‘ช้างชิล’ ก้าวแรกของปางช้าง ปล่อยให้อยู่อย่างอิสระ ตามธรรมชาติ

ปัจจุบัน ‘ช้าง’ ตกอยู่ในสถานะวิกฤติถูกทารุณกรรมในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลก ขณะที่นักท่องเที่ยวถูกทำให้เชื่อว่าช้างที่ดูเชื่องๆ กำลังมีความสุข แต่หากมองเข้าในแววตาของช้างเราอาจเห็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ดังนั้นทั่วโลกจึงมีการกำหนดให้วันที่ 12 สิงหาคม เป็น ‘วันช้างโลก’ หรือ ‘World Elephant Day’ เพื่อรณรงค์และปกป้องช้างจากการคุกคามโดยมนุษย์

เช้านี้ทิวเขาสูงตระหง่านเบี้องหน้าถูกโอบคลุมด้วยละอองฝนชื่นฉ่ำ มีเพียงบางช่วงเวลาเท่านั้น ที่ผืนฟ้ายอมให้แสงแดดบางเบาฉาบฉายลงมา

แม้อากาศอาจดูไม่เป็นใจ แต่ที่ตลาดบ้านกาด อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ คลาดคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เตรียมเดินทางต่อไปยังที่ปางช้างต่างๆ

‘ปางช้าง’ ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตสำหรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่เดินทางมายังประเทศไทย
และเฉพาะอย่างยิ่ง ‘เชียงใหม่’ จังหวัดที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นเมืองหลวงของปางช้าง จากข้อมูลการตรวจสอบรูปพรรณช้างและตรวจเลือดช้างเมื่อปี 2560 พบว่ามีจำนวนช้างขึ้นที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในจังหวัดเชียงใหม่ถึงเกือบ 1,000 เชือก ซึ่งถือว่าเป็นจังหวัดที่มีจำนวนช้างเลี้ยงมากที่สุดในประเทศไทย

เรานัดพบกับ ‘ดริญญา เคนย่อน’ ผู้จัดการโครงการพัฒนาปางช้างขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก หรือ World Animal Protection ซึ่งกำลังจะพาเราเดินทางไปที่ ‘ChangChill’ หรือ ‘ช้างชิล’ ปางช้างที่เสนอตัวว่ามีความเป็นมิตรกับช้างและเน้นเรื่องสวัสดิภาพของสัตว์เป็นหลัก

ตลอดระยะทางประมาณ 25 กิโลเมตร จากตลาดบ้านกาดมุ่งไปตามเส้นทางแม่วาง-แม่วิน ลัดเลาะไปบนถนนทั้งโค้งทั้งชัน เราจะพบปางช้างหลายสิบแห่งเปิดบริการรับนักท่องเที่ยว แทบทุกแห่งล้วนมีจุดขายคือการขี่ช้าง ป้อนอาหารช้าง เล่นน้ำอาบโคลนกับช้าง หรือการแสดงของช้าง ทั้งการเตะฟุตบอล วาดภาพ และเป่าเม้าท์ออแกน เป็นต้น ซึ่งเป็นโปรแกรมทัวร์ยอดฮิตของนักท่องเที่ยวทั่วโลก รวมถึงนักท่องเที่ยวไทย

“พื้นที่แม่วินมีปางช้างประมาณ 45 ปาง มีช้างมากกว่า 200 เชือก สะดวกมากสำหรับนักท่องเที่ยวที่สามารถซื้อทัวร์ได้จากทุกที่ในเชียงใหม่ โดยทางผู้ประกอบการจัดรถรับส่งจากหน้าโรงแรมให้มาทำกิจกรรมกับช้าง แล้วพากลับไปส่งในตอนเย็น” ดริญญา บอกข้อมูลนี้กับเราอย่างตรงไปตรงมา

ดริญญา อธิบายต่อว่า ช้างที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเหล่านี้ต้องผ่านการฝึกหรือที่เรียกว่าการเข้าคอก ถูกขัง ล่ามโซ่และ “ถูกฝึก” ด้วยตะขอหรือมีด เพื่อยอมให้คนขี่หรือทำการแสดงได้ ซึ่งหากพิจารณาจากมุมมองด้านสวัสดิภาพของสัตว์ก็ถือเป็นการทารุณกรรมต่อช้าง ซึ่งนักท่องเที่ยวย่อมไม่มีทางรู้ได้เลยว่าช้างเชื่องๆ ที่กำลังยื่นงวงมารับกล้วยจากมือ มันกำลังถูกบังคับให้ทำซ้ำๆ ในทุกๆ วัน

“ช้างคือสัตว์ที่สมควรจะอยู่ในป่า คุณลองคิดดูสิว่าช้างที่ยอมให้คนเข้าใกล้ ช้างที่ยอมให้คนขี่หลัง อาบน้ำ และสัมผัสตัว แสดงว่าพวกมันได้รับการฝึกเพื่อทำลายสัญชาตญาณสัตว์ป่า ถูกใช้ตะขอหรือมีดสับ จนช้างมันจำฝังใจกลัวยอมให้นักท่องเที่ยวจับ หรือบังคับให้แสดง

ปางช้างบางแห่งอาจไม่ให้ควาญถือตะขอต่อหน้านักท่องเที่ยว แต่ในมือควาญอาจจะมีการใช้ตะปูแหลมซ่อนไว้เพื่อคอยควบคุมบังคับช้าง ” ดริญญากล่าว

อีกเพียงไม่ไกล แต่ฝนที่ตกทั้งคืนเปลี่ยนถนนดินให้กลายเป็นโคลน เราจำเป็นต้องจอดรถไว้ที่ปากทางแล้วเดินเท้าต่อ

ผืนนาเล็กๆ เรียงรายไปตามเนินจากที่สูงลงสู่ที่ราบ มีลำธารธรรมชาติไหลผ่าน ถัดไปเป็นเนินเขาที่เขียวไปด้วยต้นไม้หนาแน่น เบี้องหน้าเราคือปางช้างที่ชื่อว่า ‘ChangChill’ หรือแปลตรงๆ ว่าช้างที่กำลังผ่อนคลาย

เราลัดเลาะคันนาเพื่อไปที่หอดูช้าง ที่เป็นจุดแรกรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาที่นี่

‘ดริญญา’ ลงมาคลุกคลีทำงานร่วมกับ ‘ChangChill’ ได้เกือบ 2 ปี ให้ข้อมูลว่า ช้างชิลไม่เหมือนกับปางช้างทั่วไป เพราะที่นี่เป็นปางช้างที่เป็นมิตรกับช้าง ช้างตัวเมียทั้ง 6 เชือก จะถูกปล่อยให้เป็นอยู่อย่างอิสระ กินหญ้า อาบน้ำในลำธาร เล่นโคลน ภายในพื้นที่ 35 ไร่ ที่มีสภาพเป็นป่า

จึงไม่มีการให้นักท่องเที่ยวขึ้นขี่ช้าง ป้อนอาหารช้าง หรือการสัมผัสโดยตรงกับช้าง แต่เป็นการเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของช้างจากหอดูช้าง ซึ่งพวกมันก็จะแสดงออกถึงพฤติกรรมตามธรรมชาติอย่างที่ควรเป็น

‘ศุภกร ตานะเศรษฐ์’ ในฐานะเจ้าของปางช้าง ‘ChangChill’ เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการท่องเที่ยวให้เป็นมิตรกับช้างว่า เดิมทีปางช้างแห่งนี้มีรูปแบบเหมือนปางช้างทั่วไป คือ ใช้กิจกรรมขี่ช้าง ป้อนอาหารช้าง เล่นน้ำกับช้างเป็นจุดดึงดูดและเป็นความต้องการของนักท่องเที่ยว

ซึ่งมองว่าการสัมผัสโดยตรงกับช้างแบบนี้ ย่อมมีความเสี่ยงอันตรายจากช้างที่เป็นสัตว์ขนาดใหญ่ กระทั่งในช่วง 5-6 ปีก่อนกระแสของการท่องเที่ยวเริ่มเปลี่ยนแปลง

นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มมองว่ากิจกรรมเหล่านั้นเป็นการทารุณกรรมสัตว์ จึงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เป็นมิตรกับช้างมากขึ้นในชื่อเดิม ‘Happy elephant Valley’ โดยยุติการให้บริการขี่ช้างหรือการแสดงของช้าง จนกระทั่งเมื่อปี 2560 ได้รับความร่วมมือจากองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก

สนับสนุนให้เป็นปางช้างที่เป็นมิตรกับช้างอย่างแท้จริง ซึ่งตนเองมีความเชื่อมั่นกับองค์กรแห่งนี้อยู่แล้วจากที่เห็นงานรณรงค์ต่างๆ มาโดยตลอด จึงตัดสินใจปรับเปลี่ยนเป็น ‘ChangChill’ นับจากนั้นเป็นต้นมา

“จริงๆ เราพยายามปรับเปลี่ยนการดูแลช้างให้มีความสุข แต่ที่กังวลมากเป็นอันดับแรก คือความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวที่ยังคงสัมผัสโดยตรงกับช้าง เราไม่รู้ว่าช้างที่เป็นสัตว์ใหญ่จะหงุดหงิดขึ้นเมื่อไรจนอาจทำร้ายนักท่องเที่ยวได้ เคราะห์ดีที่เหตุนี้ยังไม่เกิดขึ้นกับเรา แต่ก็ถือเป็นความเสี่ยงในการทำธุรกิจที่หากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นมา

ผลกระทบก็อาจถึงขั้นต้องปิดปางช้างก็เป็นได้ จึงพยายามลดความเสี่ยง เช่น การเลือกใช้ช้างตัวเมียทั้งหมด และคัดเลือกนิสัยช้าง แต่เราก็ไม่มีองค์ความรู้ในเรื่องนี้ จนได้ข้อมูลจากองค์กรพิทักษ์สัตว์ฯ ว่าในต่างประเทศมีฐานลูกค้าจำนวนมากที่ต้องการท่องเที่ยวอย่างเป็นมิตรกับช้าง และในไทยมีปางช้างรูปแบบนี้เพียงไม่กี่แห่ง หากมองในแง่ธุรกิจก็ถือเป็นโอกาสด้วยเช่นกัน” ศุภกร กล่าว

สำหรับ ‘ควาญเชิด’ หรือ ‘เชิดชัย พงศ์ปฐพี’ อายุ 26 ปี ชาวปกาเกอญอหนุ่มจาก จ.แม่ฮ่องสอน เป็นหัวหน้าควาญช้าง เขาเติบโตมาในครอบครัวคนเลี้ยงช้าง ยอมรับว่า รับไม่ได้กับภาพของช้างที่ถูกตะขอหรือมีดสับหน้าผากจนเป็นแผลเหวะหวะ ซึ่งทำให้สังคมมองควาญช้างอย่างเหมารวมว่าเป็นผู้กระทำทารุณกรรมกับช้าง ซึ่งเขาก็อยากให้สังคมทำความเข้าใจให้ถูกต้องในเรื่องนี้ด้วย

“ควาญที่ทำแบบนั้นกับช้างไม่ใช่เจ้าของช้าง แต่เป็นควาญที่จ้างมาดูแลช้าง ไม่ได้มีความรักความเมตตาต่อช้าง เพราะช้างถูกฝึกมาให้กลัวคนอยู่แล้ว แต่การเอาช้างไปรับแขกหนักๆ นักท่องเที่ยวรุมล้อมจำนวนมากจนไม่ได้หยุดพักให้ผ่อนคลาย ช้างมันก็เหนื่อย ควาญช้างก็ต้องเหนื่อยคอยระวังทั้งช้างทั้งคน กลัวว่าช้างจะทำร้ายนักท่องเที่ยวก็ต้องใช้ตะขอกับช้าง” ควาญเชิด สะท้อนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

การปรับเปลี่ยนรูปแบบท่องเที่ยวของ ‘ChangChill’ ทำให้ควาญช้างไม่ต้องกังวลในแง่ความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว เพราะไม่มีการสัมผัสโดยตรงกับช้างและมีระยะห่างที่ปลอดภัย โดยจะมีกิจกรรมสร้างสรรค์ในรูปแบบอื่นทดแทน

ดริญญา บอกว่า ทุกคนรวมถึงควาญช้างช่วยกันออกแบบรูปแบบโปรแกรมและโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมกับการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับช้าง โดยเฉพาะหอดูช้างที่นักท่องเที่ยวสามารถเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของช้างได้ทั้งหุบเขาตลอดทั้งวัน การสร้างท่อใส่อาหารที่ให้นักท่องเที่ยวนำกล้วยหรืออ้อยไปใส่ไว้รอให้ช้างลงมากินได้อย่างอิสระ รวมถึงการให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมทำอาหารเสริมให้ช้าง

นอกจากนี้เราพยายามส่งเสริมให้ควาญช้างมีความภาคภูมิใจในตัวตนของการเป็นควาญช้าง โดยจัดมีกิจกรรมพูดคุยกับควาญช้าง เพื่อได้ถ่ายทอดเรื่องราวหรือภูมิปัญญาของควาญช้างแก่นักท่องเที่ยว เช่น วิธีการดูแลช้าง การสื่อสารกับช้าง และความรู้การรักษาช้างด้วยสมุนไพร ซึ่งบางครั้งอาจมีการนำนักท่องเที่ยวเข้าไปหาสมุนไพรในป่า เป็นต้น

“วันแรกที่ปลดโซ่ช้างให้เป็นอิสระ ช้างทำตัวไม่ถูก เค้าไม่รู้ว่าจะต้องเดินไปที่ไหน เราจึงค่อยๆ ให้ช้างปรับตัว เริ่มจากปล่อยเช้า 1 ชั่วโมง เย็น 1 ชั่วโมง จนถึงตอนนี้เวลากลางวันเราปล่อยช้างอิสระวันละประมาณ 7 ชั่วโมง ตอนเช้าช้างจะขึ้นเขาไปอยู่ในพื้นที่ป่าและหาอาหารกินตามธรรมชาติ ควาญช้างก็จะมีหน้าที่ตามดูแลช้างเพื่อให้เค้าอยู่ในพื้นที่ของเรา จนช่วงเที่ยงช้างจะรู้ว่าถึงเวลาอาหาร

เค้าก็จะเดินลงมากินกล้วยกินหญ้าที่ใส่ไว้ในท่อ หรืออาหารเสริมที่จัดเตรียมไว้ กินเสร็จบางเชือกก็อาจจะไปเล่นน้ำในลำธารหรืออาบโคลนจนพอใจแล้วก็จะเดินกลับเข้าไปหากินในป่าต่อ สิ่งสำคัญคือเราไม่มีการบังคับให้เค้าลงเล่นน้ำหรือเล่นโคลนหรือทำกิจกรรมอะไรก็แล้วแต่เพื่อโชว์นักท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวที่มาที่นี่จะมีโอกาสได้เห็นพฤติกรรมตามธรรมชาติของช้างอย่างที่ควรจะเป็นในสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ” ดริญญา กล่าว

ควาญเชิด บอกต่อว่า หน้าที่ของควาญช้างก็เปลี่ยนไปเช่นกัน จากที่ต้องคอยดูทั้งคนทั้งช้าง ปรับเปลี่ยนมาเป็นการเดินตามเฝ้าช้าง ที่บางครั้งช้างอาจเดินไกล ควาญก็ต้องเดินไกลด้วย แต่ไม่ต้องคอยระวังว่าช้างจะทำร้ายนักท่องเที่ยว และเท่าที่สังเกตความเปลี่ยนแปลงของช้างที่เห็นชัดคือสุขภาพดี อ้วนท้วนเพราะได้เดินหากินในป่า อารมณ์ดีไม่หงุดหงิดง่าย เป็นผลดีกับควาญช้างไม่ต้องคอยไปควบคุมช้างตลอดเวลาเหมือนเมื่อก่อน

“เหนื่อยคนละแบบ เมื่อก่อนถ้ามีนักท่องเที่ยวเข้ามา 50 คน ต้องมีช้างคอยบริการให้คนขี่ 10-20 ตัว ช้างต้องเร่งทำรอบ ควาญก็ต้องคอยถือตะขอคอยสะกิดช้าง เสี่ยงอันตรายทั้งนักท่องเที่ยวทั้งควาญ บางครั้งนักท่องเที่ยวอาบกับช้างควาญก็ต้องลงด้วย บางวันลงน้ำหลายรอบ

หรือบางครั้งช้างไม่อยากอาบน้ำก็ต้องบังคับให้มันลงน้ำ หรือถ้าไม่มีนักท่องเที่ยว ช้างก็จะถูกล่ามโซ่อยู่กับที่ทั้งวัน แต่รูปแบบใหม่เรามีช้าง 6 เชือก ก็รองรับนักท่องเที่ยวได้มากกว่า นักท่องเที่ยวก็ปลอดภัย ควาญก็สบายใจ” ควาญเชิด กล่าว

อย่างไรก็ตามแม้ ‘ChangChill’ จะเริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 2560 แต่ต้องใช้เวลาเปลี่ยนแปลงก่อสร้างโครงสร้างหลัก และเตรียมความพร้อมของช้างและควาญช้างได้ปรับตัวนานกว่า 1 ปี เพิ่งจะเปิดรับนักท่องเที่ยวเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าท้ายสำหรับคนทำธุรกิจ

‘ศุภกร’ ยอมรับว่า ธุรกิจปางช้างในประเทศไทยมีการแข่งขันที่สูงมาก ฟาดฟันกันด้วยราคา ปางช้างใหญ่ๆ จะมีเอเจนซี่ทั้งในประเทศและต่างประเทศส่งลูกค้าให้ สำหรับ ‘ChangChill’ ถือเป็นปางช้างขนาดเล็ก จึงหวังว่ารูปแบบการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับช้างที่มีความแตกต่างนี้ จะเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาที่นี่

“นอกจากโปรแกรมทัวร์ 1 วันที่มี อยากทำโปรแกรม 3-7 วัน ชวนนักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นอาสาสมัครช่วยงานควาญช้าง เข้ามาเรียนรู้วิธีการดูแลช้างอย่างเป็นมิตร เช่น พื้นที่ 35 ไร่ อาจต้องแบ่งพื้นที่เป็นสองส่วนให้ป่ามีการพักฟื้น นักท่องเที่ยวก็เข้าไปช่วยปลูกหญ้าขน ต้นไผ่ที่จะเป็นอาหารแก่ช้าง ช่วยเก็บสมุนไพรรักษาช้าง หรือเรียนรู้วัฒนธรรมของชุมชนปากเกอญอ และเรียนรู้การทำนาขั้นบันได” ศุภกร กล่าว

สำหรับ ดริญญา ในฐานะที่เป็นผู้ประสานงานขององค์กรพิทักษ์สัตว์ป่าแห่งโลก กล่าวว่า ตลอด 2 ปีนี้ที่ได้ลงมาทำงานกับปางช้าง ตนเองได้ทำงานใกล้ชิดคลุกคลีกับควาญช้างมาโดยตลอด นอกจากการสนับสนุนช้างชิลในด้านต่างๆ แล้ว องค์กรพิทักษ์สัตว์ฯ ยังมีพันธมิตรเป็นกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว ที่มีฐานลูกค้าที่สนใจการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และให้ความสำคัญเรื่องสวัสดิภาพสัตว์อยู่ทั่วโลก

โดยเฉพาะในกลุ่มยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง และความนิยมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์มีมากขึ้นทุกปี โดยมีแนวโน้มการเติบโตของยอดนักท่องเที่ยวที่สนใจสอบถามเฉพาะปางช้างที่มีความเป็นมิตรกับช้างอย่างแท้จริง

ซึ่งหากช้างชิลสามารถจัดรูปแบบการท่องเที่ยวได้น่าสนใจและมีกิจกรรมรูปแบบใหม่ๆที่แตกต่างอยู่เสมอ น่าจะเป็นจุดขายดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ให้เดินทางมาท่องเที่ยวที่นี่ โดยเราคาดหวังว่า หากช้างชิลประสบความสำเร็จ น่าจะเป็นโมเดลตัวอย่างให้ปางช้างอื่นๆ เปลี่ยนแปลงรูปแบบปางช้างให้เป็นมิตรกับช้างอย่างแท้จริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน