“ปู่คออี้” ไม่ทันได้รับเงินชดใช้ คดีจนท.อุทยานเผาบ้าน ศาลปกครองกลางนัด 22 ต.ค.

จากกรณีนายโคอิ หรือคออี้ มีมิ กับพวกรวม 6 คน ที่ได้เงินชดเชย ในคดีเผาบ้านกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ที่ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี หลังศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อส.77/2559 หมายเลขแดงที่ อส.4/2561 ที่นายโคอิ กับพวกรวม 6 คน ฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และพวกรวม 2 คน ให้ชดใช้ค่าเสียหายจากกรณีเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ รื้อถอนเผาทำลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 ที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา

ล่าสุดผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 22 ต.ค. เวลา 11.00 น. ณ ศาลปกครองกลาง ผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 จะเดินทางมารับชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 รายละเฉลี่ยประมาณ 50,000 บาท ซึ่งเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2651 ผู้ฟ้องคดีได้เดินทางมายื่นเรื่องเพื่อขอรับเงินชำระหนี้ ต่อมาตุลาการศาลปกครองสูงสุดสั่งให้มารับชำระหนี้ได้ ถือเป็นการสิ้นสุดการต่อสู้กว่า 7 ปีที่ถูกเผาบ้าน โดยปู่คออี้วัย 107 ปี ผู้นำในการฟ้องกรมอุทยานเสียชีวิตก่อนเห็นเงินที่ชดใช้ค่าเสียหาย

สืบเนื่องจาก วันที่ 12 มิถุนายน 2561 เวลาประมาณ 10.45 น. ณ ศาลปกครองกลาง ชั้น 3 ห้องพิจารณาคดีที่ 1 ศาลปกครองสูงสุด ได้อ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ ส.58/2555 หมายเลขแดงที่ ส.660/2559 ระหว่าง นายโคอิ หรือคออี้ มีมิ ที่ 1 กับพวกรวม 6 คน ผู้ฟ้องคดี กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน ผู้ถูกฟ้องคดี

โดยคดีนี้มีที่มาจากการที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้ปฏิบัติการตามโครงการขยายผลการอพยพผลักดัน จับกุมชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-สหภาพเมียนมาร์ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ครั้งที่ 4 บริเวณบ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดิน ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2554 โดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นำโดยนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในขณะนั้น ได้ทำการรื้อถอนเผาทำลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง รวมถึงของผู้ฟ้องคดีทั้งหกด้วย รวมแล้วมีบ้านพักอาศัย และยุ้งฉางถูกจุดไฟเผาจำนวน 98 หลัง

ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ครั้งนั้น เป็นเหตุให้เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2555 นายโคอิ หรือคออี้ มีมิ กับพวกรวม 6 คน โดยได้รับความช่วยเหลือจากสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ได้ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในฐานะหน่วยงานซึ่งกำกับดูแลอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในขณะนั้น

วันที่ 7 กันยายน 2559 ศาลปกครองกลาง ได้มีคำพิพากษาว่าการเผาบ้านและยุ้งฉางโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานชอบด้วยกฎหมาย ส่วนการเผาทำลายเครื่องใช้ส่วนตัวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้กรมอุทยานแห่งชาติฯชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหกเป็นเงินคนละ 10,000 บาท ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

ต่อมาวันที่ 6 ตุลาคม 2559 ผู้ฟ้องคดีทั้งหกยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลางยังมีความบกพร่องคลาดเคลื่อน และยังวินิจฉัยไม่ครบประเด็นตามคำฟ้องของผู้ฟ้องคดี

วันที่ 12 มิถุนายน 2561 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา โดยตุลาการผู้อ่านคำพิพากษาแจ้งว่า คำพิพากษามีความยาวทั้งสิ้น 57 หน้า แต่ตุลาการผู้อ่านคำพิพากษาจะขออ่านเฉพาะในส่วนคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งมีประเด็นสำคัญที่ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยตามอุทธรณ์ของคู่กรณีใน 2 ประเด็น คือ

ประเด็นแรก สิทธิในการฟ้องคดีและการยื่นฟ้องคดีภายในระยะเวลาที่กำหนดหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ศาลปกครองสูงสูดวินิจฉัยว่า ผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 เป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในการรื้อถอนเผาทำลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 6 ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 6 จึงมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง และผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองภายใน 1 ปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีแล้ว

ส่วนประเด็นที่สอง เป็นการวินิจฉัยว่าการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในการรื้อถอน เผาทำลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 เป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 หรือไม่ และหากเป็นการละเมิด จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพียงใด ซึ่งในประเด็นนี้ ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า

บ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดินเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธ์กะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน การกระทำของพนักงานเจ้าหน้าที่ รื้อถอนเผาทำลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ความเสียหายเกิดจากการกระทำละเมิดที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงให้ชดใช้ค่าเสียหายต่อผู้ฟ้องที่1 เป็นเงิน 51,407 บาท ผู้ฟ้องคดีที่ 2 เป็นเงิน 51,032 บาท ผู้ฟ้องคดีที่3 เป็นเงิน 51,407 บาท ผู้ฟ้องคดีที่4 เป็นเงิน 45,302 บาท ผู้ฟ้องคดีที่5 เป็นเงิน 50,807 บาท และผู้ฟ้องคดีที่6 เป็นเงิน 51,032 บาท

อ่านข่าวเกี่ยวกับปู่คออี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน