ้น เป็นตัวของคนใดคนหนึ่ง เป็นตัวแทนของคนฟัง คนฟังสะใจแล้ว คือ ไม่ต้องร้องไห้เอง ไม่ต้องด่าเอง มีคนด่าแทน ถ้าแบบนี้เป็นลักษณะของตัวแทน การพูดแบบนี้ ถามว่าเป็นเท็จหรือเปล่า ไม่ผิด

‘เจ๊ปอง’ ก็พูดแบบนี้มานานแล้ว คิดอย่างนี้ เคยมีคนถามว่า มันเป็นจรรยาบรรณหรือเปล่า ต้องบอกว่ามันพัฒนามาไกลมากทุกวันนี้ ไกลเกินกว่าที่จะคาดคิด แล้วถ้าคุณบอกว่า คือจรรยาบรรณ ก็จะถามว่าจรรยาบรรณตรงไหน ของใคร ใครที่เรียกว่า ตรงไหนคือจรรยาบรรณ บางคนไม่ได้ด่าเลย แต่โกหกตลอดเรื่องก็มี แล้วจรรยาบรรณมันอยู่ตรงไหน วันนี้ถือว่าอะไรก็ตามที่นำเสนอออกมา ต้องไม่ทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญแค่นั้น ถ้าคุณทำตัวเลว แล้วไม่ให้เขาด่าว่าเลวได้ไหม แต่ไม่ได้พูดคนเดียวนะ เพราะว่าแม้กระทั่งก็ไปดูหลายๆ ที่ อย่างช่วงที่มีการอภิปรายบนเวทีเสื้อเหลืองเสื้อแดง เขาก็เขียนไว้ข้างเวที ว่าห้ามคำพูดคำหยาบ แต่เวลาขึ้นไปทุกคนก็เลยทุกคน มันมีอารมณ์ร่วม

ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า เพราะ สังคมยอมรับถึงได้มีคนดู ในสังคมของเขา ตนอาจจะไม่ใช่คนที่ยอมรับ แล้วก็ไม่เปิดดู เพราะนี่คือสังคมผม กรณีนี้ต้องดูฝ่ายตรงข้ามทำพฤติกรรมเหมาะสม พฤติกรรมที่ควรด่าไหม สมมุติคุณกราบพระสักองค์ แล้วคุณคิดว่าท่านดี ดีไม่ดีก็อีกเรื่อง แล้วมีคนเข้ามาทำแบบนี้ ในขณะคนอื่นไม่ทำคุณด่าไหม เขาก็ด่าแทนไง ถ้าถามว่าเขาเป็นสื่อหรือเปล่า เขามีจรรยาบรรณไหม มันไม่ใช่จรรยาบรรณของผู้ประกาศข่าวนะ ผู้ประกาศข่าวมันมีมุมมองของเขาอยู่ มันมีอารมณ์ร่วมได้บางส่วน แต่ทุกวันนี้มันเป็นการใส่อารมณ์เลย เช่น อาจจะเป็นมิติใหม่ในการเสนอข่าวหรือเปล่า

ขึ้นอยู่กับมาตรฐานของช่อง ถ้าเป็นช่องตนทำแบบนี้ไม่ได้ แต่ก็มีได้ระดับหนึ่ง ถ้าถามว่าระดับไหน ก็ระดับที่ กสทช. ยอมรับได้ เราไม่ได้ตัดสินเอง อย่างเจ๊ปองเนี่ย ตนคงไม่ได้ตัดสินหรอก กสทช. คงจะเป็นผู้ตัดสิน ถ้าออกทางทีวีหรือออกทางวิทยุ

ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า ก็ถ้ามาตรฐานเขารับได้ ก็แปลว่ารับได้ เพราะว่าผู้กำกับมาตรฐานในขณะนี้ก็คือ กสทช. แต่ก็เห็น กสทช. ก็ไม่ยอมรับมาหลายเรื่อง โดยการลงโทษปิดสถานี ไม่ต่ออายุสัญญาใบอนุญาตให้เป็นดาวเทียม ให้เป็นทีวีดิจิตอล ให้หยุดออกอากาศบ้าง ห้ามโฆษณา ก็ลงโทษไป หรือว่าห้ามบุคคลคนนั้นมาออกอากาศ ซึ่งอันนี้มันเป็นมาตรฐานกลาง ที่ต้องผ่าน กสทช. แต่ถ้าเป็นมาตรฐานของช่องก็อีกเรื่อง

ถ้าไปร้องเรียน ต้องพิจารณาว่า ปกติคุณดูช่องนี้หรือเปล่า ถามว่าช่องดิจิตอลมีให้ตั้ง 20 กว่าช่อง แล้วคุณมาดูช่องตนทำไม ถ้าดาวเทียมก็มีตั้ง 300 กว่าช่อง คุณมาดูช่องตนทำไม คุณจะดูเพื่อจับผิด หรือคุณจะด่า หรือดูเพราะคุณชอบ แต่ว่ามาตรฐานเมื่อก่อนมันเคร่งครัด เพราะ มีอยู่แค่ 4 ช่อง คุณไปไหนไม่ได้ ต้องบังคับให้ดู ขณะนี้ผู้บริโภคดูทีวีไม่ได้เดือดร้อนเลย ไม่อยากดูตรงไหนก็เปลี่ยนช่องดู นอกจากคุณเป็นฝ่ายตรงข้ามที่จ้องจับผิด

ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า กรมประชาสัมพันธ์มีมาตรฐานของ กสทช. อยู่ ในมาตรา 37 ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของความมั่นคง อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับความมั่นคง อันนั้นเป็นเรื่องของ กสทช. ที่จะพิจารณา อะไรก็ตามที่เป็นระบบหลอกลวง ถ้าออกข่าวโกหก กสทช. ทาง กสทช. ก็จะตัดสิน กสทช. ไม่ได้ตัดสิน ก็ศาลตัดสินได้ คือ ไม่อยากให้ใครคนใดคนหนึ่งไปตัดสินกับใครคนใดคนหนึ่ง บังเอิญใครคนนั้นเป็นคนที่เขาชอบ แม้ว่าตนไม่ชอบหรือชอบก็ตาม

แต่ถามว่าถ้าคุณไม่ชอบคุณจะทนดูทำไม ก็เปลี่ยนช่อง แต่ถ้าเขาพูดเท็จแล้วคุณเชื่อ แล้วมาทำให้คุณเสียหาย คุณต้องฟ้องนะ เพราะ เขากล่าวความเท็จ ทำให้คุณเข้าใจอะไรผิด แล้วคุณบังเอิญไปเป็นผู้เสียหาย คุณฟ้องได้เลย และถ้าสมมุติว่า เขาอัดตำรวจ ทั้งเสกโลโซ และตำรวจ ก็เป็นคนฟ้อง ถ้าเสกโลโซ กับตำรวจไม่รู้สึกว่าเขาอัด เขาก็ไม่ฟ้อง ในเมื่อถ้าไม่ฟ้องก็ไม่ผิด แต่ถ้าฟ้อง ศาลก็ตัดสินว่ามันใช่หรือไม่ ศาลก็ต้องตัดสินแล้วว่าที่คุณทำนั้นสมควรให้เขาด่าหรือเปล่า แต่ให้ใช้คำที่ว่า ผู้บริโภคทนไม่ได้เนี่ย ตนว่ามันเป็นคำที่ล้าสมัย คุณมีช่องมากกว่าคุณจะรับได้

‘อาจารย์เจษ’ ทวงถาม กสทช. ปมปล่อย ‘ป้าปอง’ อ่านข่าวสุดหยาบคาย !!

กสทช.ชี้ไม่เกินเลย ปม‘เจ๊ปอง’เดือดพล่านออกรายการ-พูดหยาบ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน