ช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภาพแรงงานผิดกฎหมายชาวไทยในเกาหลีใต้หรือผีน้อยอวดธนบัตรปึกใหญ่ บ้านหลังงามที่แลกมาด้วยน้ำพักน้ำแรง ความเสี่ยงโทษทัณฑ์และแม้กระทั่งชีวิตแพร่หลายในสื่อโซเชียลมีเดีย

แต่นับจากเดือนเม.ย. ปี 2565 ผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกาหลีใต้กำหนดให้ผู้เดินทางจากประเทศที่ไม่ต้องขอวีซ่าต้องสมัครระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการขออนุญาตเข้าประเทศ สำหรับประเทศที่มีความตกลงยกเว้นวีซ่า หรือเค-อีทีเอรวมถึงไทย เพื่อคัดกรองด้านสุขภาพ แต่ภายหลังระบบนี้เน้นคัดกรองคนเข้าประเทศและในตัวมันเองคัดกรองแรงงานผิดกฎหมายด้วย

แรงงานผิดกฎหมายในเกาหลีใต้อยู่ที่สถานที่กักตัวในไทยหลังเพิ่งกลับจากเกาหลีใต้ในช่วงโควิด-19 ระบาด

มาตรการในภาพรวมมีความเข้มงวดมากขึ้นสำหรับคนต่างชาติที่เดินทางเข้าเกาหลีใต้ ไม่เฉพาะแรงงาน เพราะระบบเค-อีทีเอ ซึ่งคล้ายกับวีซ่า เป็นระบบคัดกรองการเข้าประเทศเบื้องต้น แม้คนไทยผ่านขั้นต้น แต่เมื่อบินเข้าไปยังต้องผ่านด่านสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จึงจะสามารถเข้าเกาหลีใต้ได้ จะเห็นได้ว่า นักท่องเที่ยว แรงงานถูกสัมภาษณ์เยอะมากขึ้นในช่วงหลัง

นายนฤชัย นินนาท รองอธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า หนทางในการแก้ปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย เกาหลีใต้ใช้นโยบายสมัครใจ สำหรับแรงงานผิดกฎหมาย อนุญาตให้รายงานตัวต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และให้กลับไทยได้โดยไม่ถูกลงโทษ

จากสถิติมีการรายงานตัวตามนโยบายเพียง 15,000 คน ซึ่งถือว่าจำนวนน้อยมาก จากแรงงานผิดกฎหมาย 150,000 คน สถิติแรงงานผิดกฎหมาย 5 ปีย้อนหลังระหว่างปี 2561-2565 ไม่แตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญในแง่จำนวนของแรงงานผิดกฎหมายที่มีราว 130,000-150,000 คน สะท้อนปัญหาการเข้าเมืองผิดกฎหมายไม่ลดลงทั้งก่อน ระหว่างและหลังโควิด-19 สถิติ ณ ต.ค. 2565 มีแรงงานถูกกฎหมายในระบบจ้างงานหรืออีพีเอสเฉลี่ย 25,000 คน

ในเกาหลีใต้ แรงงานผิดกฎหมายมาจากประเทศไทยมากที่สุด 130,000-150,000 คน จีนรองลงมาราว 70,000 คน และเวียดนามอันดับ 3 ที่ 60,000-70,000 คน สำหรับในปี 2566 คาดว่าตัวเลขแรงงานไทยผิดกฎหมายเพิ่มมากขึ้นแน่นอน เนื่องจากเกาหลีใต้มีอัตราการจ้างงานที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น รายได้สูง รวมถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโลก แต่ไม่ได้เพิ่มเป็นนัยยะสำคัญ เพราะมีการเพิ่มมาตรการคัดกรองและมีการส่งกลับแรงงานผิดกฎหมายด้วย

ขณะเดียวกัน เกาหลีใต้ลงโทษคนของเกาหลีใต้เอง ทั้งนายหน้า นายจ้างที่จ้างแรงงานผิดกฎหมายมีโทษจำคุก 3 ปี ปรับ 8.6 แสนบาท แต่ในทางปฏิบัติ ทางการเกาหลีใต้ไม่ได้ลงโทษมากขนาดนั้น ทำให้อาจเห็นได้ชัดว่าต้องการแรงงานทำงานประเภท 3 D ได้แก่ ลำบาก (Difficult) สกปรก (Dirty) และอันตราย (Dangerous) ซึ่งไม่มีคนเกาหลีทำ จึงต้องใช้แรงงานต่างชาติในสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม

นายนฤชัยกล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างสองประเทศมีพอสมควรในหลายๆมิติของทางด้านแรงงาน ในรูปแบบความร่วมมือการประชุมร่วม 2 ฝ่ายไทยและเกาหลีใต้ด้านความร่วมมือด้านการกงสุล ในส่วนแรงงาน ซึ่งเป็นวาระที่มีการพูดคุยอยู่เสมอช่วยหาวิธีการป้องกันการไปทำงานแบบผิดกฎหมาย

ช่องทางความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศส่งเสริมให้มีแรงงานถูกกฎหมายมากขึ้น ได้แก่ ระบบการจ้างงานอีพีเอส (Employment Permit System –EPS) ซึ่งเกาหลีใต้เป็นผู้กำหนดโควตาให้ 16 ประเทศ รวมไทย ตามสาขาแต่ละปีรวมจำนวน 50,000 คน ไทยได้ปีละ 5,000 คน แต่ระบบอีพีเอสมีข้อจำกัด ส่วนใหญ่รับผู้ชาย แต่ผู้หญิงมีความต้องการไปทำงานในจำนวนมากเช่นกัน รวมถึงต้องทำงาน 3 D แรงงานย้ายนายจ้างไม่ได้ (มีข้อยกเว้น) เกิดปัญหาคือแรงงานถูกกฎหมายหนีบริษัทเดิมไปทำงานกับอีกบริษัทกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย

นอกจากนี้ ทางการไทยกำลังจัดทำเจรจาบันทึกความเข้าใจหรือเอ็มโอยูกับหน่วยงานท้องถิ่นในเกาหลีใต้ เพื่อจัดส่งแรงงานภาคเกษตรตามฤดูกาลระยะเวลา 5-6 เดือนในแต่ละปี แม้ภาคเกษตรเกาหลีใต้ต้องการแรงงาน และไทยพร้อมส่งแรงงาน แต่ในการทำเอ็มโอยู เกาหลีใต้มีข้อกังวล คือ แรงงานไทยมีประวัติการอยู่เกินกำหนดเวลาจำนวนมาก

“ที่เกาหลีใต้กลัวมากที่สุดคือ ระยะเวลาในการทำงานไม่นานมาก คือระยะเวลา 5-6 เดือน ซึ่งมีลักษณะที่แสดงให้เห็นว่าแรงงานถูกกฎหมายจะหลบหนี เพราะอยากได้เงินต่อเนื่อง จึงอาจลักลอบอยู่ต่อ หรืออีกนัยหนึ่งอาจทำให้แรงงานในระบบที่ต้องการทำงานต่อต้องการเป็นผีน้อย” นายนฤชัยกล่าว

กระทรวงแรงงานของไทยได้ขอเพิ่มโควตาแรงงานถูกฎหมายในระบบ ช่วงโควิดไทยได้โควตาต่ำกว่าปกติที่ราว 3,000 คน จากเดิม 4,000-5,000 คนต่อปี แต่เกาหลีใต้ระบุว่า เพราะเป็นโควตากลุ่ม การให้โควตาไทยมากขึ้นหมายถึงการให้โควตาประเทศอื่นลดลง ไม่สามารถตัดสินใจได้ฝ่ายเดียว

“และดูจากประวัติแรงงานสำคัญมาก ที่ผ่านมาเกิดปัญหาแรงงานถูกกฎหมายกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย เช่น ประเทศอื่นเข้ามาตามระบบจำนวน 10,000 คนกลับไป 10,000 คน เกาหลีใต้คงอยากให้โควตาประเทศนั้นมากกว่า หากเมื่อเทียบกับไทย ถ้าเข้ามา 5,000 คนเหลือกลับเพียง 1,000 คน” นายนฤชัยกล่าว

ความช่วยเหลือจากสถานทูตไทย มีภารกิจดูแลคนไทยทุกคน ในช่วงโควิด ปี 2562-2565 ส่งคนไทยทุกคนรวมแรงงานผิดกฎหมายกลับเที่ยวบินช่วยส่งกลับ 16,000 คน เจรจาการฉีดวัคซีนให้คนไทยทุกคนทั้งถูกและผิดกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลเกาหลีใต้ตอบรับเป็นอย่างดี เชิญหมอจากกรมการแพทย์ให้คำแนะนำในการรักษาตัวเองจากโควิด เป็นระบบออนไลน์ซึ่งมีประโยชน์มากต่อแรงงานไทยผิดกฎหมายที่ไม่สามารถและไม่อยากหาหมอ เพราะไม่อยู่ในระบบสวัสดิการ เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงมาก อีกทั้ง ความกลัวถูกรายงานว่าอยู่อย่างผิดกฎหมาย อาจถูกส่งกลับ

ปัจจุบัน สาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของแรงงานผิดกฎหมายจากไทย ป่วยเรื้อรัง ได้แก่ เส้นเลือดในสมองแตก ปอดอักเสบ วัณโรค หัวใจวาย ไตวาย เนื่องจากไม่มีเงินค่ารักษา แม้แรงงานมีรายได้สูงราว 50,000 บาทต่อเดือนในภาคเกษตร แต่ค่ารักษาพยาบาลหลักแสนหลักล้าน และไม่มีประกันสุขภาพ จึงรักษาตัวเองตามอาการไปเรื่อยๆ อีกทั้งงานหนัก ทำงานแม้ป่วย และมีพฤติกรรมชอบดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอร์นำไปสู่การเสียชีวิตของคนไทย โดยมากพบการเสียชีวิตในบ้านพัก

ปี 2558-2565 หรือ ราว 7-8 ปี เฉลี่ยคนไทยเสียชีวิตปีละ 98 ราย ซึ่งถือว่าจำนวนมาก โดยปี 2563 -2565 ช่วงโควิดมีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นเป็นปีละ 120-130 ราย แบ่งเป็นแรงงานผิดกฎหมาย 110 ราย หรือราวร้อยละ 80 ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย สาเหตุการเสียชีวิตอื่นๆ อาทิ ไม่ชัดเจน อุบัติเหตุ

“นอกจากแรงงานผิดกฎหมาย สถานทูตมีการดูแลนักโทษด้วย ขณะนี้ปัญหายาเสพติดของคนไทยในเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มีนักโทษชาวไทยราว 500 คน เป็นนักโทษคดียาเสพติด 440 คน คิดเป็นร้อยละ 83-85 ของคดีอื่นๆ เป็นจำนวนที่เยอะมาก สถานทูตเตือนคดีร้ายแรง” นายนฤชัยกล่าว

และผู้ต้องหาคดียาเสพติดชาวไทยถูกจับกุมเพิ่มขึ้น เป็นจำนวนมากที่สุดในหมู่คนต่างชาติในเกาหลีใต้ จากสถิติในปี 2561 มีจำนวนราว 300 คน ปี 2562 จำนวน 550 คน ปี 2564 จำนวนราว 600 คน ส่วนใหญ่ลักลอบส่งทางไปรษณีย์จากไทยเข้ามา เป็นยาไอซ์ ยาบ้าผสมในอาหาร อาทิ ผงชูรส แป้ง ปลาร้า ยาบำรุง วิตามิน ซึ่งยาเสพติดถูกใช้ในกลุ่มแรงงานต่างชาติ และมีในหมู่ชาวเกาหลีด้วย แต่จำนวนไม่มาก

เกาหลีใต้แถลงการจับกุมพลเมืองสัญชาติไทย 65 คน ที่จำหน่ายและใช้ยาเสพติดที่เล็ดลอดเข้ามาจากต่างประเทศ รวมถึงประเทศไทย

ยาบ้าขายได้ในราคาที่สูงกว่าไทยอย่างมาก ตอนหลังค้าขายในหมู่แรงงานไทยกันเอง แต่ไม่ได้เป็นเครือข่ายค้าเสพติด ระดับชาติหรือสากล โดยเป็นการค้ารายบุคคล ปริมาณยาเสพติดไม่มาก เมื่อเทียบกับปริมาณยาเสพติดที่หมุนเวียนในเกาหลีใต้ ซึ่งในหมู่คนต่างชาติ ไทยมีปริมาณยาเสพติดอันดับ 4 โดยได้มีความร่วมมือในการลดปัญหา โดยการทำเอ็มโอยู มีการแลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องระหว่างกัน

นายนฤชัยกล่าวทิ้งท้ายว่า ตนถือว่าการทำงานในต่างประเทศเป็นการเปิดมิติใหม่ หารายได้มาเลี้ยงครอบครัว กระทรวงการต่างประเทศพร้อมให้ข้อมูลที่ถูกต้อง หากมีการแจ้งทางการ สถานทูตพร้อมช่วยเหลือ ทั้งเงิน คนประสานงาน จึงฝากว่า ก่อนเดินทาง ไปอย่างถูกกฎหมาย อยู่อย่างถูกกฎหมาย กลับมาไทยอย่างถูกกฎหมาย

………….

สุจิตรา ธนะเศวตร

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เกาหลีใต้ จับ 2 คนไทยเสพ-ขายไอซ์ ซุกซ่อนในวัตถุดิบอาหาร นำเข้าจากบ้านเกิด

ศุลกากรเกาหลีใต้ – ไทย เผยผลความร่วมมือปราบยาเสพติด 4 เดือน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน