ศิลปะสัมผัสได้ สร้างสุขผู้พิการ

คอลัมน์ สดจากเยาวชน

ศิลปะสัมผัสได้ สร้างสุขผู้พิการ – โครงการ UOB Please Touch หรือ “โครงการ กรุณาสัมผัส” ที่ ธนาคารยูโอบี (ไทย) ร่วมกับ บริษัท กล่องดินสอ จัดขึ้นในปี 2559 และดำเนินโครงการต่อเนื่องทุกปีจนถึงปัจจุบัน นับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ช่วยส่งเสริมทักษะความรู้ด้านศิลปะให้ผู้พิการทางสายตา เพื่อสร้างโอกาสสู่การเป็นศิลปินอาชีพ

ครั้งนี้เป็นอีกครั้งที่จัดกิจกรรมเวิร์กช็อป “ศิลปะสัมผัสได้” ที่นอกจากเพิ่มความรู้และทักษะให้ผู้พิการทางสายตาอายุระหว่าง 10-60 ปี ที่สนใจด้านศิลปะแล้ว ความพิเศษที่เพิ่มขึ้นคือทุกชิ้นงานจากทุกการสร้าง สรรค์ของกลุ่มผู้พิการทางสายตาจะนำไปส่งต่อผู้อื่นให้เกิดประโยชน์ นับเป็นสิ่งที่สร้างคุณค่าทางจิตใจให้กลุ่มคนรักงานศิลป์ที่อยู่ในโลกมืดนี้ได้อย่างมาก

ศิลปะสัมผัสได้ สร้างสุขผู้พิการ : สดจากเยาวชน

ศิลปะสัมผัสได้ สร้างสุขผู้พิการ : สดจากเยาวชน

สัญชัย อภิศักดิ์ศิริกุล กรรมการ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่การเงินและสนับสนุนธุรกิจ ธนาคารยูโอบี (ไทย) กล่าวว่า เวิร์กช็อป “ศิลปะสัมผัสได้” เติมเต็มจินตนาการผ่านงานฝีมือให้ผู้พิการทางสายตา ซึ่งจะได้เรียนรู้เทคนิคและวิธีการสร้างสรรค์งานศิลปะจนพัฒนาเป็นงานฝีมือ โดยมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะเพื่อผู้พิการทางสายตา พร้อมด้วยอาสาสมัครพนักงานธนาคารยูโอบีทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง เช่น ช่วยจับกรรไกร ไกด์ในการมัดเชือก มัดเส้นด้าย หรือช่วยจับอุปกรณ์ต่างๆ ตลอดจนช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้พิการทางสายตาในการสร้างงานศิลปะ

ศิลปะสัมผัสได้ สร้างสุขผู้พิการ : สดจากเยาวชน

กิจกรรมเวิร์กช็อปในปีนี้จัดขึ้น 5 ครั้ง ผ่านศิลปะแขนงต่างๆ ประกอบด้วย ครั้งที่ 1 ศิลปะการทอผ้าด้วยกี่มือ เพื่อทำผ้ากันเปื้อน โดยผลงานจะนำไปมอบให้โครงการเข้าครัวด้วยกันเพื่อใช้สอนผู้พิการทางสายตาทำอาหาร ครั้งที่ 2 ศิลปะการม้วนกระดาษ ทำกิ๊บติดผม และกล่องของขวัญ มอบให้สถานรับเลี้ยงเด็กบ้านบุญญาทร ครั้งที่ 3 ศิลปะการถักเชือกเมคราเม่ ทำปลอกคอสุนัขเพื่อส่งมอบให้มูลนิธิบ้านสงเคราะห์สัตว์พิการ ปากเกร็ด ครั้งที่ 4 ศิลปะการปักผ้าแบบญี่ปุ่น เพื่อทำผ้าโพกหัวนำไปส่งมอบให้ผู้ป่วยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ และครั้งที่ 5 ศิลปะจากปลายเชือก ทำการ์ดคำศัพท์เพื่อนักเรียนในมูลนิธิคนตาบอดแห่งประเทศไทย

ศิลปะสัมผัสได้ สร้างสุขผู้พิการ : สดจากเยาวชน

รศ.ทักษิณา พิพิธกุล อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะเพื่อผู้พิการทางสายตา ผู้ออกแบบหลักสูตร วิทยากรหลักในการให้ความรู้ด้านทฤษฎีทางศิลปะที่สำคัญ มองว่า ผู้พิการทางสายตามีศักยภาพเหมือนคนทั่วไป อยู่ที่ว่าเขาเข้าถึงองค์ความรู้ได้แค่ไหน เพราะหากมีโอกาสก็สามารถพัฒนาตัวเองไปได้ไกล เราควรให้ความรู้ไปถึงเขา เหมือนกับเราถ้าอ่านภาษาไทยออกก็จะมีความรู้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าเข้าใจภาษาอังกฤษเพิ่มด้วยก็จะมีความรู้มากกว่าคนที่อ่านออกเฉพาะภาษาไทย คนพิการก็เช่นกัน โครงการนี้เน้นให้ความรู้ด้านศิลปะทั้งการทำเวิร์กช็อป ดูงานศิลปะแก่ผู้พิการทางสายตาเพื่อให้เขาเข้าถึงผลงานศิลปะ เพราะถ้าผู้พิการทางสายตาเข้าถึงความรู้ตรงนี้จะถูกนำไปประยุกต์ใช้กับคนกลุ่มอื่นๆ ที่มีข้อจำกัดเหมือนกัน

ศิลปะสัมผัสได้ สร้างสุขผู้พิการ : สดจากเยาวชน

รศ.ทักษิณา พิพิธกุล

เจิดศิลป์ สุขุมินท หรือ ครูอาร์ท ครูศิลปะโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ผู้ที่คลุกคลีกับเยาวชนที่พิการทางสายตาแต่หลงใหลงานศิลปะ บอกเล่าว่าเด็กกลุ่มนี้เหมือนคนปกติที่มีความสามารถและความถนัดแตกต่างกัน เด็กพิการทางสายตาที่ชอบศิลปะมีวิธีดูไม่ยาก เขาจะเป็นคนกล้าแสดงออก สงสัย อยากริเริ่มทดลองสิ่งต่างๆ จากนั้นก็อยู่ที่ว่าเขาจะต่อยอดได้มากน้อยเพียงใด

“สิ่งที่ผู้พิการทางสายตาได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมนอกจากความเพลิดเพลินผ่อนคลายยังได้ฝึกสมาธิ เพราะการทำศิลปะเขาได้ใช้จินตนาการอย่างอิสระ ไม่มีอะไรไปบังคับ ทำให้เขาจดจ่ออยู่กับผลงานของตัวเอง และเมื่อได้ชิ้นงานก็ทำให้เขายิ่งรู้สึกภาคภูมิใจ ตัวเองสัมผัสได้ว่าเด็กที่มาร่วมกิจกรรมนี้เขาสนุกและมีความสุขเมื่อได้อยู่กับศิลปะ”

ศิลปะสัมผัสได้ สร้างสุขผู้พิการ : สดจากเยาวชน

ครูอาร์ทกล่าวเสริมว่า อยากให้หน่วยงานต่างๆ เห็นความสำคัญในการส่งเสริมเรื่องศิลปะ เพราะทักษะด้านนี้นอกจากทำให้ผู้ที่มาสัมผัสรู้สึกผ่อนคลาย ยังนำไปต่อยอดเติมเต็มได้หลายเรื่องในชีวิต

“ถ้าใครเข้าใจศิลปะ จะเข้าใจความเป็นมนุษย์ เข้าใจโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่โรงเรียนไม่สามารถให้ได้ ศิลปะไม่มีกรอบเหมือนมนุษย์ที่มีกรอบในชีวิต มนุษย์มากมายมักคิดว่าหากออกนอกกรอบต้องผิดเสมอ แต่เมื่อศิลปะไม่มีกรอบจึงทำให้ผู้ที่ได้สัมผัสรู้ทันทีว่าอะไรคือความดีอะไรคือกฎเกณฑ์ จะทำให้เขามองคน มองโลกกว้างขึ้นและเป็นมนุษย์ที่ยอดเยี่ยม”

ศิลปะสัมผัสได้ สร้างสุขผู้พิการ : สดจากเยาวชน

น้องเฟิร์น ด.ญ.สุพรรษา วรรณโกษฐ์ อายุ 14 ปี ผู้พิการทางสายตาที่เข้าร่วมเวิร์กช็อปเป็นครั้งแรก บอกเล่าความรู้สึกว่าสนุกมาก อยากมาทำงานศิลปะแบบนี้บ่อยๆ ปกติชอบทำงานศิลปะอยู่แล้ว เพราะรู้สึกว่าเมื่อได้จับดินสอวาดรูปหรือระบายสีจะมีความสุข ไม่เครียด บางครั้งนั่งทำงานนานกว่า 2-3 ชั่วโมง ขณะที่ร่วมกิจกรรมมีความสุขมาก จะนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน