เลขาฯศาลยุติธรรม เผย มีแจ้งความกลุ่มแกนนำบ้านป่าแหว่ง เผยแพร่ละเอียด ภาพชื่อผู้พิพากษา ยันต้องปกป้องสิทธิผู้พิพากษาถูกละเมิด

ผู้พิพากษา แจ้งความ – 1ธ.ค. ที่ห้องประชุมชั้น 12 สำนักงานศาลยุติธรรม ถ.รัชดาภิเษก นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้เป็นประธานปิดการอบรมหลักสูตร “พัฒนาสื่อมวลชนเพื่อการประชาสัมพันธ์ศาลยุติธรรมความรู้ทางกฎหมาย”

โดย นายสารวุธ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมได้ตอบคำถามสื่อถึงความคืบหน้ากรณีการสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 แห่งใหม่ พร้อมอาคารที่พักอาศัยของผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 กับข้าราชการประจำศาล ทดแทนอาคารเดิมที่จะย้ายจากพื้นที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ ป่าเชิงดอยสุเทพ ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ที่ก่อนหน้านี้มีปัญหาพื้นที่การก่อสร้างกระทั่งมีการเรียกว่าบ้านป่าแหว่ง ว่า หลังจากคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.)

ได้มีมติเห็นชอบให้ย้ายอาคารที่ทำการ และอาคารที่พักอาศัยของผู้พิพากษา-ข้าราชการศาล โดยขอใช้ที่ดินของศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย จ.เชียงราย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งสำนักงานศาลยุติธรรมได้ทำหนังสือแจ้งไปยังรัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ แล้ว ขณะนี้รอเพียงการแจ้งอนุญาตให้ใช้พื้นที่ของกระทรวงเกษตรฯ และการจัดสรรงบประมาณมาเพื่อให้สร้างอาคารที่ทำการและที่พักอาศัยใหม่ในพื้นที่ จ.เชียงราย

เมื่อถามข้อเท็จจริงกรณีที่มีการแจ้งความกลับกับแกนนำผู้คัดค้านที่ต้องการให้รื้อถอนอาคารที่พักอาศัยของผู้พิพากษาใน จ.เชียงใหม่ เชิงดอยสุเทพ หรือที่เรียกกันว่าบ้าน “ป่าแหว่ง” ได้นำภาพและรายชื่อของผู้พิพากษาในพื้นที่ดังกล่าวติดป้ายประกาศเผยแพร่เป็นจริงอย่างไรนั้น

นายสราวุธ ตอบว่า กรณีที่มีการนำชื่อผู้พิพากษาไปติด ในที่สาธารณะในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ตนมองว่าการกระทำดังกล่าวผิดต่อกฎหมาย ไม่สามารถทำได้เพราะผู้พิพากษาที่เข้าไปอยู่ในพื้นที่เหล่านั้น เป็นการเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ขณะที่บ้านพักนั้น ถือเป็นบ้านพักของราชการไม่ใช่บ้านพักส่วนตัวของผู้พิพากษา การที่เขาเข้าไปอยู่ในเขตข้านพักนั้น สร้างโดยถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ

ดังนั้นหากบุคคลใดไปคุกคาม ละเมิดสิทธิของผู้พิพากษา สำนักงานศาลยุติธรรมมีหน้าที่ต้องคุ้มครองดูแลความปลอดภัยของผู้พิพากษาเหล่านี้ โดยในวันนี้หากเรามีเจ้าพนักงานตำรวจศาล หรือคอร์ทมาแชลซึ่งเวลากำลังเสนอร่างกฎหมายจัดตั้งนั้น ก็จะเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้พิพากษาที่เราต้องดูแล ซึ่งขณะนี้มีผู้พิพากษาศาลยุติธรรมทั่วประเทศ 4,471 คน กับบุคคลากรในศาลยุติธรรมทั่วประเทศ 12,974 คน โดยผู้พิพากษาเหล่านี้ต้องดูแลเพราะมีหน้าที่พิพากษาชี้ขาดคดี

สำนักงานศาลยุติธรรมจึงมีหน้าที่ต้องดูแลความปลอดภัยของเขา ถ้าผู้พิพากษาอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวกดดัน ประชาชนและสังคมก็จะได้รับผลกระทบโดยตรง หรือถ้าตัดสินคดีด้วยความกลัว ความอิสระก็จะไม่มี ความเป็นกลางก็จะไม่มีท้ายที่สุดผลกระทบก็จะตกอยู่ที่ประชาชน

ที่ผ่านมาสำนักงานศาลยุติธรรม เราได้ทำตามกฎหมายทุกกรณี และเมื่อมีการคุกคามลักษณะเช่นนี้ เราก็จะดูแลดำเนินการอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าใครจะเป็นผู้กระทำ ก็ให้เป็นหน้าที่ของสำนักงานศาลยุติธรมที่จะดูแล

เมื่อถามย้ำว่า ได้รับรายงานว่าผู้พิพากษาได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแล้ว นายสราวุธ เลขาธิการสำนักงานยุติธรรม ตอบว่า ตนได้รับรายงานแล้ว และกำลังติดตามความคืบหน้ามาโดยตลอด ซึ่งการแจ้งความนั้น สำนักงานศาลยุติธรรมและตัวผู้พิพากษาท่านนั้นๆ เอง ได้แจ้งความไว้แล้ว

อย่างไรก็ดี นายสราวุธ กล่าวย้ำว่า ผู้พิพากษาเหล่านี้อยู่กัน เขาก็ได้เข้าปฏิบัติหน้าที่ก่อนที่จะมีการร้องเรียนด้วยซ้ำ ซึ่งสำนักงานศาลยุติธรรม ยืนยันว่าพวกเขาอยู่กันโดยถูกต้องทุกอย่าง ถ้าจะให้ย้ายออกจะให้เขาอยู่ที่ไหน ต้องจัดหาที่พักให้ ขอย้ำว่าไม่ใช่การไปเที่ยวแต่ไปทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ดังนั้นก็เป็นหน้าที่หน่วยงานของรัฐที่จะดูแล ทั้งเรื่องที่พักอาศัยและความปลอดภัยของเขาด้วย

เมื่อถามว่า ในการแจ้งความดำเนินคดี มีจำนวนทั้งสิ้นกี่ราย นายสราวุธ ตอบว่า ถ้าตำรวจสืบทราบกี่ราย ก็จะดำเนินการตามกฎหมายทุกราย หากเจอ 10 คน ก็ต้องดำเนินการทั้งหมด ทุกคนที่เกี่ยวข้อง เราดำเนินการตามกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อหาที่มีการแจ้งดำเนินคดีนั้น คือ ข้อหาหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา และกระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวตอร์ฯ ซึ่งการแจ้งความนั้นจะเกี่ยวกับแกนนำกลุ่มเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่ประชาชนที่ร่วมแสดงความเห็น ทั้งนี้ มีรายงานแจ้งว่า มีการแจ้งความดำเนินคดีไว้ทั้งในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และ สน.พหลโยธิน กรุงเทพฯ ขณะนี้ มีการออกหมายเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาเพื่อให้การแล้ว




 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน