พาณิชย์งัด 2 มาตรการรับมือราคาสินค้าพุ่ง หลังขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท สั่งจับตาราคาเสื้อผ้าใกล้ชิด เร่งขอความร่วมมือผู้ประกอบการตรึงสินค้าที่จำเป็น 8 หมวด
วันที่ 17 พ.ค.2567 นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงภาคเอกชนเตรียมปรับขึ้นราคาสินค้า 10-15% หากรัฐบาลปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศในเดือนต.ค.2567 ว่า ต้องรอผลสรุปเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงของกระทรวงแรงงานก่อน ขณะนี้ยังไม่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จึงยังไม่มีสินค้ารายการใดปรับราคาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค 8 หมวดที่จำเป็นต่อการครองชีพ ซึ่งก่อนหน้านี้กรมได้ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการช่วยตรึงราคาเอาไว้ก่อน
ทั้งนี้ หากมีการปรับขึ้นค่าแรง กรมได้เตรียมมีมาตรการดูแลราคาสินค้าและบริการไว้แล้ว 2 มาตรการคือ 1.มาตรการทางการบริหาร ด้วยการเชื่อมโยงสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพราคาพิเศษจากผู้ผลิตไปจำหน่ายให้กับประชาชน ผ่านโครงการร้านค้าธงฟ้า ร้านค้าโมบายธงฟ้า รวมถึงการงานธงฟ้าราคาประหยัดในพื้นที่ เน้นพื้นที่ในจังหวัดเมืองรอง
2.มาตรการทางกฎหมาย ซึ่งนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ กำชับว่าการพิจารณาเรื่องราคาสินค้าให้ใช้หลักของความสมดุลระหว่างผู้ประกอบการและผู้บริโภค 2 ฝ่ายต้องอยู่ร่วมกันได้ การปรับราคาจะต้องพิจารณาต้นทุนเป็นรายการ และเป็นกลุ่มสินค้า
“ขณะนี้เรายังขอความร่วมมือผู้ประกอบการ ยืนยันว่ายังไม่มีการปรับขึ้นราคาสินค้า แต่หากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ กลุ่มสินค้าที่จะได้รับผลกระทบ และต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดคือ สินค้ากลุ่มเสื้อผ้า ซึ่งใช้แรงงานคนในการผลิต ส่วนกรณีร้านอาหาร และภัตตาคารที่มีการใช้แรงงานเข้มข้นนั้น เป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงอาจจะกระทบไม่มาก รวมทั้งกรมการค้าภายใน ก็มีโครงการจำหน่ายสำเร็จรูปราคาพิเศษในบริเวณศูนย์อาหาร หรือฟู้ดคอร์ทของห้างต่างๆ อยู่แล้ว”
นายวัฒนศักย์ กล่าวถึงราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องว่า ราคาดีเซลที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่งสินค้า ซึ่งค่าขนส่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของต้นทุนการผลิตสินค้า ยังมีต้นทุนในส่วนอื่นๆ อีก ที่จะต้องมีการพิจารณา ซึ่งก็มีทั้งปรับเพิ่มขึ้น และปรับลดลง