(24 ก.ค.62) เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่มีใครหนีพ้น เป็นสัจธรรมของชีวิตที่ทุกคนต้องพบเจอ เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาหลังจาก “ครูรงค์” เดชดำรงค์ ส.อำนวยศิริโชค เสร็จสิ้นภารกิจงานฌาปนกิจ “คุณยายเจียม ชีวะระ” พี่สาวแท้ๆ ของยายที่จากไปในวัย 101 ปี จึงได้มีโอกาสพูดคุยถึงบุคคลต้นแบบการสู้ชีวิตคนหนึ่งของตนเองให้ฟัง

เกาะติดข่าวกีฬา แค่กดติดตาม ไลน์@ข่าวสดกีฬา ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

“ครูรงค์” เดชดำรงค์ ส.อำนวยศิริโชค หรือ “ธำรง ทองใย” นักสู้บ้านนอกจากจังหวัดตรังที่เติบโตมาพร้อมพี่น้องอีก 2 คนในครอบครัวที่มีฐานะยากจน พ่อแม่ของครูรงค์ต้องทำงานหนัก จึงต้องฝากลูกๆ ไว้กับ “ยายจวน ขุนแดง” ผู้เป็นยายแท้ๆ คอยดูแลและอบรมสั่งสอน นานๆ ถึงจะได้เจอพ่อแม่สักที

ชีวิตของครูรงค์ตั้งแต่สมัยจำความได้ มีวิถีตามประสาคนท้องไร่ท้องนา อาศัยยิงนกตกปลาทำอาหารประทังชีวิต ช่วงไหนขาดแคลนก็ไปฝากท้องที่วัดหรือขอแบ่งอาหารจากญาติๆ บ้านใกล้เรือนเคียง หุงหาอาหารมาแบ่งกินด้วยกัน ซึ่งหลายครั้งที่ครูรงค์ต้องไปฝากท้องที่บ้าน “ยายเจียม” ซึ่งเป็นพี่สาวแท้ๆ ของยายจวน

อ่าน – เดชญฤทธิ์ ศ.เดชดำรงค์ เดินตามรอยพ่อสืบสานมรดกประจำชาติ

ยายเจียมเป็นหญิงชราผู้น่าสงสาร ดวงตาเป็นต้อมองไม่เห็นชัดเจน แต่ไม่เคยอยู่นิ่งเฉย ยายทำงานทุกอย่าง เบาไม่ท้อ หนักไม่ถอย จนกระทั่งอาการกำเริบสุดท้ายรักษาไม่หาย ตาบอดสนิททั้งสองข้าง

“ครอบครัวของผมฐานะยากจน บางวันไม่มีข้าวกิน แต่เรามีพี่น้องญาติสนิทที่คอยช่วยเหลือเกื้อกูลแบ่งปันกัน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือยายเจียมที่อยู่บ้านติดกันและผมเห็นมาตั้งแต่เด็กๆ”

“ยายเจียม เป็นแรงบันดาลใจคนสู้ชีวิตของผมตั้งแต่ยังเล็ก ขนาดตาแกมองไม่เห็น และระยะหลังหูก็ไม่ค่อยได้ยินด้วย แต่แกยังสู้ชีวิต ไม่เคยคิดท้อแท้ ไม่ยอมเป็นภาระให้กับลูกหลาน แกช่วยเหลือตัวเองทุกอย่าง ยามว่างทำความสะอาดบ้าน เย็บปลอกหมอน เย็บเสื้อผ้า ผ้าม่าน ใส่เองใช้เอง”

“ตอนผมอายุ 10 ขวบ พ่อพาผมไปเชียร์มวย เผอิญที่เวทีมวยเขากำลังเปรียบมวย ผมเลยไปลองดู และนั่นคือไฟต์แรกของผม ได้ค่าขนมมา 70 บาทสมัยนั้นถือว่าเยอะแล้ว ผมเอาเงินไปให้แม่ แม่ก็เอาเงินไปซื้อกับข้าวแบ่งกับยายเจียม”

“ยายเจียมไม่เคยไปเชียร์ผมชกมวยหรอก เพราะด้วยสภาพร่างกายไม่เอื้ออำนวย ตาแกมองไม่เห็น ตั้งแต่ผมจำความได้ ตอนนั้นยายน่าจะอายุราว 60 ปี แต่ทุกครั้งที่ผมได้รับชัยชนะกลับมา ยายเจียมจะดีใจด้วยเสมอ และยายเจียมคือนักสู้ในชีวิตจริงที่ผมนำมาเป็นแบบอย่าง”

จากที่ครูรงค์เล่าถึง “นายเจียม” ทำให้เราสามารถจินตนาการเห็นความแข็งแกร่งของหญิงชราที่อยู่กับดวงตาซึ่งมองไม่เห็นมาเป็นเวลาร่วม 40 ปี แม้ตาบอดและหูไม่ได้ยินแต่อย่างน้อยที่สุดยายเจียมก็ได้รับรู้และชื่นชมความสำเร็จของ “ครูรงค์” ในฐานะนักสู้ผู้ประสบความสำเร็จ เป็นถึงอดีตแชมป์โลกศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานคนไทยคนแรกบนเวทีระดับโลก วัน แชมเปียนชิพ และจากไปอย่างสงบสุขในวัย 101 ปี

ทางครอบครัวได้จัดงานบำเพ็ญกุศลของยายเจียม ณ วัดสะทังใหญ่ ต.หานโพธิ์ อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง และฌาปนกิจศพแล้วเสร็จไปเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา ด้วยความอาลัยของลูกหลานรวมถึงครูรงค์ที่ยังคงจดจำเรื่องราวของยายชราตาบอดคนนี้ไปตลอดชีวิต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน