“6 พรรค ฝ่ายค้าน” ร่วมออกแถลงการณ์ ย้ำ ม็อบใหญ่ 19 ก.ย. นี้ เป็นสิทธิ ขอผู้ใหญ่ในบ้านเมืองใจกว้าง เปิดพื้นที่ปลอดภัยหาทางออกร่วมกัน

เมื่อ‪เวลา 11.40 น. วันที่ 17 ก.ย. ที่รัฐสภา แกนนำ 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน คำแถลงพรรคร่วมฝ่ายค้าน ร่วมแถลงเรียกร้องเรื่อง สิทธิเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน และการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อหาทางออกให้กับประเทศ‬

โดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้ฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์ว่า ด้วยสถานการณ์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เข้าสู่ภาวะวิกฤตจากการบริหารราชการแผ่นดินที่ผิดพลาดและไร้ซึ่งประสิทธิภาพ ไร้ขื่อแปในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน สร้างสังคมที่มีแต่ความขัดแย้ง และสร้างรัฐธรรมนูญที่ก่อให้เกิดสารพัดปัญหา

จนนำไปสู่ทางตันของประเทศในปัจจุบัน จนเกิดกระแสเรียกร้องของนักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชนทุกเพศทุกวัยในวงกว้าง และจะมีการชุมนุมใหญ่‪ในวันเสาร์ที่‬ ‪19 ก.ย.นี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านขอแถลงให้พี่น้องประชาชนทราบ ดังนี้

1.พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่า การแสดงออกและการเรียกร้องของนักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชนภายใต้กรอบกฎหมาย เป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามระบอบประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่ถูกต้องและสามารถกระทำได้ รัฐบาลต้องคุ้มครองและอำนวยความสะดวกให้การแสดงออกดังกล่าวเป็นไปได้อย่างเสรี

รัฐบาลต้องเปิดพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยในการแสดงออกของประชาชน โดยปราศจากการคุกคาม แทรกแซง ให้ร้าย และด้อยค่าการแสดงออกดังกล่าว รัฐบาลต้องไม่ทำลายความคิดเสรีของนักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชน ด้วยการใช้เครื่องมือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้กฎหมายที่บิดเบือนข้อเท็จจริง การนิ่งเฉยปล่อยให้มีการใช้ความรุนแรง

การใช้อาวุธสลายการชุมนุม และกักขังหน่วงเหนี่ยว เป็นต้น ทั้งนี้ข้อเรียกร้องต่างๆ ของนักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชนควรจะต้องมีการนำไปสู่การพิจารณาด้วยความพินิจพิเคราะห์ถึงข้อดี ข้อเสีย ความเหมาะสมอย่างละเอียดถี่ถ้วนและเป็นธรรม ทั้งนี้เพื่อเป็นการร่วมกันหาทางออกที่เหมาะสมให้กับสังคมไทย

2.หนึ่งในข้อเรียกร้องที่สำคัญของนักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชนในวงกว้าง คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นผลจากการสืบทอดอำนาจและความต้องการรักษาอำนาจของ คสช. เป็นเหมือนมะเร็งร้ายที่กัดกร่อนทำลายประเทศชาติ และนำพาประเทศมาสู่ทางตัน ไร้หนทางออก

พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ร่วมกันผลักดันร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ที่เสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาใน‪วันที่‬ ‪23-24 ก.ย.‬63 ซึ่งสนับสนุนให้มี ส.ส.ร.เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

โดยที่ ส.ส.ร.ทั้งหมดต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของพี่น้องประชาชน เพื่อนำไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เพื่อปลดล็อกประเทศจากทางตันในปัจจุบัน พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่าหาก ส.ส.ร. มิได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง จะเป็นช่องทางให้คนเฉพาะบางกลุ่มหรือฝ่ายผู้มีอำนาจสามารถเข้ามาแทรกแซงและบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชนได้

3.พรรคร่วมฝ่ายค้านขอเรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภาร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 272 ต้องถูกยกเลิก

พวกเราเรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภาเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ ร่วมมือกับทุกภาคส่วนในสังคมหาทางออกให้ประเทศ เพื่อทำให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยให้มากที่สุด และสามารถสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนได้ตรงตามความเป็นจริงที่สุด เพื่อยุติความขัดแย้งที่นับวันจะขยายตัวไม่มีที่สิ้นสุด

 

เมื่อถามว่าการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษา‪ในวันที่‬ ‪19 ก.ย.นี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านจะไปร่วมด้วยหรือไม่ นายสมพงษ์ กล่าวว่า จะมีส่วนที่เป็นกรรมาธิการ (กมธ.) ปกครองฯ ไปสังเกตการณ์ ส่วนกรณีที่ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ให้ใช้สถานที่ชุมนุมนั้น ตนมองว่า การแสดงออกของนิสิต นักศึกษา และประชาชนสามารถกระทำได้

ขณะที่มหาวิทยาลัยมีส่วนกับประชาชนโดยตรง ดังนั้นนักศึกษา หรือใครที่จะเข้าไปทำกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยเป็นสิทธิ และเสรีภาพโดยตรงอยู่แล้ว ไม่ควรที่จะปิดกั้น แต่ตนไม่ทราบว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยนั้นมีแนวคิด หรือได้รับข้อมูลอย่างใดมาจึงทำให้เกิดปัญหา อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่า ควรมีการอ่อนโอน‬

เมื่อถามถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา นายสมพงษ์ กล่าวว่า เราเห็นด้วย เพราะถือว่าเป็นสิทธิที่จะดำเนินการในแนวทางประชาธิปไตย ซึ่งการดำเนินการนี้ต้องยอมรับว่า เขาดำเนินการโดยปราศจากอาวุธ ไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาใดๆทั้งสิ้น

ตนห่วงว่า ฝ่ายผู้มีอำนาจจะทำให้เกิดเป็นปัญหา ส่วนนิสิต นักศึกษา และประชาชน ตนเชื่อว่าไม่มี เขาไปโดยปราศจากอาวุธ และต้องการดำเนินการให้เป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริง เมื่อถามว่ากลุ่มนักศึกษาได้มีการพูดถึงการปฏิรูปสถาบันด้วย นายสมพงษ์ กล่าวว่า นั่นคือสิ่งที่เขาคิดว่าเขาทำได้

ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวว่า อธิการบดีทั้ง 16 มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ เคยเข้ามาชี้แจงต่อกมธ. ซึ่งทางกมธ.หลายท่านได้ถามว่า ในฐานะที่ทางมหาวิทยาลัยรับเงินงบประมาณจากภาษีของประชาชน พื้นที่ของมหาวิทยาลัย

หากประชาชน หรือนักศึกษามีปัญหาเกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพ อธิการบดีตอบว่ายินดีจะให้พื้นที่ แต่พอตอนนี้มีข่าวออกมาก็ยังสงสัย โดยเฉพาะอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ตอบไว้ชัดเจน ทั้งนี้ เราไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจไปสกัดกั้น หรือคุกคาม ซึ่งเราก็พร้อมจะดูแลทุกฝ่าย

เมื่อถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ให้สัมภาษณ์ว่า คนหน้าเดิมคือคนชักใยม็อบ นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า “อยากรู้เหมือนกันว่าคนหน้าเดิมที่ว่านั้นคือใคร” ทั้งนี้ หลักสำคัญของพรรคร่วมฝ่ายค้านคือ เราเห็นว่า การแสดงออกเป็นเสรีภาพของประชาชน เราสนับสนุนในหลักการพื้นฐานนี้ตามระบอบประชาธิปไตย

ซึ่งรัฐธรรมนูญก็ได้รองรับ แต่ที่เราห่วงคือสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เราอยากเห็นทุกฝ่ายช่วยกันหาพื้นปลอดภัยให้นักศึกษา และประชาชน ภายใต้กรอบของกฎหมาย ตนอยากให้ผู้ใหญ่ทุกคนที่เกี่ยวข้องใจกว้าง เราเชื่อว่าเรื่องหลักที่เด็กๆพูด

