จากกระสือ ถึงปอบ เมื่อคนมีอำนาจ มักกล่าวหาผู้หญิง ว่าเป็นผี และบทลงโทษที่เจ็บปวด

กระสือ – กระแสคนพบเห็นผีกระสือ ออกมาอีกครั้ง ทำให้ผู้คนส่วนหนึ่งตั้งคำถามว่าในยุคที่โลกพัฒนาไปมากแล้ว แต่ทำไมยังมีคนเชื่อว่ามีผีอยู่ โดยเฉพาะผีกระสือ ซึ่งที่จริงแล้วยังไม่มีใครสามารถพิสูจน์ได้ว่ามีจริงหรือไม่ และหากว่ามีจริง รูปร่างจะมีลักษณะเช่นไร

อย่างไรก็ดีหากมองย้อนถึงบริบททางสังคมจะเห็นได้ว่า ผี มีความผูกพันกับวิถีชีวิตของชาวไทยมาแต่โบราณ ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ความเชื่อเรื่องผีก็ถูกท้าทายมากยิ่งขึ้น และเมื่อมีข่าวเรื่อง ผีกระสือ ก็มีความคิดเห็นในเชิงตั้งคำถามกับเรื่องนี้ และข้องใจว่า ผีมีจริงหรือไม่

โดยก่อนหน้านี้ มักปรากฎข่าวว่ามีชาวบ้าน พบคนเป็นปอบ และต้องถูกขับไล่ออกจากที่อยู่อาศัย เนื่องจากคนส่วนใหญ่เชื่อว่า เขาเป็นคนที่นำความเดือดร้อนมาสู่ชุมชน กระทั่งมีผู้ศึกษาว่า ผีปอบ แท้จริงแล้วเป็นอย่างไร เป็นผีจริงๆหรือไม่ และนำมาซึ่งเรื่องร้ายๆในหมู่บ้านที่เขาอยู่อย่างไร

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ในงานศึกษาเรื่อง ผีปอบ : วาทกรรมตกค้างในยุคออนไลน์ และเรื่อง การทำให้เป็น ผีปอบ และการกีดกันทางสังคม ในมุมมองของการบริหารความขัดแย้ง พบว่า ในมุมมองของนักมานุษยวิทยา และสังคมวิทยา ปอบ คือ การพิพากษาของสังคม ต่อผู้ที่มีอุปนิสัยโดดเดี่ยว ไม่ชอบพูดจา มีความสัมพันธ์กับคนอื่นในชุมชน หรือสังคม

หรืออาจเป็นคนที่มีความคิดผิดแผกจากวิถี ครรลองประเพณีนิยมประจำท้องถิ่น เป็นความคิดที่ต่างไปจากความเชื่อเดิมในสังคมนั้นๆ เมื่อเห็นว่าเขาเป็นผีปอบและได้เล่าลือกันจนเชื่อไปทั้งหมู่บ้าน หรือชุมนุมแล้ว

จึงเกิดความพยายามกีดกัน และขับไล่ให้คนที่ถูกพิพากษาออกไปจากสังคม

ขณะที่มิติด้านวัฒนธรรมนั้น “ผีปอบ” เป็นความเชื่อทางธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ และถือว่าเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของมนุษย์ โดยในสังคมจะมีชุดความเชื่อที่ถูกยึดถือเป็นแนวทางหลัก ซึ่งเมื่อใดที่มีผู้ท้าทาย ฝ่าฝืน หรือหลีกเลี่ยงกฎเกณฑ์ สังคมจึงต้องหาวิธีที่จะบังคับให้คนอยู่ในระเบียบอย่างเข้มงวด

ฉะนั้น ผีปอบ จึงเปรียบเหมือนกุศโลบายใน “การควบคุมทางสังคมถูกส่งผ่านในรูปของ “การควบคุมผ่านความเชื่อ” เป็นตัวควบคุมพฤติกรรมคนในสังคม ให้ดำเนินชีวิตตามวิถี ครรลองประจำถิ่นนั้นๆ ให้เกรงกลัวไม่กล้ากระทำผิด เพื่อรักษาไว้ซึ่งความสงบของสังคม

อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่ากลัวกว่าการสร้างความเป็นอื่น ก็คือการสร้างภาพผีปอบ จากผู้มีอำนาจ ขู่บังคับผู้ที่มีอำนาจต่ำกว่า โดยเป็นการกล่าวหาที่ปราศจากหลักฐานในเชิงประจักษ์ หรือมีข้อพิสูจน์ได้อย่างแท้จริง ทำให้บุคลลที่ถูกกล่าวหาโดนขับไล่ หรือถูกลงโทษจากสังคม

แต่ที่น่าแปลกคือว่า ทำไม “ผีปอบ” มักเลือกเข้าสิงเฉพาะหญิงวัยกลางคนขึ้นไปจนถึงคนสูงอายุ ที่มีฐานะยากจน ไร้การศึกษา หรืออยู่ในระดับพื้นฐาน หรือไม่ก็คนที่สติปัญญาไม่สมประกอบ ซึ่งเป็นคนที่มักไม่ค่อยมีอำนาจต่อรองในชุมชน หรือเป็นกลุ่มคนที่อยู่ชายขอบของชุมชน

ในดินแดนล้านนา ข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงที่สุดของสังคมเมื่อครั้งอดีต คือการโดนกล่าวหาว่าเป็นผีกะ (ผีปอบ) ซึ่งครอบครัวของคนใดที่ถูกกล่าวหาจะโดนขับไล่ออกจากหมู่บ้านที่อาศัยอยู่ ถูกเผา และยังถูกริบไร่นา แม้แต่เจ้าก็ไม่สามารถช่วยเหลือหรือปกป้องได้ หรือในกรณีที่เจ้านาย อยากได้ที่ดินของชาวบ้าน ก็มักใส่ร้ายว่าคนๆนั้นเป็นผีกะ เพื่อทำให้เขาไม่สามารถอยู่ในพื้นที่เดิมได้

แต่ในปัจจุบันเมื่อคนเป็นปัจเจกมากขึ้น ผีปอบ หรือ ผีกะ มีพลังน้อยมากที่จะเป็นเครื่องมือในการควบคุมสังคม รวมไปถึงการสร้างความเป็นอื่นด้วยการกล่าวหาว่าเป็นผีปอบ ก็มีให้เห็นน้อยเต็มที

จากบทสรุปของงานศึกษาจะเห็นได้ว่า การกล่าวหาว่าใครคนหนึ่งคนใดเป็นปอบนั้น ไม่ได้มีข้อชี้ชัดที่แท้จริง แต่เป็นเพียงข้อกล่าวหา ให้คนที่มีอำนาจในการต่อรองน้อยที่สุดในชุมชน หรือคนที่มีชีวิตแตกต่างจากผู้คน เสียดายที่ยังไม่มีงานศึกษาเกี่ยวกับผีกระสือ

แต่หากมองในบริบทของคำว่า ผี งานศึกษาที่หยิบยกมานี้ น่าจะทำให้พอเห็นได้ว่า การเกิดขึ้นของผีปอบนั้นเป็นอย่างไร และทำไมเขาถึงถูกทำให้เชื่อว่าเป็นผีปอบ

__________________________________________________________________

อ่านข่าว ลือพบกระสือที่ปราจีนบุรี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน