นครราชสีมา หมู่บ้าน พมพ.เสิงสาง ใจชื้น คลายกังวล กรมอุทยานฯ ยอมรับประกาศแนวทับลานทับซ้อนจริง เตรียมพิจารณาเพิกถอนกว่า 50,000 ไร่ กลับคืน
10 ก.ค. 67 – จากกรณีที่ทาง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติทับลาน ออกมาเปิดเผยว่า
จะมีการพิจารณาให้เพิกพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานที่ได้เคยประกาศพื้นที่ทับซ้อนที่ดินทำกินเดิมของชาวบ้านไปเมื่อปี 2524 รวมกว่า 50,000 ไร่ ให้กับกลุ่มชาวบ้านที่ได้เข้าอยู่อาศัยและทำกินและมีการพิสูจน์สิทธิ์อย่างถูกต้อง
สร้างความคลายกังวล ให้กับ ชาวบ้านในพื้นที่ ต.บ้านราษฎร์ อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องอาศัยอยู่อย่างไม่มีเอกสารสิทธิ์กันมานาน แม้ว่าจะอยู่อาศัยกันมาก่อนที่จะมีการประกาศแนวเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานเมื่อปี พ.ศ.2524 ก็ตาม
โดยเฉพาะช่วงการเข้าอยู่อาศัยอย่างถูกต้องตาม โครงการจัดสรรที่ดิน เพื่อความมั่นคง หรือ พมพ. ในยุคคอมมิวนิสต์ ที่ภาครัฐได้จัดสรรที่ดินทำกินให้ชาวบ้านผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย หรือ ผรท. รายละ 14 ไร่ 2 งาน ที่อยู่อาศัยอีก 2 งาน รวมเป็น 15 ไร่ ที่ผ่านมาจนถึงทุกวันนี้ ก็ยังไม่มีเอกสารสิทธิใดให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า เป็นเจ้าของที่ดินอย่างแท้จริง
นายภู พลหาญ อายุ 91 ปี หนึ่งในชาวบ้าน บ้านทรัพย์เจริญ หมู่ที่ 4 ต.บ้านราษฎร์ อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา บอกว่า ตัวเองเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่แห่งนี้มาตั้งแต่ปี 2517 ในช่วงนั้น เกิดปัญหาเรื่องของผู้เห็นต่างทางการเมือง หรือ คอมมิวนิสต์ และเมื่อปัญหาเริ่มคลี่คลาย ได้มีการขมวดพื้นที่มาจัดสรรให้กลุ่มชาวบ้านใหม่ ที่เข้าร่วมเป็น ผรท. รายละ 14 ไร่ 2 งาน และที่อยู่อาศัยอีก 2 งาน รวมเป็น 15 ไร่
ซึ่งก่อนหน้านี้ พื้นที่ดังกล่าวก็เป็นสภาพที่ทำกินอยู่แล้วไม่ใช้ป่าไม้อย่างที่หลายคนคิด ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แม้ว่าตัวเองได้อยู่อาศัยตามสิทธิที่ทางภาครัฐให้ไว้ แต่ก็ไม่ได้มีหลักฐานอะไรที่ทำให้มั่นใจว่าจะสามารถอยู่อาศัยได้ตลอดไป และยิ่งมีการประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานทับซ้อนขึ้นมาอีก ก็ยิ่งทำให้เพิ่มความกังวลมากขึ้น
มาถึงวันนี้เมื่อมีแนวโน้มที่จะมีการพิจารณาสำรวจพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานใหม่ และอาจจะทำให้ตัวเองได้เอกสารสิทธิในที่ดินอย่างเป็นทางการ ก็รู้สึกดีอย่างมาก ที่วันนี้จะได้มีสิทธิในที่ดินที่เป็นของตัวเองอย่างถูกต้องเสียที ต่อไปก็จะได้เก็บไว้เป็นสมบัติสืบทอดให้ลูกหลานต่อไป
เช่นเดียวกับ นายพรภิรมย์ กล้าหาญ วัย 63 ปี เผยว่า ตอนนี้ตัวเองรู้สึกสบายใจขึ้น หลังจากที่ได้ฟังจากผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ยอมรับว่า การประกาศพื้นที่แนวเขตทับลานเมื่อ ปี 2524 ผิดพลาดและไปทับซ้อนที่ดินทำกินของชาวบ้านในพื้นที่ที่อยู่ในการจัดสรรของโครงการ พมพ.จริง และจะมีการพิจารณากำหนดแนวเขตใหม่
หากเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง และสามารถดำเนินการเสร็จสิ้น จะทำให้ชาวบ้านที่อยู่อาศัยอย่างถูกต้อง มีความมั่นใจและมีโอกาสที่จะเข้าถึงการช่วยเหลือและแหล่งเงินทุนต่างๆ จากทั้งภาครัฐและเอกชนมากขึ้น และยังจะสามารถโอนถ่ายให้ลูกหลาน ได้มีที่ทำกินสืบต่อไปในอนาคตอย่างถูกต้อง
นายพรภิรมย์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาสังคมส่วนใหญ่อาจจะมองภาพกรณีการพิจารณาเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ในส่วนที่เป็นปัญหารวมกว่า 2.6 แสนไร่ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่นั้น เป็นการเฉือนพื้นที่ที่เป็นป่าอุดมสมบูรณ์ออกไป แต่ความจริงแล้วสภาพความเป็นจริงพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้มีสภาพเป็นป่าไม้ แต่เป็นที่ดินที่ชาวบ้านใช้ทำกินมาช้านานตั้งแต่ก่อนที่จะมีการประกาศแนวเขตอุทยาน
ต่อมายังมีภาครัฐจัดสรรให้ชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์ในผืนดินนี้ด้วยตัวเอง จึงเรียกได้ว่าการพิจารณาเพิกถอนพื้นที่ในครั้งนี้ ไม่ใช้ตัดหรือเฉือนป่าไม้ แต่เป็นการคืนพื้นที่ที่คาดเคลื่อนจากการประกาศแนวเขตพื้นที่อุทยานฯ ไปทับซ้อนที่ดินทำกินของชาวบ้าน ที่ไม่มีสภาพเป็นป่าอยู่แล้ว กลับมาให้ชาวบ้าน
ซึ่งชาวบ้าน ขอเพียงแค่เท่านี้ ขอให้มีเอกสารสิทธิเป็นของตัวเองอย่างถูกต้องมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นสิทธิลักษณะของ สปก. หรือโฉนดก็ตาม ส่วนการที่สังคมมองว่าหากออกเอกสารสิทธิไปแล้วจะมีการซื้อขายเปลี่ยนมือหรือเปลี่ยนมือไปก่อนหน้านี้แล้วนั้น ส่วนตัวยืนยันว่า ที่ดินเพียงแค่นี้ขอมีไว้ทำกิน ไว้ให้ลูกหลานต่อไม่พอกันแล้ว หากขายไปหมด จะเหลืออะไรเอาไว้ทำกินได้อีก นายพรภิรมย์ฯ กล่าว
ทั้งนี้ พื้นที่บ้านทรัพย์เจริญหมู่ที่ 4 ต.บ้านราษฎร์ อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา เคยเป็นชุมชนบ้านราษฎร์ ท้องที่ ต.โนนสมบูรณ์ อ.เสิงสาง จ.นคราชสีมา ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2509 ก่อนที่จะมีตำบลบ้านราษฎร์ ซึ่งแยกตัวออกมาจากตำบลโนนสมบูรณ์
ต่อมาทางรัฐบาล ได้ทำการจัดสรรพื้นที่ตามโครงการจัดสรรที่ดิน เพื่อความมั่นคง หรือ พมพ. ในยุคคอมมิวนิสต์ และกลายมาเป็นหมู่บ้านทรัพย์เจริญ หมู่ที่ 4 ต.บ้านราษฎร์ เมื่อปี 2525 จนถึงปัจจุบัน ล่าสุดมีพื้นที่ผู้ถือครองที่ดินทำกินในพื้นที่ทั้งในและนอกหมู่บ้านรวม 588 ราย 884 แปลง เนื้อที่ประมาณ 7,250 ไร่