คือเขาอยากสร้างอนาคตของเขา ให้เขามีส่วนร่วม เพราะเขาต้องเดินไปในอนาคตวันข้างหน้า เราในฐานะผู้ใหญ่ ควรเปิดโอกาสที่จะแสวงหาทางออกร่วมกันกับเขา หวังว่าเราจะช่วยกัน เพราะเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่จะร่วมกันหาทางออกที่ดี

ด้านนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า สงสัยจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์เองหรือไม่ เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมา คนที่กรอกเพลงใส่หูเด็ก คนที่ปลูกฝังค่านิยม 12 ประการ ก็คือท่านเอง ท่านจะด้อยค่าเด็กแบบนี้ต่อไปไม่ได้อีกแล้ว เพราะเขามีความคิด ความอ่านเป็นของเขาเอง

สรุปคือ พล.อ.ประยุทธ์ และผู้ใหญ่ในบ้านเมืองต้องเลือกว่าจะพาบ้านเมืองไปหาทางออกหรือทางตันให้กับประเทศ ถ้าจะหาทางออกให้ประเทศท่านต้องเปิดพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่การศึกษา เหมือนเช่นระดับสากลที่เขาทำกันเมื่อมีการชุมนุมให้มีการพูดคุยกันอย่างเสรี

หรือถ้าจะพาไปหาทางตันกดดันเด็กให้ไร้ทางออกแล้วผลักไปอยู่ที่โซเชียลอย่างเดียว แล้วก็ให้เขาพูดในส่วนของเขาผู้ใหญ่อย่างเราไม่มีสิทธิได้ฟัง ฉะนั้นถ้าเราจะพาเขาไปหาทางออกเราต้องหยุดคุกคามเขา และรับฟังพวกเขาจริงๆ ไม่ทัดทานอนาคต

แต่ถ้าจะพาไปถึงทางตันก็เท่ากับว่าพยายามที่จะกีดกั้นความคิดสร้างสรรค์ที่มันจะเป็นอนาคตของประเทศ ดังนั้นใน 2-3 วันนี้ยังพอมีเวลาที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองทั้งนายกฯ อธิการบดี ส.ว. ยังมีโอกาสที่จะเลือกว่าจะพาประเทศไทยไปหาทางออกหรือทางตัน แต่ถ้ามันไปถึงทางตันแล้วเราไม่มีทางที่จะรู้ได้เลยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร ฉะนั้นเราต้องหาออกร่วมกันไม่เช่นนั้นถ้าบ้านเมืองถึงทางตันและจะลุกเป็นไฟได้

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่า หลังจากที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตัดสินใจที่จะปิดมหาวิทยาลัย เพื่อไม่ให้นิสิตนักศึกษาไปแสดงออกเพี่อการสนับสนุนประชาธิปไตยนั้น จึงทำให้เรื่องนี้เป็นตราบาปของสถาบันการศึกษาของชาติที่มีการส่งเสริมประชาธิปไตยตั้งแต่แรก เพราะฉะนั้นผู้บริหารจึงต้องทบทวนให้ดี

ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ใช่ของผู้บริหาร หรือรัฐบาล แต่เป็นของประชาชน เมื่อจะมีกิจกรรมในทางที่เกิดประโยชน์กับชาติบ้านเมือง ซึ่งมหาวิทยาลัยได้รับภาษีจากประชาชนควรที่จะส่งเสริม ไม่ใช่ขัดขวาง ตนมีความเสียดายเพราะเรื่องนี้ประวัติศาสตร์ต้องจารึก มหาวิทยาลัยควรได้โบว์ดำจากประชาชนทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตามมหาวิทาลัยธรรมศาสตร์ยังมีเวลาที่จะทบทวน เพราะไม่มีใครปฏิเสธได้ว่ากิจกรรมการเรียกร้องประชาธิปไตย การแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นฉบับสืบทอดอำนาจ และการให้ผู้บริหารประเทศที่ประสบความล้มเหลวออกไป เป็นเรื่องของประเทศชาติ

การที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะมาปกป้องรัฐบาลโดยไม่คำนึงถึงประชาชน โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษา ซึ่งเป็นผู้ที่มีความบริสุทธิ์ในการที่จะแก้ไขปัญหาของประเทศในครั้งนี้ ตนคิดว่าหลายคนคงมีความเสียใจกับการตัดสินใจของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในครั้งนี้ จึงอยากให้มีการแก้ไข

ทั้งนี้ ไม่มีที่ใดที่จะเกิดความสง่างาม และปลอดภัยที่สุดสำหรับนักศึกษาที่จะไปแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นของประเทศ จะให้พวกเขาไปอยู่ที่ไหนถ้าไม่อยู่ในสถาบันการศึกษา ที่สนามหลวงก็ถูกห้าม บนถนนก็บอกว่าผิดกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตามนักศึกษาได้ตัดสินใจแล้วว่ากิจกรรม‪ในวันที่‬ ‪19 ก.ย. ต้องเกิดขึ้น ยิ่งได้รับการขัดขวางจากมหาวิทยาลัย และรัฐบาล ก็เกรงว่าจะเกิดความรุนแรง‬

ขณะที่ นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า เราอย่าลืมว่าภาวะที่มีบางฝั่งบางฝ่ายเอาประเด็นเรื่องสถาบันเข้ามาเกี่ยวข้องนี้ดำเนินมา 10 กว่าปีแล้ว อย่างน้อยก็ตั้งแต่ปี 48 เรื่อยมา ผ่านรัฐประหาร 2 ครั้ง นักเรียนนักศึกษาได้พูดถึงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริง เพราะเขาเติบโตมาในภายใต้สถานการณ์แบบนี้

ที่มีการยกเรื่องสถาบันฯเข้ามาโจมตีกัน กระทั่งเป็นเงื่อนไขในการต่อต้านและล้มล้างรัฐบาลบางชุด การรัฐประหาร 2 ครั้งก็เป็นการกระทำที่กล่าวอ้างว่าเข้ามาเพื่อปกป้องสถาบันฯ หลังการรัฐประหารก็ยังมีการเอาประเด็นสถาบันเข้ามาโจมตีกล่าวหาฝ่ายที่ต่อสู้เรียกร้องเพื่อประชาธิปไตย

ไม่ว่าจะเป็นประชาชนกลุ่มต่างๆหรือพรรคการเมือง ดังนั้น ตนอยากจะย้ำว่าปัญหาการดึงสถาบันเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองนั้นมีมานาน และมีหลายฝ่ายเคยกล่าววิพากษ์วิจารณ์ตักเตือนด้วยความหวังดีตลอดมา ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ นักกิจกรรมทางการเมือง พรรคการเมือง นักสิทธิมนุษยชน

“การดึงสถาบันฯเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองแบบนี้ ระวังสุดท้ายจะไปกระทบกระเทือนกับสถาบันฯในที่สุด วันนี้ปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นทำให้เห็นแล้วว่าคำเตือนเหล่านั้นกำลังจะเป็นจริง ดังนั้น ความรับผิดชอบในวันนี้ถึงที่สุด

ตนเห็นว่าฝ่ายต่างๆที่เคยหยิบยกเอาประเด็นสถาบันฯเข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง ทั้งผู้นำรัฐประหาร ผู้นำกองทัพ เป็นคนที่ต้องรับผิดชอบว่าสังคมไทยจะหาทางออกอย่างไรกับปมเงื่อนที่พวกเขาได้ผูกไว้และโตมากขึ้น ไม่ควรโยนให้นักเรียน นักศึกษาที่เป็นภาพสะท้อนของกลุ่มหนึ่งซึ่งได้สร้างขึ้น

แล้วแทนที่จะสำนึกและหาทางคลี่คลาย กลับผูกปมเงื่อนให้ใหญ่ขึ้น เรายังเห็นกระบวนการพยายามกล่าวหาป้ายสีโจมตีกลุ่มต่างๆว่าต้องการล้มล้างสถาบันมากขึ้นไปอีก เพื่อแก้ปัญหาให้รัฐบาล เพื่อหวังว่าจะลดแรงกดดันให้รับบาล นี่เป็นสัญญาณที่ไม่ดีเลย แทนที่จะผูกปมก็ควรต้องหาทางคลี่คลาย และคนที่มีส่วนผูกปมเงื่อนนี้ต้องรับผิดชอบ” นายชัยธวัช กล่าว


 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน