ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ ผู้ให้บริการเว็บไซต์มาร์เก็ตเพลส ด้านอสังหาริมทรัพย์ของไทย เผยสถาบันการเงินหลายแห่งที่เปิดโอกาสให้คู่รัก LGBTQ+ สามารถยื่นเรื่องกู้สินเชื่อร่วมกันได้ภายใต้เงื่อนไขในการพิจารณาของแต่ละสถาบันการเงิน
วันที่ 29 มิ.ย.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ ในฐานะผู้ให้บริการเว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์ของไทย เปิดเผยแม้ในปัจจุบันร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. … และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. … จะยังไม่รับรองสถานะของคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศ แอลจีบีที+ ให้สามารถทำธุรกรรมกู้เงินร่วมกันตามกฎหมายเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยได้ แต่อย่างไรก็ดีในขณะนี้มีสถาบันการเงินหลายแห่งที่เปิดโอกาสให้คู่รัก LGBTQ+ สามารถยื่นเรื่องกู้สินเชื่อร่วมกันได้ภายใต้เงื่อนไขในการพิจารณาของแต่ละสถาบันการเงิน
แต่ทั้งนี้ธนาคารผู้ให้กู้ จะมีการประเมินความเสี่ยงของการกู้ร่วมของกลุ่ม LGBTQ สูงกว่าของคู่สมรสชายหญิง และก็สูงกว่าการกู้ร่วมของชายหญิงที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ธนาคารอาจพิจารณาให้วงเงินกู้ที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับการกู้ร่วมของคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรส ทำให้ชาว อาจไม่ได้รับวงเงินสินเชื่อตามที่ตั้งเป้าไว้ หรือต้องปรับลดสเปกที่อยู่อาศัยที่ต้องการลงมา
อย่างไรก็ดีจากผลการสำรวจความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยของคู่รัก LGBTQ พบว่าสอดคล้องกับผู้บริโภคชาวไทยส่วนใหญ่ ซึ่งให้ความสำคัญเมื่อต้องเลือกซื้อหรือเช่าที่อยู่อาศัย ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การพิจารณาขนาดที่อยู่อาศัยมาก่อนถึง 48% ตามมาด้วยความครบครันของสิ่งอำนวยความสะดวก (44%) และความคุ้มค่าของราคาเฉลี่ยต่อพื้นที่ใช้สอย (38%) ในขณะที่ปัจจัยภายนอกโครงการที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อ/เช่าที่อยู่อาศัยนั้น ผู้บริโภคเกินครึ่ง (54%) ให้ความสำคัญเรื่องทำเลที่ตั้งมากที่สุด ตามมาด้วยความสะดวกสบายจากการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ (50%) และความปลอดภัยในโครงการ (45%)
แต่อย่างไรก็ดีเป็นข้อจำกัดสำคัญของคู่รักชาว LGBTQ+ ที่ต้องการใช้สิทธิกู้ร่วมไม่น้อย โดยทั่วไปแล้วการขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของชาว LGBTQ+ หากเป็นการกู้เพียงลำพังก็สามารถดำเนินการยื่นขอสินเชื่อได้ทันทีไม่ต่างจากเพศชายและเพศหญิง แต่ไม่สามารถขอสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยในฐานะผู้กู้ร่วมได้เฉกเช่นคู่รักทั่วไปได้
เนื่องจากไม่เข้าเงื่อนไขของธนาคารที่ระบุว่าผู้กู้ร่วมนั้นจะต้องเป็นบุคคลที่มีความใกล้ชิดกัน เป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์ร่วมเชื้อสายเดียวกัน เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง หรือเป็นชายหญิงที่เป็นคู่สมรสกัน ซึ่งจะจดทะเบียนหรือไม่จดทะเบียนก็ได้ ในขณะที่ปัจจุบันกฎหมายไทยยังไม่รองรับการจดทะเบียนสมรสของคู่รัก LGBTQ+ จึงทำให้ความสัมพันธ์ดังกล่าวไม่มีผลทางนิตินัยไปโดยปริยาย โดยชาว LGBTQ+ สามารถศึกษาข้อมูล ธนาคารที่ให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยระหว่างผู้กู้ร่วมที่มีความหลากหลายทางเพศ ได้ที่ทางเว็บไซต์ https://www.ddproperty.com เพื่อเป็นข้อมูลเตรียมความพร้อมก่อนมีบ้านได้อย่างมั่นใจ