‘สุริยะ’ รอกรมวิชาการเกษตร ยกร่างประกาศกระทรวงแบน 3 สาร – ชี้ต้องรับฟังผลประชาพิจารณ์ด้วยว่าเกษตรกรได้รับผลกระทบอย่างไร ชี้ยังมีขั้นตอนอีกเยอะก่อนออกประกาศจริง ปฏิเสธไม่มีญาติทำธุรกิจรับทำลายสาร

‘สุริยะ’รอกรมวิชาการเกษตร – นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย ว่า ขณะนี้ได้ให้อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมสอบถามไปยังกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรณีที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดก่อน มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตร ไปจัดทำประชาพิจารณ์ และยกร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อยกระดับสารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด ได้แก่ คลอร์ไพริฟอส พาราควอต และไกลโฟเซต จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ 4 ซึ่งจะมีผลให้ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก และมีไว้ครอบครอง คาดว่าใน 1-2 วันนี้ กรมวิชาการเกษตรจะส่งเรื่องกลับมา และตนเองจะได้กำหนดวันและเรียกประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่ ที่มีผลตามกฏหมายฉบับใหม่ตั้งแต่วันที่ 27 ต.ค. 2562 เป็นต้นมา

ในการประชุมจะต้องนำผลจากที่กรมวิชาการเกษตรไปทำประชาพิจารณ์มาพิจารณาด้วย เพื่อได้ทราบว่ามีคนแสดงความเห็นอย่างไร เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย ต้องดูว่าเกษตรกรได้รับผลกระทบอย่างไร รวมทั้งกรมวิชาการเกษตรต้องรายงานมาด้วยว่า เมื่อยกระดับ 3 สารเป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ 4 และจะมีสารชนิดใหม่อะไรมาใช้ทดแทน ราคาแตกต่างกันอย่างไร เกษตรกรจะเดือดร้อนหรือไม่ มีผลกระทบอย่างไร และสารตัวใหม่เป็นสารพิษหรือไม่

ทั้งนี้ หากเกษตรกรมีความเดือดร้อนก็ต้องหามาตรการช่วยเหลือ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรกรต้องเสนอมาทั้งระบบ ส่วนที่กรมวิชาการเกษตร จะยกร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมมานั้น ตามขั้นตอนหากที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่ผมเป็นประธานเห็นชอบ ก็จะต้องเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งเมื่อเห็นชอบแล้ว จะมีผลก็เมื่อมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อยกระดับ 3 สารเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามครอบครองจะต้องมีการทำลาย โดยบริษัทที่ทำลายสารเคมีอันตราย ที่ได้มาตรฐานซึ่งในประเทศไทยมีเพียง 1 บริษัท ซึ่งเป็นญาติของนายสุริยะ จึงทำให้เรื่องนี้ต้องมีการแบนวันที่ 1 ธ.ค.นี้ นายสุริยะ กล่าวว่า ญาติตนเองไม่มีใครทำธุรกิจพวกนี้แน่นอน และตนเองก็มีความเห็นว่า ถ้ารัฐบาลให้ยกเลิกการใช้และห้ามครอบครอง ทำไมจะต้องไปทำลายสารด้วย ในเมื่อบอกว่ายังมี 3 สารนี้ในตลาดอยู่ 30,000-40,000 ตัน ค่าทำลายตันละ 100,000 บาท รวมแล้วถ้าทำลายต้องใช้เงินร่วม 3,000 ล้านบาท ก็ไม่เห็นต้องทำลายและแก้ไขโดยสารส่งกลับไปยังประเทศที่นำเข้ามาก็ได้แล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน