อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล : PPE

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

โดย…น้าชาติ ประชาชื่น

อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล – ชุด PPE ที่จะปกป้องคุณหมอของเรา เป็นยังไง มีอะไรบ้าง

กุลธิดา

ตอบ กุลธิดา

คำตอบนำมาจากเว็บไซต์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ http://nih.dmsc.moph.go.th/ ว่า “อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล” (Personal Protective Equipment, PPE) หมายถึง เครื่องแต่งกายพิเศษและวัสดุอุปกรณ์ที่บุคคลใช้สวมใส่ปกปิดร่างกาย เพื่อป้องกันการสัมผัสกับเชื้อโรค ช่วยป้องกันและลดโอกาสติดเชื้อ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามการใช้งานคือ

1.ประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น ถุงมือยาง หน้ากากอนามัย หมวกคลุมผม

และ

2.ประเภทที่สามารถหมุนเวียนนำกลับมาใช้ได้อีก เช่น แว่นตานิรภัย รองเท้า

อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล

แยกเป็นดังนี้ ป้องกันใบหน้าและดวงตา ได้แก่ แว่นครอบตานิรภัย (Safety Goggles), แว่นตานิรภัย (Safety Glasses) และ กระบังป้องกันใบหน้า (Face Shield)

ป้องกันร่างกาย ได้แก่ หมวกคลุมผม, เสื้อคลุมปฏิบัติการ (Gown), เสื้อคลุมห้องปฏิบัติการ (Laboratory Coat) และ ชุดคลุมปฏิบัติการ (Protective Coverall)

ป้องกันมือ ได้แก่ ถุงมือยางธรรมชาติ (Latex Gloves), ถุงมือยางสังเคราะห์ (Nitrile Gloves) และ ถุงมือป้อง กันความเย็น/ความร้อน

ป้องกันเท้า ได้แก่ ถุงหุ้มรองเท้า และรอง เท้าปิดหุ้มด้านหน้าเท้า

และ ป้องกันระบบหายใจ ได้แก่ หน้ากากอนามัยแบบธรรมดา (Surgical Mask) เหมาะสำหรับการทำงานทั่วไปเพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าจมูกและปาก, หน้ากากกรองอนุภาคชนิดใช้แล้วทิ้ง (Particulate respirators : N95) ป้องกันการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ต้องทดสอบก่อนใช้งานจริง และเครื่องกรองอากาศที่จัดส่งอากาศให้ (Powered Air purifying respirators; PAPR) สำหรับผู้ที่ไม่สามารถใช้หน้ากากกรองอนุภาค N95 ได้ เหมาะสำหรับห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3

ทั้งนี้ รายงานข่าวเผยว่า ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (ฮู) ระบุ ขณะนี้กำลังขาดแคลน PPE หรือชุดอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล สาเหตุมาจากความต้องการที่สูงมากขึ้น มีการซื้อ PPE มากเพราะความตระหนก ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ต้องพึ่งพาชุดอุปกรณ์เหล่านี้เพื่อปกป้องตัวเองจากคนไข้จากการติดเชื้อไวรัส ไม่ว่าจะเป็นถุงมือ หน้ากากอนามัย หน้ากากป้องกันแก๊สพิษ หน้ากากกันลม แว่นตากันลม เสื้อคลุม ผ้ากันเปื้อน

ดังนั้น แพทย์ พยาบาลที่ทำงานอยู่หน้างานจะเผชิญหน้ากับภาวะที่อันตรายมากที่สุดฮู จึงเรียกร้องขอให้รัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เร่งผลิตอุปกรณ์เหล่านี้ ลดการส่งออก ส่งออกอย่างจำกัด และพยายามใช้เพื่อยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายมากกว่าเดิม

“เราไม่สามารถหยุดโรคโควิด-19 ได้ หากไม่ป้องกันบุคลากรทางการแพทย์เป็นอันดับแรก”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน